TNN online (คลิป) วิจัยพบ “เชื้อโควิด”ฤทธิ์ลดลง90% หลังลอยในอากาศ 20 นาที!

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

(คลิป) วิจัยพบ “เชื้อโควิด”ฤทธิ์ลดลง90% หลังลอยในอากาศ 20 นาที!

(คลิป) วิจัยพบ “เชื้อโควิด”ฤทธิ์ลดลง90% หลังลอยในอากาศ 20 นาที!

งานวิจัยในอังกฤษชิ้นหนึ่งพบว่าเชื้อโควิด-19 เมื่อลอยไปอยู่ในอากาศนาน 20 นาที ความสามารถในการติดเชื้อ หรือ ฤทธิ์ของเชื้อจะอ่อนลงถึงร้อยละ 90 ซึ่งอัตราการสูญเสียสมรรถนะดังกล่าวเกิดขึ้นส่วนใหญ่ภายใน 5 นาทีแรก อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยแนะนำว่าหากสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างโอกาสในการติดเชื้อก็จะน้อยลง หรือไม่ติดเชื้อเลย


ผลการวิจัยของศูนย์วิจัยละอองฝอย มหาวิทยาลัยบริสทอล ในสหราชอาณาจักร ซึ่งทดสอบพ่นละอองที่มีเชื้อโควิด-19 ไปในอากาศ แล้วเก็บอากาศหลังพ่นเพื่อนำไปเพาะเชื้อ พบว่าเชื้อในอากาศที่มีความชื้นต่ำลดลงเร็วมาก ต่างจากเชื้อที่อยู่ในความชื้นสูง อย่างไรก็ตาม เชื้อจะหายไปเกือบหมด หรือ เสียสมรรถนะในการติดเชื้อในมนุษย์ร้อยละ 90 ภายใน 20 นาที หลังลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งอัตราการสูญเสียสมรรถนะดังกล่าวเกิดขึ้นส่วนใหญ่ภายใน 5 นาทีแรก 


การศึกษาวิจัยนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์ "เมิด-อา-ไคว" (medRxiv) ชี้ให้เห็นว่า หากหากสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากบุคคลอื่นแล้ว โอกาสในการติดเชื้อก็จะน้อยลง หรือไม่ติดเชื้อเลย ส่วนการถ่ายเทอากาศของสถานที่แต่ละแห่งนั้น เป็นปัจจัยรองลงมา แต่ก็มีความสำคัญอยู่เช่นกัน


ศาสตราจารย์ โจนาธาน รีด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดังกล่าวละอองฝอย และเป็นหัวหน้าผู้ศึกษาวิจัยชิ้นนี้ บอกว่า หลายคนมักจะโทษ ว่าการติดเชื้อโควิด-19 มักเกิดจากสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือ คิดว่าเชื้อแพร่กระจายไปหลายเมตรทั่วห้อง ซึ่ง ก็เกิดขึ้นจริงในบางกรณี แต่ที่จริงแล้ว การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการอยู่ใกล้กับคนที่ติดเชื้อมากกว่า ดังนั้น การที่เราสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างกับบุคคลอื่นๆ จะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น เพราะโอกาสในการติดเชื้อจากไวรัสก็น้อยลงด้วย


ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ความเห็นต่อการวิจัยนี้ว่า โควิด-19 ไม่ได้ติดง่ายๆ และช่วยลดความกังวลที่เกรงว่าเชื้อจะแพร่กระจายอยู่ในอากาศได้นาน เพราะผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า เชื้ออาจจะตาย หรือ อ่อนฤทธิ์ลงเมื่ออยู่ในอากาศนาน 20 นาที ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้การติดเชื้อเกิดขึ้นได้มากที่สุด คือการใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะ1-2 เมตร โดยมีการสัมผัสลมหายใจ หรือละอองฝอยแบบใกล้ชิด แต่หากมีการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ยังสามารถป้องกันเชื้อได้ แม้เชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนที่มีการแพร่กระจายได้เร็ว และที่สำคัญศาสตราจารย์นายแพทย์มานพ เห็นว่า ความรุนแรงของเชื้อโควิดไม่สำคัญเท่ากับการป้องกันตัวเอง รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันอาการหนักเมื่อติดเชื้อ และเชื่อว่าในที่สุดโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นแต่ไม่ใช่เร็วนี้ เพราะสถานการณ์ระบาดยังไม่นิ่ง


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง