TNN online หมอประสิทธิ์ คาด "โอมิครอน" เป็นช่วงท้ายการระบาดโควิด-19

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอประสิทธิ์ คาด "โอมิครอน" เป็นช่วงท้ายการระบาดโควิด-19

หมอประสิทธิ์ คาด โอมิครอน เป็นช่วงท้ายการระบาดโควิด-19

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยข้อมูลโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อาการและความรุนแรงโรคน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ชัดเจน คาดอีกสักระยะจะระบาดครอบคลุมทั่วประเทศ หากไทยต้องการคุมการระบาด ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เนื่องจากการรับวัคซีนโควิด 2 เข็มอาจจะไม่เพียงพอ

วันนี้ (25 ม.ค.65) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ว่า สถานการณ์ทั่วโลกยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นของการแพร่ระบาดโควิด-19 ผลมาจากสายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตช่วงโอมิครอนทั่วโลก พบว่า ไม่ได้พุ่งตามอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้น เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน

ขณะที่ ไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 111,882,595 โดส ฉีดวันละ 494,227 ร้อยละ 74.4 ของประชากรได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 68.5 ได้รับเข็มที่ 2 และร้อยละ 15.8 ได้รับเข็มกระตุ้น 

ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลยืนยันโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แพร่เร็วกว่าเดลต้าอย่างชัดเจน โดยปริมาณไวรัสในผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องเยอะมาก ซึ่งการแพร่เร็วมาจากคุณสมบัติของตัวไวรัสเอง 

ส่วนข้อมูลอัตราผู้ติดเชื้อเมื่อต้องเข้าโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อโอมิครอน พบว่าน้อยกว่าเดลต้า รวมถึงอาการรุนแรงน้อยกว่า หากไม่มีอาการ แนวทางหนึ่งก็คือการรักษาตัวที่บ้าน 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังได้อธิบายถึงความสามารถของโอมิครอน หนึ่งในนั้น คือ การหลบจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้มากกว่าสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการแพร่ระบาดได้เร็วของสายพันธุ์โอมิครอน  หมอประสิทธิ์ คาด โอมิครอน เป็นช่วงท้ายการระบาดโควิด-19

หมอประสิทธิ์ ย้ำ ยังไม่มีหลักฐานว่าจะต้องฉีดวัคซีนโควิดทุกๆ 3-6 เดือน

สำหรับอาการที่พบบ่อยในการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน คือ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อย และเจ็บคอ ส่วนอาการไข้สูงไม่ได้กลิ่นหรือไม่ได้พบไม่บ่อยเหมือนเดลต้า โดยคาดว่าอีกสักระยะ โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะระบาดครอบคลุมทั้งประเทศไทย 

ทั้งนี้ มีการศึกษาในลอนลอน ประเทศอังกฤษ ว่า ภูมิคุ้มกันที่จะช่วยลดการติดเชื้อที่มีอาการ คือ การฉีดวัคซีนโดยเฉพาะการฉีดวัคซีน 3 เข็ม ซึ่ง 2 เข็ม ถือเป็นการฉีดพื้นฐาน โดยระยะห่างเข็ม 2 กับเข็ม 3 ห่างกัน 3 เดือน ย้ำ ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าจะต้องฉีดวัคซีนโควิดทุกๆ 3-6 เดือน

โดยอีกไม่กี่เดือนนี้ จะมีวัคซีนรุ่น 2 บริษัทผู้ผลิต ซึ่งต้องจับตาดูถึงวัคซีนโควิดในรุ่นที่ 2 ว่าจะสามารถป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้มากน้อยขนาดไหน 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุถึงการเอาชนะการควบคุมโอมิครอน คือการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

หมอประสิทธิ์ คาด โอมิครอน เป็นช่วงท้ายการระบาดโควิด-19

ฉีดวัคซีนครบ หากติดเชื้อจะลดโอกาสเกิด Long Covid ได้ถึง 49%

ขณะที่ อาการ Long Covid เป็นกลุ่มอาการที่พบได้หลังการติดเชื้อโควิด-19 อาจพบได้เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน มีมากกว่า 50 อาการที่พบ ส่วนระยะเวลาที่มีอาการที่บ่งชี้ว่าจะเป็นลองโควิดในอังกฤษ ระบุว่าไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่ในสหรัฐอเมริกา 4 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นแล้ว

แต่การที่อาการจะอยู่ในร่างกายนานเท่าใดขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นๆ ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ การฉีดวัคซีนครบจะช่วยลดโอกาสเกิดลองโควิดได้ถึงร้อยละ 49

อย่างไรก็ตาม ผลการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ก่อให้เกิดอาการและความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ชัดเจน ทำให้มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนหนึ่งก็มาจากประชากรโลกมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนโควิดและติดเชื้อแล้วหายแล้ว

ขณะเดียวกัน ประชาชนยังคงที่จะต้องป้องกันตัวเองด้วยมาตราการสาธารณสุขอยู่ การเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือ วัคซีนชนิด mRNA

หมอประสิทธิ์ คาด โอมิครอน เป็นช่วงท้ายการระบาดโควิด-19

โอมิครอนทำพิษ! ผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกพุ่ง หลายประเทศเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น บางวันสูงถึง 1.5 ล้านคนต่อวัน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2,000-3,000 คน มีการฉีดวัคซีนกระตุ้นไปแล้วร้อยละ 24.9 ยังคงมีประชากรจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ยอมฉีดวัคซีน 

สถานการณ์โควิด-19 ประเทศแคนาดา มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงในวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยแนวโน้มการติดเชื้ออยู่ในช่วงขาลง 

ส่วนประเทศอังกฤษ หากดูอัตราการติดเชื้อเริ่มลดลง ทำให้ประเทศอังกฤษมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นในหลายด้าน เช่น การผ่อนคลายไม่สวมหน้ากากอนามัย โดยประชากรเกินกว่าครึ่งได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศมากขึ้น 

ส่วนสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในเอเชีย เช่น ประเทศอินเดีย พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโอมิครอน 3 แสนรายต่อวัน ส่วนอัตราการเสียชีวิต อยู่ที่ประมาณ 400-500 คนต่อวัน จากประชากร 1,400 ล้านคน ซึ่งต้องเฝ้าจับตาสถานการณ์ระบาดในประเทศอินเดีย เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้น และคาดการณ์ว่าจะสูงกว่าในช่วงเดลต้า 

หมอประสิทธิ์ คาด โอมิครอน เป็นช่วงท้ายการระบาดโควิด-19

ขณะที่ ในช่วงก่อนหน้านี้ การแพร่ระบาดของโควิดในอินเดียได้ส่งผ่านมาทางเมียนมาร์และเข้าไทยไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งการระบาดครั้งนี้ โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนประเทศไทยต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

ส่วนอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีมาตรการคุมเข้มหากพบการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่เมื่อเจอสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอยู่ที่หลักแสนคน แต่อัตราการเสียชีวิต ยังคงอยู่ในเลข 2 หลัก ส่วนการฉีดวัคซีนไปกว่า 2 เท่าของประชากร

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้สูงที่สายพันธุ์โอมิครอนจะเป็นช่วงท้ายของการระบาดของโควิด-19 เพราะจะมีคนที่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อที่มีจำนวนมากและภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ เตือนด้วยว่า ไม่ควรพาตัวเองไปเสี่ยงรับเชื้อโควิด เพื่อหวังไว้มีภูมิคุ้มกัน เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าจะไม่ป่วยหนักและจะเป็นการนำเชื้อไปให้บุคคลอื่นที่ภูมิคุ้มกันต่ำจนเสียชีวิตได้ แนะนำให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันและใช้ชีวิตด้วยการป้องกันตัวเองอย่างสูงสุด.


ภาพจาก AFP ,  Mahidol University 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง