TNN online วิกฤตหนี้สาธารณะของสหรัฐกับทองคำ วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

วิกฤตหนี้สาธารณะของสหรัฐกับทองคำ วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

วิกฤตหนี้สาธารณะของสหรัฐกับทองคำ วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

วิกฤตหนี้สาธารณะของสหรัฐกับทองคำ วิเคราะห์โดย ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง

Gold Bullish และ GOLD BEARISH

Gold Bullish 

  • ความต้องการทองคำจากจีนในปีนี้คาดเพิ่มขึ้น
  • ธนาคารกลางซื้อทองคำในเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้น
  • ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐ

GOLD BEARISH

  • ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าเดิม
  • เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างชัดเจน 
  • การกระจายวัคซีนโควิด-19

วิกฤตหนี้สาธารณะของสหรัฐในปี 2011 ทำให้ทองคำปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์

ในอดีตสหรัฐมีการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะมาแล้ว 98 ครั้ง การเจรจาของสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐเป็นประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอด สำหรับวิกฤตหนี้ของสหรัฐครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2011 และ 2013 

ปี 2011 จากความขัดแย้งของสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยได้ลดอันดับเครดิตระยะยาวของสหรัฐจาก AAA เป็น AA+  ทำให้นักลงทุนเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลออกจากเงินดอลลาร์มาเข้าลงทุนในทองคำจำนวนมาก เป็นปีที่ทองคำปรับขึ้นอย่างร้อนแรงทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 1,911 ดอลลาร์

ปี 2013 เกิดความขัดแย้งของสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐอีกครั้ง จนทำให้สหรัฐต้องปิดทำหน่วยงานราชการบางส่วนไปถึง 16 วัน แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อตลาดการเงินและราคาทองคำมากนัก ไม่เหมือนในปี 2011 ที่ส่งผลบวกต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ  

สหรัฐต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะภายในวันที่ 18 ต.ค.

น่าสนใจในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีได้มีการระงับการใช้เพดานหนี้ 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2019 ซึ่งตอนนั้นสหรัฐมีหนี้อยู่ที่ 22 ล้านล้านดอลลาร์ คงเป็นเพราะมองเห็นความยุ่งยากที่เกิดขึ้นจากการใช้เพดานหนี้ ส่วนประเด็นเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐในสมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดนกลับมาให้ตลาดกังวลในปีนี้ เนื่องจากสภาคองเกรสยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะทั้งที่ใกล้กำหนดเส้นตาย ทำให้นักลงทุนต้องลุ้นว่าสภาคองเกรสจะผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะได้ทันกำหนดก่อนวันที่ 18 ต.ค.หรือไม่ เพื่อไม่ให้สหรัฐต้องผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์  ซึ่งเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐได้แถลงต่อสภาคองเกรส โดยระบุว่าหากสภาคองเกรสล้มเหลวในการเพิ่มเพดานหนี้ จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่สถาบันจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ S&P เตือนว่า ตลาดการเงินอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ และอาจทำให้สหรัฐมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับ D ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด อย่างไรก็ดีคาดว่าในที่สุดแล้วสหรัฐจะเพิ่มเพดานหนี้ได้สำเร็จ ซึ่งในวันพฤหัสที่ผ่านมาวุฒิสภาสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้เป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. โดยจะเพิ่มเพดานหนี้อีก 4.80 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 28.8 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันเพดานหนี้ของสหรัฐอยู่ที่ 28.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในเดือนนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ถูกส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป และคาดการณ์ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว และส่งให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายก่อนกำหนดเส้นตายวันที่ 18 ต.ค. ทำให้ทองคำขาดปัจจัยสนับสนุนและมีแรงเทขายทองคำออกมา

การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในสัปดาห์นี้คาดจะเคลื่อนไหวในกรอบการเคลื่อนไหว 1,737-1,780 ดอลลาร์ สัปดาห์นี้ติดตามการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย. และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอื่นๆ ได้แก่ จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครเดือนส.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดค้าปลีกเดือนก.ย. ดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์กเดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. ซึ่งการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC จะทำให้ทราบมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินในรายละเอียดที่มากขึ้น

ราคาทองคำมีแนวรับที่ 1,745 ดอลลาร์ และ 1,737 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,770 ดอลลาร์ และ 1,780 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 28,000 บาท และ 27,850 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 28,350 บาท และ 28,500 บาท 


วิกฤตหนี้สาธารณะของสหรัฐกับทองคำ วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง
ภาพประกอบ : พีอาร์ฮั่วเซ่งเฮง 

วิกฤตหนี้สาธารณะของสหรัฐกับทองคำ วิเคราะห์โดย ฮั่วเซ่งเฮง

ภาพประกอบ : พีอาร์ฮั่วเซ่งเฮง

ที่มา : กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง

ภาพประกอบ : พีอาร์ฮั่วเซ่งเฮง 

ข่าวแนะนำ