TNN online WHOเตือนยุโรปกว่าครึ่งจะติดโอมิครอนใน 6 สัปดาห์-อย่าเพิ่งมองเป็นโรคประจำถิ่น

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

WHOเตือนยุโรปกว่าครึ่งจะติดโอมิครอนใน 6 สัปดาห์-อย่าเพิ่งมองเป็นโรคประจำถิ่น

WHOเตือนยุโรปกว่าครึ่งจะติดโอมิครอนใน 6 สัปดาห์-อย่าเพิ่งมองเป็นโรคประจำถิ่น

WHO ประเมินว่าประชากรกว่าครึ่งหนึ่งในยุโรปจะติดโอมิครอนในระยะเวลาอีกเพียง 6-8 สัปดาห์พร้อมเตือนว่าไม่ถึงเวลาที่จะมองว่าโควิดอยู่ในระดับเดียวกับโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัด

วันนี้ ( 12 ม.ค. 65 )ฮานส์ คลูก (Hans Kluge) ผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปขององค์การอนามัยโลก แถลงข่าวในวันอังคารว่า คาดว่าประชากรยุโรปกว่าครึ่งหนึ่งจะติดเชื้อไวรัสโอมิครอนภายใน 6-8 สัปดาห์ข้างหน้านี้ โดยในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2022 ยุโรปติดเชื้อโควิดรายใหม่แล้วมากกว่า 7 ล้านราย เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 2 สัปดาห์ ซึ่งตามตัวเลขนี้ Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) สถาบันวิจัยด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันในสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า กว่าร้อยละ 50 ของประชากรในยุโรป จะติดเชื้อโอมิครอนในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องในระดับปัจจุบัน จะช่วยคุ้มกันและลดอาการป่วยรุนแรง, การเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิต คลูกยังเรียกร้องให้หลายประเทศเปิดโรงเรียงด้วย ซึ่งเขาบอกว่า โรงเรียนควรจะเป็นสถานที่สุดท้ายที่ต้องปิด และเป็นแห่งแรกที่ต้องเปิด 

ผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า 50 จาก 53 ประเทศในยุโรปและในเอเชียกลาง มีผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนในระดับสูง แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีหลักฐานเพิ่มขึ้นที่บ่งชี้ว่า โควิดโอมิครอนจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าช่วงปอด ทำให้มีอาการไม่รุนแรงเท่ากับโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ระบาดหนักก่อนหน้านี้ แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียก่อน

ส่วนประเด็นที่ทางการสเปน ผลักดันให้เปลี่ยนแปลงการติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เหมือนกับไข้หวัด เพราะความรุนแรงของโควิดโอมิครอนได้ลดลงไป ซึ่งนั่นหมายถึงสเปนจะรับมือกับโควิดโอมิครอนเหมือนกับโรคประจำถิ่นแทนที่จะเป็นการรับมือภาวะการระบาดใหญ่ในวงกว้างเหมือนแต่ก่อน

ในมุมมองของแคเธอรีน สมอลวูด (Catherine Smallwood) เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายฉุกเฉินประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก ชี้ว่า เรายังมีสถานการณ์การระบาดที่ไม่แน่นอนอยู่มาก อีกทั้งโควิดโอมิครอนยังคงกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดที่จะบอกว่าโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้

ภาพจาก :  AFP

ข่าวแนะนำ