TNN online การพัฒนาเมืองของจีน ... อีกเส้นทางหลักสู่การพัฒนาชาติ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

การพัฒนาเมืองของจีน ... อีกเส้นทางหลักสู่การพัฒนาชาติ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การพัฒนาเมืองของจีน ... อีกเส้นทางหลักสู่การพัฒนาชาติ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การพัฒนาเมืองของจีน ... อีกเส้นทางหลักสู่การพัฒนาชาติ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

มีคนกล่าวไว้ว่า “จีนเป็นบ้านของทั้งหมู่บ้านที่เล็กที่สุดและชุมชนเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างหลากหลายอย่างสุดขั้ว แต่จีนก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมืองให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นระบบ ซึ่งนับเป็นสิ่งหนึ่งที่คนไทยรู้สึกได้ในทุกครั้งที่ไปเยือนจีนในช่วงหลายปีหลังนี้

ในด้านการปกครอง นับแต่สถาปนาประเทศเมื่อ 1 ตุลาคม 1949 จีนได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ อันได้แก่ 23 มณฑล (รวมไต้หวัน) 5 มหานคร ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ของจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง รวมทั้งฉงชิ่งในเวลาต่อมา และ 5 เขตปกครองตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มองโกเลียใน หนิงเซียะ ซินเจียง ทิเบต และกวางสี

แม้ว่าในทางกฎหมาย พื้นที่ทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวจะมีสถานะที่เท่าเทียมกัน และแบ่งเป็นเขตการปกครองย่อยลดหลั่นกันไปสู่ระดับตำบลและหมู่บ้าน แต่พื้นที่เหล่านี้ก็มีความแตกต่างกันในหลายมิติ อาทิ จำนวนประชากร ขนาดทางภูมิศาสตร์ และขนาดทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน การปกครองมหานคร มณฑล และเขตปกครองตนเองดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่ง เพียงแต่มหานครได้รับอิสระในการบริหารจัดการภายในจากส่วนกลางที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับของพื้นที่ส่วนอื่น

ในอีกด้านหนึ่ง จีนยังจัดแบ่งเมืองตามระดับความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นเมืองเอก และเมืองรองระดับ 2-6 ผลจากการเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนมีเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน เราอาจนึกถึงเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น ฉงชิ่ง กวางโจว และฮ่องกง รวมทั้งเมืองที่เติบโตแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอย่างซูโจว เฉิงตู อู่ฮั่น และหังโจว เป็นต้น

เมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันออกของจีน อาจเพราะจีนเปิดประเทศจากด้านซีกตะวันออกก่อน และดำเนินนโยบายพัฒนาพื้นที่ตอนกลางและซีกตะวันตกในเวลาต่อมา ส่งผลให้ความเจริญเริ่มกระจายตัวเข้าสู่ตอนในของจีนในเวลาต่อมา 

นอกจากประเด็นขนาดเศรษฐกิจแล้ว เมืองเหล่านี้ยังพัฒนาสู่ “ความเป็นชุมชนเมือง” (Urbanization) ควบคู่ไปด้วย ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นเพราะการละทิ้งถิ่นฐานของเกษตรกรในพื้นที่ชนบทจำนวนราว 250 ล้านคนไปอาศัยและทำงานในเมืองใหญ่ดังกล่าว 

ในอีกด้านหนึ่ง โดยที่งานวิจัยจำนวนมากพบว่า การพัฒนาชุมชนเมืองมีความสัมพันธ์กับระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจีนจึงเริ่มแสดงบทบาทนำในการดำเนินนโยบายการพัฒนาชุมชนเมืองนับแต่ปี 2000 และยังเดินหน้ายกระดับให้กว่า 200 เมืองของจีนพัฒนาขึ้นเป็น “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) เพื่อเสริมส่งประโยชน์ในเชิงรุกต่อระดับการพัฒนาประเทศในภาพรวม

การพัฒนาเมืองของจีน ... อีกเส้นทางหลักสู่การพัฒนาชาติ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้กำหนดเป้าหมายเชิงรุกที่จะให้ชุมชนเมืองรองรับประชากร 70% ของจำนวนโดยรวมของประเทศ หรือราว 900 ล้านคนภายในปี 2025 เราจึงเห็นการพัฒนาชุมชนเมืองมีสัดส่วนของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง

หลังการก้าวขึ้นเป็นผู้นำ สี จิ้นผิง ก็สานต่อนโยบายดังกล่าวด้วยการปรับโมเดลบนแนวคิด “กลุ่มเมือง” (City Cluster) โดยตามแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 (2016-2020) กลุ่มเมืองในจีนถูกกำหนดไว้รวมราว 20 พื้นที่ กระจายอยู่ทั่วทุกส่วนของ “ไก่” ที่เป็นรูปลักษณ์ตามแผนที่ของจีน อาทิ 

  • พื้นที่ฮา-ต้า-ฉาง (Ha-Da-Chang) บริเวณหัวไก่ ที่เชื่อมเขตเศรษฐกิจของฮาร์บิน ต้าเหลียน และฉางชุนเข้าด้วยกัน โดยพยายามสร้างความกระชุ่มกระชวยด้านอุตสาหกรรมให้ฟื้นกลับคืนมา
  • พื้นที่จิง-จิน-จี้ (Jing-Jin-Ji) ที่ครอบคลุมเขตการเมืองและเศรษฐกิจสำคัญอย่างปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ยจนบางครั้งถูกเรียกในตัวย่อว่า “BTH” (Beijing-Tianjin-Hebei) ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณรอบอ่าวโป๋วไฮ่ (Bohai Gulf) บริเวณคอไก่ 
  • พื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) พื้นที่บริเวณอกไก่ ซึ่งครอบคลุมเซี่ยงไฮ้ เจียงซู อันฮุย และเจ้อเจียง ถูกใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนากลุ่มเมือง YRD จึงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหญ่ที่สำคัญที่สุดของจีนในปัจจุบัน
  • พื้นที่ปากแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta) ในย่านกวางโจว-เซินเจิ้น-จูไห่-ฮ่องกง-มาเก๊า ที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกรทเตอร์เบย์ (Greater Bay Area) ในเวลาต่อมา
  • พื้นที่เฉิงตู-ฉงชิ่ง (Chengdu-Chongqing) ที่เชื่อมสองเศรษฐกิจใหญ่ในด้านซีกตะวันตกของจีน ที่จะกลายเป็น “เศรษฐกิจไข่แดงแฝด” แห่งใหม่ของจีน
  • พื้นที่รอบอ่าวเป่ยปู้ (Beibu Gulf) บริเวณตีนไก่ ครอบคลุมกวางสีที่จีนใช้เป็นประตูแรกเชื่อมกับอาเซียน และไฮ่หนานที่เป็นเขตเสรีทางการค้าล่าสุดที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตแรง นับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของนโยบาย “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

กลุ่มเมืองเหล่านี้ยังอาจถูกแบ่งตามอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของจีน โดยจำแนกเป็น 3 ขนาด ดังนี้  

  • คลัสเตอร์ขนาดเล็ก มีสัดส่วนต่ำกว่า 3% ของเศรษฐกิจโดยรวมของจีน มุ่งเน้นการพัฒนาในระดับมณฑลหรืออนุภูมิภาค
  • คลัสเตอร์ขนาดกลาง มีสัดส่วน 3-9% ของจีดีพี มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค อาทิ ฉางชุน-ฉงชิ่ง
  • คลัสเตอร์ขนาดใหญ่ มีสัดส่วนตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของจีดีพีโดยรวมของจีน มีระดับของความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง โดยเกี่ยวข้องกับการค้าและดึงดูดการลงทุนแห่งโลกอนาคต ทั้งจากจีนและเทศ ทำให้พร้อมพรั่งไปด้วยนวัตกรรม และยกระดับเป็นกลุ่มเมืองชั้นแนวหน้าของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง YRD, GBA และ BTH 

ในเชิงประชากรศาสตร์ การพัฒนาของกลุ่มเมืองนับว่ามีส่วนสำคัญให้ชุมชนเมืองของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากสถิติพบว่า เมื่อครั้งเปิดประเทศสู่ภายนอกในปี 1978 จีนมีคนเมืองเพียงราว 170 ล้านคน คิดเป็นไม่ถึง 18% ของจำนวนประชากรโดยรวม แต่ใน 4 ทศวรรษต่อมา หรือไม่ถึง 20 ปีหลังเริ่มดำเนินนโยบายพัฒนาชุมชนเมืองดังกล่าว เมืองของจีนโดยรวมก็รองรับผู้คนกว่า 800 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 60% ของประชากรโดยรวม

การพัฒนาเมืองของจีน ... อีกเส้นทางหลักสู่การพัฒนาชาติ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การพัฒนากลุ่มเมืองเหล่านี้เกิดขึ้น “รวดเร็ว” และ “ทรงพลัง” แถมหลายแห่งยัง “เชื่อมต่อ” กับต่างประเทศ หากแนวโน้มดังกล่าวดำเนินต่อไปเช่นนี้ ผมก็คาดว่า จีนจะมีคนเมืองถึง 1,000 ล้านคนเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่ 15 ในปี 2030

หากเทียบกับกลุ่มเมืองในประเทศอื่นๆ กลุ่มเมืองส่วนใหญ่ของจีนก็นับว่ามีขนาดใหญ่อยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น หากเทียบกับพื้นที่เกรทเตอร์โตเกียว (Greater Tokyo Area) ซึ่งมีประชากรราว 40 ล้านคน และเป็นกลุ่มเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน จำนวนประชากรเฉลี่ยของคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ของจีนก็ยังมีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยมีจำนวนประชากรเฉลี่ยราว 110 ล้านคน หรือมากกว่าเกือบ 3 เท่าตัว!

เพื่อทวีกำลังของกลุ่มเมืองไปอีกระดับหนึ่ง จีนจึงวางแผนเชื่อมหลายกลุ่มเมืองดังกล่าวขึ้นเป็น “ระเบียงเศรษฐกิจ” ผ่านแนวคิด “2 แนวนอน” อันได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจ “แลนด์บริดจ์” ทางตอนเหนือ และ “ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง” ด้านตอนกลางของประเทศ และ “3 แนวตั้ง” อันได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจตามแนวชายฝั่งทะเล เส้นทางรถไฟฮาร์บิน-ปักกิ่ง-กวางโจว และเส้นทางรถไฟเป่าโถว-คุนหมิง

โดยจีนกำหนดให้ระเบียงเศรษฐกิจ “1 แนวนอน” และอีก “1 แนวตั้ง” เชื่อมต่อเข้ากับนโยบาย “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นการเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงเข้ากับ “แถบ” (Belt) ทางบก และการผนวกระเบียงเศรษฐกิจตามแนวชายฝั่งทะเลกับ “เส้นทาง” (Road) ทางทะเลกับต่างประเทศ เพื่อขยายประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

สิ่งนี้ก็เป็นอีกเครื่องยืนยันว่า จีนดำเนินหลากหลายนโยบายอย่างเป็นระบบ จริงจัง และต่อเนื่อง และแม้ว่าแต่ละกลุ่มเมืองของจีนจะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่จีนก็เก่งในการปรับใช้แนวทางและวิธีการให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ได้ตามสถานการณ์อย่างเหมาะสม จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ

โอกาสหน้าผมจะขอนำเอากรณีศึกษาการพัฒนาชุมชนเมืองและกลุ่มเมืองสำคัญของจีนในแต่ละแห่งมาเจาะลึกและแลกเปลี่ยนกันครับ ...

ภาพจาก :  AFP

ข่าวแนะนำ