TNN online จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบาย "ลูกสามคน" (ตอนที่ 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

อ่านตอนที่ 1 คลิกที่นี่

โครงการหนึ่งที่รัฐบาลจีนพยายามดำเนินการในเวลาต่อมาก็ได้แก่ การจัดตั้งโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์สำหรับแม่และเด็กในหลายมณฑลและมหานคร 

ศูนย์การพยาบาลแม่และเด็กนครกวางโจว (Guangzhou Women and Children's Medical Center) ในมณฑลกวางตุ้งถูกจัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกๆ เมื่อราว 7-8 ปีก่อน แต่ผมขอเรียนว่า จีนไม่ใช่ประเทศแรกๆ ที่จัดตั้งธนาคารน้ำนมแม่ 

ธนาคารน้ำนมแม่แห่งแรกเกิดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อปี 1909 ภายหลังการพัฒนากว่า 100 ปีทำให้เรามีธนาคารน้ำนมแม่ราว 200 แห่งในยุโรป และอีกราว 12 แห่งในอเมริกาเหนือ ขณะที่จีนก็จัดตั้งธนาคารน้ำนมแม่มากกว่า 20 แห่งในหลายเมืองของจีน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ธนาคารน้ำนมแม่จึงถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จีน “เรียนลัด” จากต่างประเทศ โดยก่อนเริ่มก่อตั้งธนาคารน้ำนมแม่แห่งแรกในจีน คณะแพทย์และทีมงานได้เดินทางไปดูงานที่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ แม้ว่าจะมีความชัดเจนถึงความจำเป็นและประสิทธิภาพของการจัดตั้งธนาคารน้ำนมแม่ในจีน แต่การจัดตั้งและดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผลก็ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย

การจัดตั้งธนาคารน้ำนมในยุคแรกติดปัญหาหลายประการ อาทิ จำนวนแม่ที่เข้าร่วมบริจาคน้ำนมที่จำกัด ผลการวิจัยของคณะแพทย์ที่เกี่ยวข้องหลังจากนั้นระบุว่า แม่จำนวนน้อยมากที่ยินดีบริจาคน้ำนมแม่ โดยมีเพียง 25% เท่านั้นที่ยินดีบริจาคน้ำนมส่วนเกิน และมีพ่อแม่เพียง 18% เท่านั้นที่ยอมรับน้ำนมจากการบริจาคไปให้ลูกตนเองบริโภค ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อหน่วยสูง

แม้ว่าทีมงานได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำวิจัยโดยใช้วิธีการสอบถามแบบซึ่งหน้า แต่ผลปรากฏว่า แม่ทุกคนตอบปฏิเสธที่จะบริจาคน้ำนม 

แต่โชคดีที่มีผู้จัดรายการวิทยุท้องถิ่นตัดสินใจบริจาคน้ำนมขวดแรก และช่วยประชาสัมพันธ์โครงการผ่านรายการวิทยุและไมโครบล็อก จนกลายเป็นจุดก่อกำเนิดสู่ความสำเร็จเบื้องต้นของธนาคารน้ำนมแม่ในจีน

จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การบริจาคน้ำนมแม่ได้รับความนิยมขึ้นโดยลำดับในเวลาต่อมา โดยคุณแม่ชาวจีนจำนวนมากนิยมบริจาคน้ำนมที่โรงพยาบาลเด็กในพื้นที่เป็นระยะ เช่น รายสัปดาห์ ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดและปัญหาการขาดน้ำนมของแม่บางคน ทำให้เด็กทารกได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย และผ่านมาตรฐานด้านคุณภาพจากธนาคารน้ำนมแม่

ปัจจุบัน แม่ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการบริจาคน้ำนมได้ใน 2 วิธี โดยวิธีแรกคือ การเดินทางไปให้น้ำนม ณ สถานพยาบาลที่มีข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพของผู้บริจาคอยู่ และวิธีการที่ 2 คือ การส่งน้ำนมแม่ไปยังโรงพยาบาลในโครงการ ซึ่งจะมีทีมบุคลากรทางการแพทย์รวบรวม ตรวจสอบคุณภาพ และติดฉลากที่ระบุข้อมูลผู้บริจาค เวลา ปริมาณการบริจาค และอื่นๆ ก่อนติดบาร์โค้ดเพื่อการสืบค้นย้อนหลัง ก่อนจัดเก็บในห้องแช่แข็ง 

ยกตัวอย่างเช่น ในนครเซี่ยงไฮ้ โรงพยาบาลเด็กแห่งเซี่ยงไฮ้ (Children's Hospital of Shanghai) นับเป็นสถานพยาบาลแห่งแรกที่จัดเก็บน้ำนมแม่ในรูปการแช่แข็งนับแต่ปี 2016 และโรงพยาบาลเด็กแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Children's Hospital of Fudan University) ก็ใช้เวลาเตรียมงานอยู่ราว 3 ปีก่อนเปิดธนาคารน้ำนมแม่ในปี 2017 ทั้งนี้ ธนาคารน้ำนมแม่ถือเป็นบริการสาธารณะที่ผู้รับบริจาคไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ น้ำนมแม่แช่แข็งที่ผ่านการพาสเจอร์ไร้ซ์เรียบร้อยแล้ว จะถูกนำมาใส่ในตู้เย็นที่ระดับอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และนำไปบรรจุในขวดนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ก่อนนำออกไปให้ทารกบริโภค 

อย่างไรก็ดี ธนาคารน้ำนมแม่ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังถือว่าจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการโดยรวมของจีน ขณะที่การบริจาคและการยอมรับในคุณภาพน้ำนมบริจาคก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับศักยภาพที่แท้จริง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากลักษณะบริการที่ทำให้ผู้บริจาคน้ำนมแม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และความยุ่งยากอื่นๆ

เพื่อแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดดังกล่าว โรงพยาบาลแม่และเด็กในแต่ละเมืองก็มีแผนจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งศูนย์รับบริจาคน้ำนมแม่ให้กระจายในหลายพื้นที่ของเมือง พร้อมการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลผู้ให้บริจาค (ระเบียบของธนาคารฯ กำหนดให้ผู้ให้บริจาคทุกคนต้องจัดหาข้อมูลผลการตรวจสอบร่างกายก่อนการบริจาค) 

จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

บริการใหม่ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริจาคได้รับความสะดวก และธนาคารน้ำนมแม่ได้รับซัพพลายน้ำนมเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการน้ำนมของเด็กทารกได้ในวงกว้างมากขึ้น เช่น การขยายบริการแก่เด็กในเซี่ยงไฮ้ไปยังเมืองอื่นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นต้น

มาตรการจูงใจที่ธนาคารน้ำนมแม่มอบให้แก่ผู้บริจาคน้ำนมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจช่วยเพิ่มอุปทานน้ำนมแม่ในจีน แต่ก็ไม่ควรทำให้คุณแม่ใจบุญรู้สึกว่าการบริจาคดังกล่าวเป็นเสมือนการขายน้ำนม ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการดำเนินโครงการได้

นอกเหนือจากการจัดทำแผ่นพับและวิดีโอเพื่อบอกวิธีปฏิบัติที่มีมาตรฐานในการรวบรวม จัดเก็บ ใส่บรรจุภัณฑ์ และฆ่าเชื้อโรคน้ำนมไปยังโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังควรประชาสัมพันธ์โครงการน้ำนมแม่เหล่านี้ผ่านโรงพยาบาลแม่และเด็ก และสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะทำให้เหล่าคุณแม่ทั้งหลายได้รับรู้และเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นในวงกว้าง และไม่ปล่อยให้น้ำนมสูญเปล่า

เพื่อให้นโยบายลูกสามคนที่มีคุณภาพเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลจีนมองอย่างรอบด้าน แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างการจัดตั้งธนาคารน้ำนมแม่ หลายคนแอบฝันว่า จีนจะมีบริการธนาคารน้ำนมแม่ที่ทันสมัย แพร่หลาย และสะดวกคล่องตัวมากที่สุดในโลกในอนาคต ... 

ภาพจาก AFP , Reuters

ข่าวแนะนำ