TNN online ศูนย์จีโนมฯ ห่วงโควิดโอมิครอน BA.2 ยังอันตรายแม้หายแล้ว เสี่ยง Long Covid

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ศูนย์จีโนมฯ ห่วงโควิดโอมิครอน BA.2 ยังอันตรายแม้หายแล้ว เสี่ยง Long Covid

ศูนย์จีโนมฯ ห่วงโควิดโอมิครอน BA.2 ยังอันตรายแม้หายแล้ว เสี่ยง Long Covid

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ออกมาให้ข้อมูลว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ที่กำลังระบาดอยู่ในไทย แม้จะไม่รุนแรงเท่าสายพันธ์เดลต้า แต่ติดง่าย และยังเสี่ยงต่อการเป็น Long Covid

วันนี้ (6 เม.ย.65) ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาให้ความคิดเห็นถึงการระบาด ของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 หลังจากการเริ่มพบการระบาดของสายพันธุ์ BA.2 เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 และถือได้ว่าในขณะนี้ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทยอยู่ในประเทศไทย

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า เชื้อไวรัส covid-19 สายพันธุ์ BA.2 ยังคงมีความรุนแรงและแพร่ระบาดได้ดี แต่ด้วยการป้องกันทั้งการฉีดวัคซีน รวมถึงภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในประเทศ 

ทำให้ความรุนแรงของไวรัสที่กลายพันธ์ในระยะหลัง ไม่รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้เช่นเดลต้า ซึ่งถือเป็นการพัฒนาร่วมกันทั้งมนุษย์และไวรัส ซึ่งในอนาคตได้มีการคาดการณ์จากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ถึงการระบาดในอนาคต ที่อาจจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 

1.ไวรัสจะมีความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น 2.ไวรัสมีความรุนแรงลดลงเรื่อยๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งสองรูปแบบ ดังนั้น การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือการฉีดวัคซีนรวมถึงการพัฒนายารักษาโรคถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึงการเตรียมการเข้าสู่โรคประจำถิ่นในช่วงเดือนกรกฎาคม ว่ามีความเป็นไปได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะมาตรการการดูแลตนเองที่จะต้องมีอยู่เช่นเดิม เช่นเดียวกับทั่วโลก ที่จะต้องมีมาตรการคล้ายกัน 

โดยเฉพาะการคลายล็อคมาตรการต่างๆ แต่ WHO ยังเป็นกังวลในเรื่องของการเกิดภาวะลองโควิด เพราะในหลายประเทศยังประสบปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อโควิค-19 หลังจากหายแล้ว ที่พบว่าจะมีอาการของโรคลองโควิด (Long Covid)

แม้จะยังไม่มีข้อมูลของการเสียชีวิต แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ว่าเมื่อเป็นโรคลองโควิดแล้วจะหายเมื่อไหร่ เช่นเดียวกับวิธีการรักษาที่ยังไม่มีการรักษาที่ตายตัว.


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง