TNN online หมอธีระ เผยข้อมูลเปรียบเทียบโอกาสเสียชีวิตจาก "โควิด vs ไข้หวัดใหญ่"

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอธีระ เผยข้อมูลเปรียบเทียบโอกาสเสียชีวิตจาก "โควิด vs ไข้หวัดใหญ่"

หมอธีระ เผยข้อมูลเปรียบเทียบโอกาสเสียชีวิตจาก โควิด vs ไข้หวัดใหญ่

หมอธีระ อัปเดตความรู้เปรียบเทียบโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่

วันนี้(3ม.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thira Woratanarat"

"ทะลุ 290 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 799,877 คน ตายเพิ่ม 2,866 คน รวมแล้วติดไปรวม 290,552,736 คน เสียชีวิตรวม 5,460,136 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส และแคนาดา 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.16 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90.02

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 46.12 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 55.16 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 4 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...สำหรับสถานการณ์ไทย

ระบบรายงานจำนวน ATK ปิดปรับปรุงมาตั้งแต่ 28 ธ.ค.64 ลำพังรายงานติดเชื้อเมื่อวาน 3,112 คน ไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ได้อย่างละเอียดพอ จำนวนเคส Omicron สะสม 1,551 คน เป็นอันดับ 15 ของโลก

...อัปเดตความรู้

1. เปรียบเทียบโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อของโรคโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่

เมื่อมีการรวบรวมข้อมูลจากการวิจัยต่างๆ ทั่วโลกพบว่า ไม่ว่าจะช่วงอายุใด ตั้งแต่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ จนถึงวัยสูงอายุ การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงกว่าไข้หวัดใหญ่หลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอายุยิ่งมาก ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตยิ่งสูงขึ้นมากสำหรับทั้งสองโรค ดังนั้นการฉีดวัคซีนทั้งสำหรับโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่จึงเป็นสิ่งจำเป็น 

นอกจากนี้การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากาก และอยู่ห่างคนอื่นๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันโรคได้ทั้งสองโรค และสำหรับช่วงอายุที่ยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้ เช่น เด็กเล็ก ผู้ปกครองก็จำเป็นต้องดูแลป้องกันให้ดี

2. ผู้ที่เป็น Long COVID ส่วนใหญ่มักมีอาการคงค้างระยะยาว นานกว่า 6 เดือน

Groff D และคณะ ได้ทำการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกอย่างเป็นระบบ ตีพิมพ์ใน JAMA Network Open เมื่อตุลาคม 2021 โดยมีงานวิจัย 57 ชิ้น ติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วกว่า 250,000 คน

พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่ง (54%) มีอาการคงค้างนานกว่า 6 เดือน โดยอาการคงค้างเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย ทั้งอาการทั่วไป รวมไปถึงปัญหาระบบประสาท ภาวะทางจิต ระบบหายใจ ผิวหนัง หัวใจ ทางเดินอาหาร ฯลฯ

Long COVID จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องย้ำเตือนให้เราทุกคนระมัดระวัง ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมจะดีกว่า เพราะติดเชื้อแม้จะรักษาหาย แต่ยังมีปัญหาระยะยาวตามมาได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และการทำงาน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาระงานในระบบสาธารณสุข ทั้งเรื่องกำลังคน และค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประเทศอีกด้วย ไม่ควรเชื่อคำยุว่าเชื้ออ่อน ไม่รุนแรง แล้วปล่อยปละละเลยจนไม่ป้องกันตัว...ด้วยรักและห่วงใย"








ภาพจาก AFP/รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง