TNN online งานวิจัยอังกฤษเผยประสิทธิภาพวัคซีนกระตุ้น เข็ม 4 ระหว่าง "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา"

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

งานวิจัยอังกฤษเผยประสิทธิภาพวัคซีนกระตุ้น เข็ม 4 ระหว่าง "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา"

งานวิจัยอังกฤษเผยประสิทธิภาพวัคซีนกระตุ้น เข็ม 4 ระหว่าง ไฟเซอร์-โมเดอร์นา

งานวิจัย COV-BOOST จากประเทศอังกฤษเผยประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระหว่าง วัคซีนไฟเซอร์ กับ วัคซีนโมเดอร์นา เข็มกระตุ้น ขนาด 50 ไมโครกรัม เมื่อใช้ฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 4

วันนี้ (21 เม.ย.65) ผลงานวิจัย COV-BOOST ฉบับล่าสุดจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และปฏิกิริยาการตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ระหว่าง "วัคซีนไฟเซอร์" ขนาด 30 ไมโครกรัม กับ "วัคซีนโมเดอร์นา" ขนาด 50 ไมโครกรัม 

ในอาสาสมัครจำนวน 166 ราย ที่เคยได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 มาก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า การได้รับวัคซีนไฟเซอร์ หรือวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้น เป็นวัคซีนเข็มที่ 4 สามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  

โดยหากเทียบกับระดับแอนติบอดี้ก่อนการได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 พบว่า วัคซีนไฟเซอร์ขนาด 30 ไมโครกรัม สามารถเพิ่มระดับแอนติบอดี้ได้ 12.19 เท่า ส่วนวัคซีนโมเดอร์น่าเข็มกระตุ้นขนาด 50 ไมโครกรัม เพิ่มระดับแอนติบอดี้ได้ 15.90 เท่า 

และหากทำการเปรียบเทียบกับระดับแอนติบอดี้ที่ระดับสูงสุดที่ตรวจวัดได้ภายหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า วัคซีนไฟเซอร์ขนาด 30 ไมโครกรัม มีการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดี้ 1.59 เท่า ส่วนวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้นขนาด 50 ไมโครกรัม พบการเพิ่มสูงขึ้น 2.19 เท่า  

สำหรับ "อาการข้างเคียง" ที่เกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ในการศึกษาครั้งนี้พบว่า ส่วนใหญ่มีระดับน้อย-ปานกลาง โดยอาการเจ็บบริเวณที่ฉีดและอ่อนเพลีย เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย โดยรวมแล้วอาสาสมัครมีการยอมรับวัคซีนเข็มที่ 4 นี้ได้ดี 

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.65 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยข้อมูลความปลอดภัยจากการใช้วัคซีนไฟเซอร์ หรือวัคซีนโมเดอร์นาที่ขนาด 50 ไมโครกรัม เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นจากการเฝ้าระวังและติดตามของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา 

จากรายงาน แสดงให้เห็นว่า "อาการไม่พึงประสงค์" ที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น พบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภายหลังจากการฉีดวัคซีนชุดหลักเข็มที่ 2 

นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดน้อย แต่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรเพศชายอายุระหว่าง 18-24 ปีนั้น 

พบว่า "อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นั้น พบการเกิดได้น้อยกว่ามาก โดยวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้นขนาด 50 ไมโครกรัมนั้น พบอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 8.7 รายต่อ 1 ล้านโดส น้อยกว่าที่พบหลังการฉีดวัคซีนชุดหลักเข็มที่ 2 ซึ่งเป็นขนาด 100 ไมโครกรัม (56.3 รายต่อ 1 ล้านโดส) จากการเก็บข้อมูลก่อนหน้านี้  


แหล่งที่มาของข้อมูล 

Munro, A. et al., Immunogenicity and Reactogenicity of BNT162b2 and mRNA1273 COVID-19 Vaccines Given as Fourth Dose Boosters in the COV-BOOST Randomised Trial Following Two Doses of ChAdOx1 nCov-19 or BNT162b2 and a Third Dose of BNT162b2. Preprint at SSRN: https://ssrn.com/abstract=4076824 

Hause, Anne M et al. “Safety Monitoring of COVID-19 Vaccine Booster Doses Among Adults - United States, September 22, 2021-February 6, 2022.” MMWR. Morbidity and mortality weekly report vol. 71,7 249-254. 18 Feb. 2022, doi:10.15585/mmwr.mm7107e1

เครดิต โอกิลวี่ (ประเทศไทย)

ภาพจาก TNN ONLINE


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง