TNN online หมอธีระ เผยผลวิจัยเบื้องต้น "โอมิครอน" ในหนูแฮมสเตอร์

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอธีระ เผยผลวิจัยเบื้องต้น "โอมิครอน" ในหนูแฮมสเตอร์

หมอธีระ เผยผลวิจัยเบื้องต้น โอมิครอน ในหนูแฮมสเตอร์

หมอธีระ เผยผลวิจัยของญี่ปุ่นเกี่ยวกับ "โอมิครอน" ในหนูแฮมสเตอร์ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า จะเป็นอย่างไรเช็กเลยที่นี่

วันนี้( 26 ธ.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thira Woratanarat"

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 478,331 คน ตายเพิ่ม 3,870 คน รวมแล้วติดไปรวม 279,809,040 คน เสียชีวิตรวม 5,412,986 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี อเมริกา รัสเซีย และตุรกี (วันคริสตมาสยังไม่มียอดรายงานหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศในยุโรป)

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.62 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.89

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 61.67 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 60.36 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก

สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 2,766 คน สูงเป็นอันดับ 27 ของโลก หากรวม ATK อีก 590 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 25 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย

อัพเดตภาพรวมวันคริสตมาสของ Omicron

เมื่อวานนี้ ฝรั่งเศส อิตาลี ไอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ทั้งสี่ประเทศมีรายงานการติดเชื้อใหม่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดมาในแต่ละประเทศคือ 104,611 คน, 54,762 คน, 13,765 คน, และ 9,943 คน ตามลำดับ

ในออสเตรเลียนั้น รัฐนิวเซาธ์เวลส์ดูจะหนักกว่าที่อื่น ติดเชื้อไปถึง 6,394 คน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยต้องรับการดูแลรักษาในรพ. 458 คน และอยู่ในไอซียู 52 คน ทั้งนี้เมืองเมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย มีรายงานว่าสถานที่บริการตรวจโควิดกำลังอยู่ในภาวะลำบาก เพราะมีคนต้องการตรวจมากเกินกว่าจะรับได้

งานวิจัย Omicron ในหนูแฮมสเตอร์

เมื่อคืนนี้ทีมงานจาก Sato Lab ในญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับ Omicron ในหนูแฮมสเตอร์ พบว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อน เช่น อัลฟ่าและเดลต้าแล้ว ไวรัส Omicron นั้นดูจะแบ่งตัวได้ดีในส่วนของเซลล์บริเวณหลอดลมหรือขั้วปอด ในขณะที่การแบ่งตัวในเซลล์ปอดนั้นพบว่า Omicron มีประสิทธิภาพน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ 

ผลดังกล่าวก็สอดคล้องกับการศึกษาทางห้องปฏิบัติการของ GuptaR Lab ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่ชี้ให้เห็นว่า Omicron จับกับตัวรับร่วม TMPRSS2 ที่เซลล์ปอดได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า และชี้ให้เห็นว่า Omicron แบ่งตัวในเซลล์หลอดลมได้มากกว่าเดลต้า 70 เท่า แต่ในเซลล์ปอดด้อยกว่าเดลต้า 10 เท่า

ทั้งนี้ทั้งนั้น จำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพราะความรู้ที่มีตอนนี้มาจากห้องปฏิบัติการและในหนูแฮมสเตอร์ อาจไม่การันตีว่าผลที่เกิดขึ้นในคนจะสอดคล้องกับที่พบมากน้อยเพียงใด

แต่ที่แน่ๆ เราเห็นจากการติดเชื้อแพร่เชื้อในโลกแห่งความเป็นจริงว่า Omicron นั้นแพร่ระบาดได้เร็วมากกว่าเดิมหลายเท่า ติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม กลุ่มเป้าหมายขยายวงกว่าเดิม ครอบคลุมทั้งคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน คนที่ฉีดไม่ครบ คนที่ฉีดครบก็ยังติดได้ รวมถึงคนที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อนแล้วด้วย

นอกจากนี้ยังชัดเจนว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและจากการติดเชื้อมาก่อน และดื้อต่อโมโนโคลนัล แอนติบอดี้หลายชนิดที่ใช้ในการรักษา

หลายประเทศนั้นพบว่า การแพร่ระบาดของ Omicron ทำให้เด็กและเยาวชนต้องป่วยและเข้ารับการรักษาในรพ.มากขึ้น ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่อธิบายคือ เป็นกลุ่มที่ยังเข้าถึงวัคซีนได้จำกัด

ทั้งนี้ สำหรับ Omicron ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับภาวะอาการคงค้างหลังการติดเชื้อ หรือ Long COVID ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด จึงเป็นการดีกว่า หากเราจะป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ติดเชื้อ ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า อยู่ห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตรเสมอ  เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว และเลี่ยงการปาร์ตี้สังสรรค์กับคนอื่นนอกบ้าน ฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับคนในครอบครัวที่บ้านก็พอ จะปลอดภัยกว่า ด้วยรักและห่วงใย"



ภาพจาก รอยเตอร์/AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง