TNN online เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เก็บตก China International Import Expo (CIIE) งานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ปีนี้ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงพลาดโอกาสในการไปร่วมงาน China International Import Expo (CIIE) งานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเพราะสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้จีนยังคงคุมเข้มเรื่องการออกวีซ่าและการกักตัว ส่งผลให้การจัดงานในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ผู้ร่วมงานและเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่อยู่ในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ไปร่วมงาน ... 

ดังเช่นทุกปี งาน “CIEE 2021” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2021 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมแห่งชาติ (National Exhibition and Convention Center: NECC) นครเซี่ยงไฮ้ โดยงานในปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “Embracing the CIIE, Sharing a Future” หรือแปลเป็นไทยแบบง่ายๆ ว่า “การโอบกอด CIIE, การแบ่งปันอนาคต” ที่มุ่งหวังให้งานนี้เป็นงานของทุกคนเพื่ออนาคตที่ดีร่วมกันในอนาคต

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ผู้จัดงานได้จัดพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในช่วงเย็นวันที่ 4 พฤศจิกายน 2021 โดยมี สี จิ้นผิง เป็นประธานในพิธี พร้อมกล่าวเปิดการประชุมด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศหงเฉียว (Hongqiao International Economic Forum) ซึ่งถือเป็นการประชุมระดับสูงภายใต้แนวคิดหลัก “ประโยชน์ระหว่างกัน อนาคตที่แบ่งปันกัน” ในโอกาสครบรอบ 20 ปีการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีน

ท่ามกลางผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีนและต่างชาติจำนวนหลายร้อยคนที่เข้าร่วมพิธีเปิด ณ ศูนย์การประชุมฯ ดังกล่าว ผู้นำจีนได้กล่าวผ่านวิดีโอเรียกร้องความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อการค้าเสรีโลก

“พวกเราต้องยืนหยัดต่อสู้กับการกีดกันทางเศรษฐกิจและลัทธิการครอบงำแต่เพียงผู้เดียว พวกเราจำเป็นต้องลดการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง สร้างประโยชน์สูงสุดจากห่วงโซ่แห่งคุณค่าและห่วงโซ่อุปทานโลก และประสานอุปสงค์ด้านการตลาดเข้าด้วยกัน” สี จิ้นผิง กล่าวในท่อนหนึ่งของการเปิดงาน

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

บนพื้นที่การจัดงานของ NECC รวม 366,000 ตารางเมตร งาน CIIE 2021 ในครั้งนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานกว่า 3,000 รายจาก 127 ประเทศ/ภูมิภาค ในจำนวนนี้ กว่า 80% ของกิจการขนาดใหญ่ใน Fortune 500 และกิจการชั้นนำของโลกที่เข้าร่วมงานในปีที่ผ่านมา กลับมาเข้าร่วมงานในปีนี้

โดยในจำนวนนี้มีบริษัทการประมูลชั้นนำของโลก 3 ราย ธุรกิจแฟชั่นและสินค้าบริโภค 3 อันดับแรกของโลก ผู้ค้าธัญพืชรายใหญ่สุด 4 รายของโลก ผู้ผลิตยานยนต์ 10 ยักษ์ใหญ่ของโลก และบริษัทยาและเครื่องมือแพทย์ 10 อันดับแรกของโลก

บริษัทชั้นนำเหล่านี้ต่างนำเอานวัตกรรมสินค้าและบริการที่น่าสนใจจำนวนมากมาร่วมจัดแสดงภายในงาน จนกลายเป็นว่า นักธุรกิจทั้งจีนและเทศที่อยากสัมผัสและติดตามเทรนด์นวัตกรรมสินค้าและบริการของโลก จะไม่พลาดการเดินทางไปสอดส่องกระแสการเปลี่ยนแปลงภายในงานนี้กัน

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำดีนัก ผู้จัดงานยังออกแบบให้งานในปีนี้เป็นแบบไฮบริด ที่นำเสนอผ่านโลกออฟไลน์และออนไลน์ โดยมี 3 องค์การระหว่างประเทศ และ 58 ประเทศจาก 5 ทวีป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เข้าร่วมกิจกรรมนิทรรศการออนไลน์

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ งาน CIIE ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมจากประเทศตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ยุโรปกลางและตะวันออก และประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความหนักแน่นในการดำเนินนโยบาย BRI และความแนบแน่นของจีนกับประเทศที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

สำหรับผมแล้ว หนึ่งในไฮไลต์ของการจัดงาน CIIE ในปีนี้เห็นจะได้แก่ การเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานโดยรวมได้มีโอกาสใช้เงินหยวนดิจิตัลที่จีนอยู่ระหว่างการทดลองได้ใช้ซื้อหาอาหารและของที่ระลึกภายในงาน แถมยังจูงใจด้วยการให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้เงินหยวนดิจิตัลในการชำระค่าสินค้าและบริการอีกด้วย

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ทั้งนี้ แบงก์ออฟไชน่า (Bank of China) ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์หลักของจีนที่เป็น “ประตู” เชื่อมโยงระหว่างแบงก์ชาติจีนกับประชาชน ยังได้จัดพาวิลเลียนขนาดใหญ่ถึง 6 แห่งภายในงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจในการโหลดแอปฯและสมัครอีวอลเล็ตเงินหยวนดิจิตัล รวมทั้งให้บริการตอบคำถามและให้คำแนะนำแก่ผู้สนใจภายในงานอีกด้วย

จีนวางแผนจะเปิดให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักกีฬา กรรมการ และเจ้าหน้าที่ต่างชาติ ได้มีโอกาสทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในวงกว้างในระหว่างงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว “Beijing 2022” ที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งคาดว่าจะเป็น “กระดานดีด” ให้จีนขยายผลต่อไปในประเทศตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ในอนาคต

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการประชุมที่น่าสนใจอื่น อาทิ ฟอรั่มเดอะบันด์ทางตอนเหนือ (North Bund Forum) ฟอรั่มย่อยระดับสูงเรื่องการปฏิรูปและการเปิดกว้างของผู่ตง จีน และการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง และการประชุมวิชาการของกลุ่ม G60 และวัลเล่ย์นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง 

สำหรับโซนคูหาประเทศของไทย ก็พบว่ามีผู้ประกอบการกว่า 60 รายเข้าร่วมพาวิลเลียนที่จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ของไทย นำเสนอสินค้าเด่นของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอาหาร สินค้าเกษตรทั้งสดและแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องปรุงอาหาร ขนมขบเคี้ยว และธุรกิจบริการ ผ่านนิทรรศการในหลายส่วน

อันได้แก่ อาหารแห่งอนาคต (Future Food) อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในชื่อแพลตฟอร์ม Thaitrade.com ร้านจำหน่ายสินค้าอาหารออนไลน์ของไทยอย่างเป็นทางการในทีมอลล์ (Thailand Food Country Tmall Official Store) และ Thai Select ตรารับรองคุณภาพของธุรกิจบริการของไทย 

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ขณะเดียวกัน หอการค้าไทยในจีน ก็ได้จัดสมาชิกที่มีแบรนด์โดดเด่นเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าภายในงาน CIIE 2021 โดยส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าอาหารและบริการ และสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภค อันได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ทีซีพี (TCP) เจ้าของแบรนด์ “กระทิงแดง” อันโด่งดัง

ธนาคารกสิกรไทย “ศรีตรัง” ผู้ผลิตและจำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ชั้นนำของไทย แพลตฟอร์ม “เฉลิมไทย” เครื่องสำอาง “เรย์” (RAY) “แก้ว” ขนมอบกรอบ ปตท.ออยล์  สุนทรสุนทรี กะทิ “ชาวเกาะ” และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เป็นต้น

นอกจากนี้ หอการค้าไทยในจีนยังมีพื้นที่จัดแสดงสินค้าไทย Thailand Import Pavilion ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณชั้น 2 ของอาคาร Greenland Global Commodity Trading Hub หรือ “G-Hub” ถัดจากสถานที่จัดงาน CIIE ดังกล่าวเพียงไม่กี่ก้าวอีกด้วย 

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

Thailand Import Pavilion แห่งนี้ถูกออกแบบเพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้าไทยที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งเป็นเสมือนการต่อยอดทางการค้าของงาน CIIE บนหลักการ 6+365 วัน กล่าวคือ นอกจากการจัดแสดงและจำหน่าย 6 วันในช่วงระหว่างงานแล้ว 

ผู้ประกอบการยังสามารถนำสินค้าไปจัดแสดงและจำหน่ายในพื้นที่ดังกล่าวได้ตลอด 365 วัน ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ก็จัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักธุรกิจ และดึงดูดนักช้อปมาซื้อหาสินค้าในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภายหลังการปรับโฉมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา Thailand Import Pavilion ก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี โดยเต็มไปด้วยสินค้าชั้นนำของไทยมากมาย อาทิ กระทิงแดง (Redbull) มาม่า (Mama) แก้ว (Keaw) ซุ่ยมามา (Shuimama) หรือสวยมากๆ ในคำไทย นารายา (Naraya) พาซาญ่า (Pasaya) และธรรม (Tham) 

นอกจากนี้ หอการค้าไทยในจีนยังได้จัดแสดงสินค้าดังกล่าวพร้อมสื่อประชาสัมพันธ์และกิจกรรมภายในพาวิลเลียนอีกด้วย ซึ่งช่วยให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ กิจการของไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ก็อาจพิจารณาใช้ Thailand Import Pavilion เป็นหนึ่งในช่องทางลัดที่ดีในการนำเสนอและจัดจำหน่ายสินค้าของท่านเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในพื้นที่ด้านซีกตะวันออกของจีนได้เช่นกัน

เก็บตก China International Import Expo ครั้งที่ 4 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

งาน CIIE ครั้งที่ 4 เป็นอีกปีหนึ่งที่จีนฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และจบลงไปอย่างเรียบง่ายพร้อมด้วยมูลค่าสัญญาการลงนามความร่วมมือทางธุรกิจมหาศาล 

หลายคนต่างกำลังตั้งหน้าตั้งตาคอยเวลาการจัดงาน CIIE ครั้งที่ 5 ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันก่อนการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งสำคัญที่จะพิจารณารับรองการต่อเทอม 3 ของท่านผู้นำจีน ซึ่งทำให้ผมพลอยจินตนาการต่อไปว่า งาน CIIE ครั้งที่ 5 ซึ่งมี "สี จิ้นผิง" เป็นประธาน จะคึกคักและเต็มไปด้วยสีสันยิ่งเป็นแน่ ...


ภาพจาก Reuters

ข่าวแนะนำ