TNN online จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบาย "ลูกสามคน" (ตอนที่ 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ขณะที่รัฐบาลจีนกำลังเดินหน้าการดำเนินนโยบาย “ลูกสามคน” ด้วยหลายมาตรการด้านการเงิน การคลัง และสังคม เพื่อหวังกระตุ้นให้ครอบครัวจีนมีลูกมากขึ้น และปรับโครงสร้างประชากรในระยะยาว แต่การขาดแคลน “น้ำนมแม่” กลับกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ชาวจีนกำลังถกเถียงกัน รัฐบาลจีนจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนนี้อย่างไรเพื่อมิให้กระทบต่อนโยบายลูกสามคน ... 

เราอาจมีโอกาสรับรู้ว่าผู้หญิงสูงศักดิ์ในรั้วในวังในอดีตว่าจ้างคนรับใช้หญิงที่มีสุขภาพร่างกายและจิตใจดีและควบคุมอาหารอย่างเหมาะสมมาให้นมลูก และยังมีการบันทึกว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มียศถาบรรดาศักดิ์หรือมีฐานะดีในยุคเก่า ดื่มน้ำนมเพื่อหวังประโยชน์ด้านโภชนาการ และหนึ่งในบุคคลที่โด่งดังมากที่สุดก็ได้แก่ พระนางซูสีไทเฮา ที่นิยมดื่มน้ำนมทุกวันเพื่อใบหน้าและผิวพรรณที่อ่อนวัย

ชาวจีนจำนวนมากในยุคปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อในคุณสมบัติด้านสุขภาพของน้ำนมแม่ที่มีมาแต่โบราณกาล จึงมิใช่เรื่องแปลกที่แม่ที่สนิทสนมคุ้นเคยกัน จะแบ่งปันน้ำนมแม่ให้แก่ลูกของกันและกัน

ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่บางส่วนยังเชื่อว่า น้ำนมแม่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสามารถใช้ทาใบหน้าเพื่อลดการเกิดสิวได้ 

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน (National Health Commission) ก็ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของน้ำนมแม่ต่อเด็กทารกอยู่เป็นระยะ โดยในด้านการแพทย์ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดต้องการน้ำนมแม่ที่สดใหม่ เพื่อลดปัญหาและความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร แต่ก็ปฏิเสธความเชื่อมโยงกับความเชื่อด้านคุณประโยชน์ของน้ำนมแม่สำหรับผู้ใหญ่

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังกำหนดว่า น้ำนมแม่ไม่จัดเป็นสินค้าอาหารทั่วไป และห้ามไม่ให้จำหน่ายดังเช่นสินค้าทั่วไป ประการสำคัญ น้ำนมแม่ที่วางจำหน่ายกันในท้องตลาดก็ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กทารก

จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

แต่ดูเหมือนความเชื่อเดิมและข้อจำกัดด้านสุขอนามัยก็ไม่อาจเอาชนะสภาพปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และอื่นๆ ในยุคหลังได้ 

ผลการวิจัยระดับชาติของจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า เพียง 20.8% ของผู้หญิงจีนเท่านั้นที่เลี้ยงลูกที่มีอายุไม่ถึง 6 เดือนด้วยน้ำนมแม่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ระดับ 43% อยู่มาก ทั้งนี้ โดยมีสาเหตุสำคัญจากรอบด้านในหลายประการ อาทิ ระบบและบริการสาธารณสุข ครอบครัว ชุมชน สถานที่ทำงาน และการจ้างงาน มุมมองของแต่ละคนเกี่ยวกับการให้น้ำนมลูก 

งานวิจัยจำนวนมากพบว่า ผู้หญิงเอเชีย ซึ่งรวมทั้งจีน รู้สึกอายที่จะให้น้ำนมลูกในที่สาธารณะ กอปรกับข้อจำกัดของสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ชุมชน อาทิ สถานีรถไฟความเร็วสูง สนามบิน และสวนสาธารณะ รวมทั้งห้างสรรพสินค้า และช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ 

ประการสำคัญ แรงกดดันด้านเศรษฐกิจก็ยังทำให้แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ขณะที่จำนวนวันลาคลอดลูกก็อาจจำกัด ส่งผลให้แม่จีนไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง รวมทั้งการหลงเชื่อในคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทนมผงในจีน

ปัจจุบัน จีนมีจำนวนประชากรคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของโลก และมีทารกเกิดใหม่เพียงราว 12 ล้านคนต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนทารกเกิดใหม่ของโลกที่น้อยมาก 

อย่างไรก็ดี งานวิจัยหนึ่งระบุว่า กว่า 60% ของทารกเกิดใหม่ถูกเลี้ยงด้วยนมผง และเพียง 1 ใน 10 ของแม่จีนที่ให้นมลูกเกิดใหม่ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงหลังการคลอด ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) 

ข้อปฏิบัติดังกล่าวอาจมาจากความเชื่อเดิมๆ ของคนจีนที่ว่า ทารกเกิดใหม่ไม่ควรบริโภคน้ำนมแม่ แม่มือใหม่บางส่วนก็อาจมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ และไม่มีน้ำนมที่มากพอเพื่อป้อนลูกน้อย 

ด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้พ่อแม่ชาวจีนมองหา “นมผง” เป็นทางเลือก จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นยอดขายนมผงในจีนมีสัดส่วนคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของยอดขายรวมของโลก ทำให้จีนเป็นตลาดนมผงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า น้ำนมแม่ถูกปล่อยให้สูญเปล่าไปเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

รัฐบาลจีนได้ออกมาจัดแคมเปญให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวข้องการให้นมลูก การบริโภคน้ำนมแม่ และอื่นๆ แต่ด้วยข้อจำกัดของแม่ในเรื่องการให้นมลูก ทำให้อุปสงค์น้ำนมแม่ไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งทำให้เป็นโอกาสทางธุรกิจของ “คนกลาง” ในการทำตลาดน้ำนมแม่บรรจุถุง 

ยิ่งเมื่อช่องทางการค้าออนไลน์เป็นที่นิยมในจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น้ำนมแม่ก็กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในโลกการค้าออนไลน์ในจีน เราเห็นการโพสต์ขายน้ำนมแม่บรรจุถุงผ่านสื่อสังคมออนไลน์และเวทีชุมชนออนไลน์
จีนพัฒนาธนาคารน้ำนมแม่เสริมนโยบายลูกสามคน (ตอนที่ 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รายงานหนึ่งระบุว่า ผู้หญิงจีนจำนวนหนึ่งโพสต์ข้อมูลการขายน้ำนมแม่ และเมื่อมีลูกค้าเป้าหมายติดต่อไปหา คุณแม่จำเป็นเหล่านี้ก็เสนอขายน้ำนมแม่ผ่านแพล็ตฟอร์มการค้าออนไลน์มากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งบน “เสียนหยู” (Xianyu) แพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจำหน่ายสินค้ามือ 2 หรือ “ไป่ตู้เทียปา” (Baidu Tieba) ชุมชนออนไลน์ยอดนิยมในจีน

เมื่อมีผู้สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติม คุณแม่เหล่านั้นก็จะติดต่อกลับผ่านวีแชต (WeChat) และคิวคิว (QQ) ทั้งนี้ น้ำนมแม่ที่จำหน่ายผ่านแพล็ตฟอร์มเหล่านี้มีราคาเพียงถุงละ 15 หยวน บางรายอาจกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อขั้นต่ำ เช่น จำนวน 5 ถุงขึ้นไป เป็นต้น จนคนจีนบางส่วนรู้สึกว่าน้ำนมแม่เป็นราวกับเป็นสบู่ ยาสระผม เสื้อผ้า หรือสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปอื่น 

อย่างไรก็ดี บางรายก็ยินดีจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้นอย่างมากตามคุณภาพน้ำนมที่ต้องการ ดังนั้น หากผู้ค้ารายใดสามารถจัดหาน้ำนมแม่ที่มีคุณภาพสูงตามคุณสมบัติที่กำหนดได้ ก็อาจสามารถทำเงินได้ระหว่าง 500-2,000 หยวนเลยก็มี

การซื้อหาน้ำนมแม่ที่แพร่หลายมากขึ้นในตลาดจีนได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงความเหมาะสมในหมู่คนจีน เพราะรัฐบาลและชาวจีนส่วนหนึ่งก็กังวลใจว่า น้ำนมเหล่านั้นอาจไม่ได้ถูกดูแลเรื่องการจัดเก็บและการขนส่งอย่างมีมาตรฐาน รวมทั้งยังอาจไม่ใช่น้ำนมแม่ที่แท้จริงอีกด้วย

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว และนโยบายลูกสามคนที่คลอดออกมาใหม่ รัฐบาลจีนจึงพยายามสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานน้ำนมแม่ 

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลจีนยังตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการให้น้ำนมแม่แก่เด็กทารกที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือนเป็น 50% ภายในปี 2020 ซึ่งกดดันการดำเนินงานของรัฐบาลจีนมากขึ้น 

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการเชิงรุกมากมาย อาทิ ความริเริ่มโรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับเด็ก (Baby Friendly Hospital Initiative) กฎหมายป้องกันด้านสุขภาพแก่แม่และเด็ก โปรแกรมการเรียนรู้การให้นมแม่ และการสนับสนุนด้านสังคม

ภาพจาก AFP , Reuters

ข่าวแนะนำ