TNN online "ลองโควิด" กระทบร่างกาย 3 ระบบหลัก ทำให้เกิดอาการเหล่านี้?

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

"ลองโควิด" กระทบร่างกาย 3 ระบบหลัก ทำให้เกิดอาการเหล่านี้?

ลองโควิด กระทบร่างกาย 3 ระบบหลัก ทำให้เกิดอาการเหล่านี้?

"หมอประสิทธิ์" ระบุทั่วโลกยอมรับอาการลองโควิดเกิดขึ้นจริง หลังติดเชื้อโควิด กระทบกับ 3 ระบบหลักในร่างกาย ทั้งระบบหายใจ ระบบสมองและระบบกล้ามเนื้อ

วันนี้ (23 เม.ย.65) ศ.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่าขณะนี้ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าอาการลองโควิด (Long Covid) เกิดขึ้นจริง พบประมาณ ร้อยละ 15-30 ของจำนวนผู้ป่วยโดยสาเหตุเชื่อว่า เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อไวรัส ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม หรือ มีอาการต่อเนื่องผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกาย โดยอาการลองโควิดโดยทั่วไป จะพบหลังติดเชื้อและรักษาหายจากโควิดไปแล้ว 4 -6 สัปดาห์ขึ้นไป 

อาการลองโควิดจะกระทบกับระบบร่างกาย อยู่ 3 ระบบหลัก  คือ 

1.ระบบทางเดินหายใจ โดยมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งพบว่ามีอาการ หายใจไม่เต็มที่ เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก  

2.ระบบทางสมอง เช่น ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะมีอาการลักษณะสมองตื้อ มีความรู้สึกว่าตื่นขึ้นมาแล้วไม่สดใสเหมือนเดิม บางรายคิดช้าลง  ในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่าง ทำงานวิจัยตรวจคลื่นแม่เหล็กสมองในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีอาการลองโควิด โดยจะดูในส่วน เนื้อสมอง เบื้องต้นมีรายงานออกมาว่าในเนื้อสมอง มีลักษณะคล้ายกับการขาดเลือด 

3. ระบบกล้ามเนื้อ พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็นนักกีฬา หลังจากหายป่วยจากโควิด-19 กล้ามเนื้อไม่กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมบางรายอ่อนแรงตลอดเวลา

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่าอาการลองโควิด เกิดขึ้นได้กับโควิด-19 ทุกสายพันธุ์รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนด้วย จึงขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดความรุนแรง เนื่องจากวัคซีน 2 เข็มไม่เพียงพอในการต่อสู้กับโอมิครอน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงที่ยังฉีดเข็มกระตุ้นน้อยอยู่ที่ร้อยละ 39 

ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึงอาการลองโคิวดว่า ขณะนี้ ทีมเจ้าหน้าที่กรมการแพทย์ กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการลองโควิด โดยล่าสุดมีข้อมูลรายงาน ออกมาว่า การฉีดวัคซีนโควิด สามารถลดการเกิดลองโควิดได้จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด 


ภาพจาก TNN ONLINE / รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง