TNN online เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อหลายเดือนก่อน โลกตื่นตะลึงเมื่อจีนทำสถิติของจีนบินโดรนพร้อมกันมากที่สุดในโลกเหนือท้องฟ้าใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ และตามมาด้วยการบินโดรนยาวนานที่สุดในโลกของทีมมหาวิทยาลัยจีน ที่เอาชนะสถิติเดิมที่ Aurora Flight Sciences ของโบอิ้ง (Boeing) ทำเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนไปได้

แถมล่าสุด ในงาน China International Aviation and Aerospace Exhibition ครั้งที่ 13 หรือ “แอร์โชว์ไชน่า” (Airshow China) งานแสดงสินค้าด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กันยายน-3 ตุลาคม 2021 ณ เมืองจูไฮ่ มณฑลกวางตุ้ง ก็มีการนำเสนอโดรนสารพัดรูปแบบ 


เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

งาน Airshow China ภาพจาก Reuters


ผมก็เลยเกิดคำถามว่า เมื่อสินค้าพร้อม ผู้ประกอบการพร้อม และตลาดในจีนพร้อมแล้ว รัฐบาลจีนจะพร้อมผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดตลาดให้โดรนได้ใช้ในเชิงพาณิชย์ระลอกใหม่หรือไม่ อย่างไร ...

จีนถือเป็นประเทศผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยประเมินว่ากว่า 80% ของโดรนที่จำหน่ายในปัจจุบันผลิตจากจีน นอกจากผู้ผลิตโดรนรายใหญ่จำนวนนับร้อยรายในจีนแล้ว ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องรวมนับแสนราย 

อุตสาหกรรมการผลิตโดรนของจีนจึงถือว่าใหญ่มาก โดยมีมูลค่า 67,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 เพิ่มขึ้น 16% ของปี 2019 และไม่เพียงแต่โอกาสทางการธุรกิจจากตลาดในประเทศ แต่ผู้ผลิตของจีนยังมีตลาดต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่ามากรออยู่ ยิ่งโลกยอมรับและเปิดให้โดรนขยายบริการมากเท่าไหร่ ก็สะท้อนว่าอุตสาหกรรมโดรนมีศักยภาพสูงซ่อนอยู่อีกมากในอนาคต

ปัจจุบัน จีนมีผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกอยู่หลายสิบราย กิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุไม่ถึง 10 ปี และกระจุกตัวอยู่ในซีกตะวันออกของจีน โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้ง โดยผู้ผลิตรายใหญ่สุดได้แก่ ต้าเจียงอินโนเวชั่นส์ (Dajiang Innovations) หรือ “DJI” ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา DJI ได้พัฒนาโดรนรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมอย่างสร้างสรรค์อยู่เสมอ DJI ไม่เพียงผลิตโดรนที่มีคุณภาพดีและสอดคล้องกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น โดรนติดตั้งกล้องคุณภาพสูงที่มีน้ำหนักรวมไม่ถึง 250 กรัมเพื่อสามารถใช้งานในจีนและในอีกหลายประเทศทั่วโลกได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียน แต่โดรนแต่ละรุ่นที่ออกสู่ท้องตลาดยังถูกเสนอขายในราคาที่ไม่แพง

ด้วยความสามารถด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ DJI เป็นผู้นำตลาดในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีสัดส่วนตลาดกว่า 70% ของตลาดโลกในปัจจุบัน 

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังมีฐานลูกค้าที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ หลายแห่งอยู่ในมือ อาทิ กองทัพ เอฟบีไอ และกระทรวงกิจการภายใน รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานที่ให้บริการด้านอุบัติภัย 

แม้ว่า DJI จะประสบปัญหาจากการถูกบรรจุเข้าไปบัญชีรายชื่อต้องห้ามด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2020 แต่ก็ถูกปลดล็อกออกจากบัญชีรายชื่อดังกล่าวในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ DJI ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ถึงปีละกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ



เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โดรนจากค่าย DJI ภาพโดย Reuters


ผู้ผลิต 3 อันดับถัดมาได้แก่ ไฮเกรต (High Great) อี้หัง (Ehang) และเซินเจิ้นต้าโม่ต้า (Shenzhen Damoda) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่เน้นการผลิตและทำตลาดโดรนส่วนบุคคลเพื่อการสันทนาการ 

ผู้ผลิตกลุ่มนี้ยังโดดเด่นในธุรกิจบริการแสงสีด้วยโดรน จนชาวจีนให้ฉายาว่าเป็น “บิ๊กทรี” ในวงการนี้ โดยแต่ละรายมีประสบการณ์ในการจัดแสดงแสงสีด้วยโดรนนับ 1,000 ครั้งทั่วโลก และมีฐานลูกค้าเกรดเอเป็นจำนวนมาก อาทิ รัฐบาลจีน มหาวิทยาลัย บิ๊กเทค สถานีโทรทัศน์ และแบรนด์รถยนต์หรู

ไฮไลต์ของกิจกรรมล่าสุดของบริษัทเหล่านี้ ก็ได้แก่ การทำสถิติใช้โดรนมากกว่า 3,000 ตัวแปรขบวนบนท้องฟ้าโฆษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์รถยนต์หรูยี่ห้อ “เจเนซิส” (GENESIS) บริษัทเกมส์ออนไลน์ และงานฉลอง 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ในกรณีของอี้หัง (EHang) ยังมีลักษณะพิเศษอีกบางประการ บริษัทฯ ลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แน็สแด็ค (Nasdaq) นับแต่ปลายปี 2019 และโดดเด่นในการพัฒนาโดรนขนาดใหญ่เพื่อการท่องเที่ยว การดับเพลิง และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย  

นอจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ยังตั้งเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็น “อูเบอร์ลอยฟ้า” บริการแท็กซี่ทางอากาศในอนาคต แถมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้เปิดตัว “โดรนไร้คนขับ” ไปแล้ว และเชื่อว่าจะความฝันดังกล่าวจะเป็นจริงได้ในทันทีที่รัฐบาลจีนให้ไฟเขียวบริการดังกล่าว 


เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โดรนสำหรับขนส่งคนในจีน ภาพโดย Reuters


สำหรับโดรนด้านการทหาร จีนถือเป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลก โดยผู้ผลิตของจีนล้วนเป็นรัฐวิสาหกิจและกำลังเติบใหญ่ในตลาดโลก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนจำหน่ายโดรนด้านการทหารกว่า 220 เครื่องใน 16 ประเทศ อาทิ ไนจีเรีย อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

แม้ว่าตลาดโดรนในต่างประเทศจะมีศักยภาพสูง แต่ก็แฝงไว้ซึ่งความอ่อนไหวจากเทรดวอร์ เทควอร์ และแรงกดดันด้านความมั่นคง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตลาดของโดรนจีนในอนาคต ด้วยปัจจัยดังกล่าว ผู้ผลิตโดรนของจีนจึงต่างรอจังหวะโอกาสใหม่จากการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาด

จากข้อมูลของสำนักงานกิจการการบินแห่งชาติจีน (Civil Aviation Administration of China) ณ สิ้นปี 2020 จีนมีโดรนขึ้นทะเบียนอยู่ 523 ลำ โดรนเหล่านี้มีชั่วโมงบินเพิ่มขึ้นเกือบ 600% เมื่อเทียบกับของปีก่อน ซึ่งสะท้อนว่าอุปสงค์การใช้โดรนในจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยที่โดรนถูกพัฒนาขึ้นหลากรูปแบบและถูกใช้ในหลายวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อการเกษตร การขนส่งสินค้า การขนส่งผู้โดยสาร การออกแบบและก่อสร้าง บันเทิง (ภาพยนตร์ ละคร และเกมส์) และบริการสาธารณะ (อาทิ การสำรวจและตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และดับเพลิง) รวมทั้งด้านการทหาร 

จีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และแตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์ ทำให้โดรนถูกประยุกต์ใช้หลากหลายกันออกไปตามความต้องการใช้งานและสภาพภูมิประเทศ อาทิ การสำรวจและช่วยขนผลผลิตในสวนผลไม้ในมณฑลเจียงซี และการทำฝนเทียมในแถบอีสานจีน

เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โดรนสนับสนุนการช่วยเหลือช่วงโควิด-19 ภาพโดย Reuters


รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งที่พื้นที่ดูแลมีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศ เช่น ภูเขาสูง และทะเลทราย ยังเริ่มทดลองนำเอาโดรนมาใช้ในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ตัวเมืองและการค้าออนไลน์ ซึ่งช่วยนำเสนอผลผลิตที่สดใหม่ในปริมาณที่มากขึ้น และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร

นอกจากนี้ จีนยังได้ใช้โดรนเพื่อการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและดูแลระบบนิเวศในหลายพื้นที่ อาทิ มณฑลกานซู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทะเลทราย เรายังได้เห็นรัฐบาลจีนเริ่มติดตั้งและเชื่อมต่อระบบการประเมินการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเข้ากับโดรนเป็นครั้งแรก 

อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว อุปสงค์การใช้โดรนในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การใช้โดรนในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ยังถูกจำกัดในเชิงพื้นที่และช่วงเวลา (กฎระเบียบการบินโดรนในฮ่องกงและมาเก๊าผ่อนคลายมากกว่า)

หากมองย้อนกลับไปในอดีต รัฐบาลจีนเริ่มออกกฎระเบียบกำกับควบคุมการบินโดรนในจีนที่มีน้ำหนักสุทธิมากกว่า 250 กรัมครั้งแรกเมื่อกลางปี 2017 โดยกำหนดให้โดรนเหล่านั้นต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับ CAAC โดยสามารถกระทำได้ทั้งออฟไลน์และออนไลน์

CAAC ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการบินโดรนในจีนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎระเบียบล่าสุดของ CAAC ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2021 ยึดหลักการและมีเงื่อนไขการใช้โดรนในจีนแผ่นดินใหญ่โดยสรุปได้ ดังนี้

ประการแรก พื้นที่การใช้งาน กฎระเบียบดังกล่าวไม่อนุญาตให้บินใน “No-Fly Zones” (NFCs) ของจีน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่วงในของวงแหวนรอบที่ 6 ของกรุงปักกิ่ง สนามบิน ย่านที่อยู่อาศัยของบุคคลสำคัญ พื้นที่ด้านการทหาร และอาคารสถานที่ของภาครัฐ เช่น เรือนจำ ตลอดจนพื้นที่ที่อ่อนไหวทางการเมือง อาทิ ในทิเบตและซินเจียง 

นอกจากนี้ จีนยังคุมเข้มการบินโดรนในบริเวณใจกลางเมืองใหญ่ และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งในช่วงพิธีการ หรือเทศกาลสำคัญของจีน เพื่อความปลอดภัยและการรักษาสิทธิ์ความเป็นส่วนตัว 

ประการที่ 2 การควบคุมในด้านขนาด โดรนที่มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 250 กรัมสามารถให้บริการฉีดพ่น การถ่ายคลิปและรูปภาพ และการนำร่องฝึกอบรมการใช้โดรนได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียน 

ขณะที่โดรนที่มีน้ำหนักสุทธิมากกว่า 250 กรัมต้องขึ้นทะเบียนกับ CAAC โดยไม่เลือกแหล่งกำเนิดสินค้า โดยผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนต้องนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชื่อเจ้าของ เลขที่บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง หมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่อีเมล์ หมายเลขรุ่นและเครื่องของโดรน และวัตถุประสงค์ของการใช้งาน 

เมื่อผ่านการขึ้นทะเบียนแล้ว เจ้าของจะต้องนำเอาสติ๊กเกอร์ที่มีคิวอาร์โค้ดติดไว้กับโดรนในตำแหน่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

ทั้งนี้ ในกรณีของโดรนที่มีน้ำหนักมากกว่า 7 กิโลกรัม ก็ต้องขอใบอนุญาตพิเศษจาก CAAC ยิ่งโดรนตัวใหญ่ขึ้น ก็มีเงื่อนไขคุณสมบัติและใบอนุญาตของผู้ควบคุมเพิ่มขึ้น

เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โดรนนำ QR Code ให้ผู้ขับขี่สแกนที่ด่านในจีน ภาพจาก Reuters


อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ ผู้ยื่นขอจดทะเบียน และขอรับใบอนุญาตพิเศษที่เป็นชาวต่างชาติอาจมีความไม่สะดวกอยู่บ้าง เพราะเอกสารล้วนเป็นเป็นภาษาจีน (โชคดีที่การขึ้นทะเบียนออนไลน์ในยุคหลังมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษแล้ว) มีหมายเลขโทรศัพท์จีน และแจ้งที่อยู่อีเมล์เพื่อรับหมายเลขยืนยัน และใช้ประโยชน์ในการติดต่อประสานงานอื่น รวมทั้งเอกสารที่ระบุข้อมูลในรายละเอียดของโดรนที่เกี่ยวข้อง

ประการถัดมา ระดับความสูงในการบิน โดรนที่ขึ้นทะเบียนหรือได้รับอนุญาตพิเศษต้องบินที่ระดับความสูงไม่เกิน 120 เมตร ผู้ควบคุมโดรนที่บินในระดับที่สูงกว่าที่กำหนด ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะและได้รับใบอนุญาตพิเศษจาก CAAC

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ โดรนอาจบินไกลจากผู้ควบคุมได้ราว 500 เมตร แต่ต้องอยู่ในระยะสายตาเห็น ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตโดรนในจีนจะติดตั้งระบบจำกัดระดับความสูงของการบินอัตโนมัติ โดยมีสัญญาณเตือนเมื่อผู้ควบคุมพยายามบังคับโดรนให้บินสูงเกินกว่าระดับที่กฎหมายกำหนด

ประการที่ 4 ประเภทของการใช้ กฎระเบียบดังกล่าวเปิดช่องให้สามารถใช้โดรนเพื่อการสันทนาการ และการพาณิชย์ได้ในหลายส่วน แต่ทั้งนี้ ต้องมีประกันภัยบุคคลที่ 3 คุ้มครอง และในกรณีของโดรนเพื่อการพาณิชย์ จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก CAAC เสียก่อน

ประการสุดท้าย สถานภาพผู้จดทะเบียน เจ้าของโดรนเชิงพาณิชย์ต้องเป็นนิติบุคคล และมีตัวแทนตามกฎหมายเป็นประชาชนชาวจีน ประเด็นนี้สะท้อนว่า ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต่างชาติ การพิจารณาอนุญาตอาจจะยุ่งยากและใช้เวลามากขึ้นในทางปฏิบัติ นั่นหมายความว่า ประชาชนทั่วไปสามารถเล่นโดรนขนาดเล็กเพื่อการสันทนาการได้ แต่การใช้โดรนในการขนคนและสินค้าในจีนยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการ

เมื่อท้องนภาถูกโดรนจีนยึดครอง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โดรนสำหรับขนส่งคนในจีน ภาพโดย Reuters


ทั้งนี้ นักวิชาการและนักธุรกิจจีนต่างให้ความเห็นว่า โดยรวมแล้ว กฎระเบียบฉบับล่าสุดได้ผ่อนคลายเงื่อนไขการใช้ และการจดทะเบียนโดรนให้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังเปิดช่องให้ CAAC สามารถเรียกคืนหรือยกเลิกใบอนุญาตการประกอบการได้อีกด้วย โดย CAAC ระดับภูมิภาคจะทำหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีสำหรับผู้ผลิตโดรนของจีน

จากทิศทางแนวโน้มด้านกฎระเบียบของจีนดังกล่าว ผมคาดหวังว่า กฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้โดรนในเชิงพาณิชย์ของจีนจะได้รับการผ่อนคลายมากขึ้นโดยลำดับ นอกจากการใช้โดรนในการขนสินค้าและอื่นๆ ในวงกว้างแล้ว รัฐบาลจีนก็น่าจะผ่อนคลายบริการขนคนในอนาคตอันใกล้ โดยอาจนำร่องให้ใช้กับบริการเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น บริการขนคนไข้ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญหรือทุรกันดาร 

ผมคิดว่า รัฐบาลจีนคงปล่อยให้ต่างชาตินำร่อง “เปิดน่านฟ้า” ให้โดรนขนผู้โดยสารไปก่อน และใช้โอกาสนี้ในการศึกษาเรียนรู้และจัดระเบียบเพื่อสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความมั่นคงในระยะยาวต่อไป แต่ด้วยความเร็วในการพัฒนาของจีน เราอาจไม่ต้องอดใจรอ “ของเล่นใหม่” กันนานนัก

ผมยังเชื่อมั่นอีกว่า ด้วยความพร้อมและศักยภาพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและตลาดภายในประเทศ จีนจะสามารถยึดครองตำแหน่งผู้นำด้านการผลิตโดรนในตลาดโลกได้อย่างเหนียวแน่นไปได้อีกนาน โดรนจีนจะยึดครองท้องฟ้าโลกกันแล้ว ...

ข่าวแนะนำ