TNN online ไม่ติดเชื้อดีสุด! หมอธีระ แนะ 4 เรื่องใช้ชีวิตอย่างไรให้สังคมปลอดภัยมากขึ้น

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ไม่ติดเชื้อดีสุด! หมอธีระ แนะ 4 เรื่องใช้ชีวิตอย่างไรให้สังคมปลอดภัยมากขึ้น

ไม่ติดเชื้อดีสุด! หมอธีระ แนะ 4 เรื่องใช้ชีวิตอย่างไรให้สังคมปลอดภัยมากขึ้น

หมอธีระ ย้ำ Long COVID จะส่งผลต่อทั้งสมรรถนะร่างกายและจิตใจ แนะ 4 ข้อใช้ชีวิตทำให้สังคมโดยรวมปลอดภัยมากขึ้น

วันนี้( 13 มี.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

โดยระบุว่า "13 มีนาคม 2565 ทะลุ 456 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,202,186 คน ตายเพิ่ม 4,115 คน รวมแล้วติดไปรวม 456,260,532 คน เสียชีวิตรวม 6,061,396 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.62 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 99.12

ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 42.64 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 35.94

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 63 คน สูงเป็นอันดับ 17 ของโลก

..."The new wave in Europe has begun"... รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% 

แต่มีถึง 3 ทวีปที่ยังเพิ่มขึ้น และมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก นั่นคือ โอเชียเนีย 16%, เอเชีย 10%, และยุโรปที่กลับมาบวกอีกครั้งที่ 9% 

ทั้งๆ ที่ยุโรปเพิ่งผ่านพ้นพีคของระลอกใหญ่ไปหมาดๆ ราวเดือนเดียว แต่กลับระบาดปะทุซ้ำจาก BA.2 ซึ่งมีสมรรถนะแพร่ได้ไวกว่า BA.1 อย่างไรก็ตามเหตุผลหลักไม่น่าจะมาจากตัวเชื้อเท่านั้น แต่น่าจะเป็นผลมาจากการหยุดมาตรการป้องกันและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อจากการใช้ชีวิตประจำวัน

ดังนั้นการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น ไม่แชร์ของกินของใช้หรือกินดื่มร่วมกับผู้อื่น ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันโรคโควิด-19

ต่อให้ Omicron จะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ข้อมูลวิชาการตอนนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหนักในระยะยาวของประเทศที่มีจำนวนคนติดเชื้อสูงนั้นจะเป็นเรื่อง Long COVID เพราะจะส่งผลต่อทั้งสมรรถนะร่างกายและจิตใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน ปัญหาผลิตภาพจากการทำงาน ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด และเป็นภาระต่อระบบสุขภาพ ภาระค่าใช้จ่ายต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมจะดีที่สุด

หนึ่ง ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรระหว่างการดำรงชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

สอง ปรับระบบงาน กระบวนการทำงาน และสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย

สาม สำหรับประชาชน ควรหลีกเลี่ยงการพบปะคนที่ไม่ป้องกันตัว และหลีกเลี่ยงการใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากผู้ให้บริการที่ไม่ป้องกันตัว 

สี่ สำหรับเจ้าของกิจการและพนักงาน ควรปฏิเสธที่จะให้บริการลูกค้าที่ไม่ป้องกันตัว และแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง 

ทั้ง 4 เรื่องข้างต้นจะเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ทำให้สังคมโดยรวมปลอดภัยมากขึ้น และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม"






ภาพจาก รอยเตอร์/Thira Woratanarat 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง