TNN online WHO ตอบฉีดวัคซีนโควิดไฟเซอร์ ทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ-มิสซี ในเด็กหรือไม่?

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

WHO ตอบฉีดวัคซีนโควิดไฟเซอร์ ทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ-มิสซี ในเด็กหรือไม่?

WHO ตอบฉีดวัคซีนโควิดไฟเซอร์ ทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ-มิสซี ในเด็กหรือไม่?

องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เผย วัคซีนต้านโควิดของไฟเซอร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิต พร้อมไขปมทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ-มิสซี ในเด็กหรือไม่?

วันนี้ (16 เม.ย.65) องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า วัคซีนต้านโควิดของไฟเซอร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตในเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป อาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนสามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ทั่วไปมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง ส่วนอาการที่รุนแรงที่พบหลังรับวัคซีน ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C)

"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" เป็นอาการที่พบได้ยากและมีสาเหตุหลายประการ ส่วนใหญ่เกิดในทารก วัยรุ่น หรือวัยหนุ่มสาว และหายได้เอง แต่บางคนก็อาจป่วยหนักและต้องรักษา

การวิจัยในอเมริกาพบว่า หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 8.7 ล้านเข็มให้เด็กอายุ 5-11 ปี มีผู้ป่วยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 11 ราย คิดเป็น 0.00013% หรือ 1.3 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านเข็ม และโดยทั่วไปพบในบุคคลเพศชายอายุ 12-24 ปี ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดในเด็กอายุ 5-11 ปีหลังรับวัคซีน พบได้ยากมาก

ในทางตรงข้าม มีแนวโน้มว่าอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะเกิดในผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 มากกว่าในผู้ที่รับวัคซีนต้านโควิด 19 งานวิจัยระบุว่าเด็กชาย/ชายหนุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ติดเชื้อโควิด มีโอกาสเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่าชายในกลุ่มอายุเดียวกันที่รับวัคซีนต้านโควิด 19 ถึง 6 เท่า

WHO ตอบฉีดวัคซีนโควิดไฟเซอร์ ทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ-มิสซี ในเด็กหรือไม่?

"กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C)" เป็นอาการใหม่ พบได้ยาก แต่รุนแรง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับทั้งการติดเชื้อโควิด 19 และการรับวัคซีนต้านโควิด 19 อาการ MIS-C ทำให้อวัยวะหลายส่วนของร่างกายอักเสบ เช่น หัวใจ ปอด ไต สมอง ผิวหนัง ดวงตา และช่องท้อง

ผู้ที่มีอาการ MIS-C เฉียบพลันอาจต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู อาการและสัญญาณของ MIS-C ได้แก่ มีไข้ (สูงกว่า 38 องศา) ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดท้อง เส้นเลือดฝอยในตาแตก ท้องร่วง เวียนศีรษะ ผื่นขึ้น อาเจียน และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 

เรายังไม่ทราบสาเหตุของ MIS-C อย่างแน่ชัด แต่ดูเหมือนว่าจะเกิดในเด็กอายุ 8-9 ปีมากที่สุด แม้ว่าจะพบในทารกและคนวัยหนุ่มสาวด้วย อาการ MIS-C สามารถรักษาได้ หากพบแพทย์อย่างทันท่วงที มียาที่ช่วยควบคุมการอักเสบและป้องกันไม่ให้อวัยวะเสียหาย เด็กส่วนใหญ่หายเป็นปกติ

การวิจัยในฝรั่งเศสหลังจากฉีดวัคซีน mRNA 8 ล้านเข็มให้เด็กอายุ 12-17 กว่า 4 ล้านคน พบผู้ป่วย MIS-C จำนวน 9 ราย โดย 8 รายเป็นชาย และ 3 รายต้องเข้าห้องไอซียู แต่ทุกคนหายดีแล้ว 

อัตราการพบโรค MIS-C ที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนคือ 1.1 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านเข็ม ซึ่งต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับอัตราการเกิด MIS-C ในเด็กอายุ 12-17 ปีที่ติดเชื้อโควิดซึ่งอยู่ที่ 113 รายต่อ 1 ล้านคน 

ในการวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง พบว่าเด็กและวัยรุ่นที่รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม มีโอกาสการเกิด MIS-C ลดลง 91% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

สรุปได้ว่า หลักฐานในปัจจุบันยืนยันประโยชน์ของการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งสูงกว่าผลเสียจากอาการข้างเคียงที่รุนแรง


ข้อมูลจาก World Health Organization Thailand 

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง