TNN เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อเดือนก่อน เพื่อนสื่อมวลชนของผมส่งข่าวเกี่ยวกับ “ถนนจรวด” มาให้ผม และแสดงความสนใจอยากให้ผมหาเวลาจัดคณะผู้ประกอบการไทยที่สนใจไปเยี่ยมชมและสัมผัสความรุดหน้าของถนนแห่งนี้กันในอนาคต 


ผมอ่านดูแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นกับโครงการนี้ไปด้วย แต่เนื่องจากผมยังไม่มีคิวไปเยือนปักกิ่งในช่วงนี้ ผมก็เลยขอให้ทีมงานหอการค้าไทยในจีนแวะไปส่องและรวบรวมข้อมูล “ถนนจรวด” แห่งนี้เพื่อนำข้อมูลดีที่สดใหม่มาแชร์กับท่านผู้อ่านกันในวันนี้ครับ ... 


การบินและอวกาศนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลจีนในยุคหลังให้ความสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้ สัญญาณเชิงบวกของอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีนเริ่มก่อตัวในปี 2015 เมื่อรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ


ต่อมา รัฐบาลจีนก็เริ่มกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศและเป็นพื้นฐานของนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต โดยปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย Made in China 2025 และแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 และ 14


ศักยภาพเชิงพาณิชย์ของอุตสาหกรรมดังกล่าวทำให้เราเห็นจีนส่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2023 จีนส่งดาวเทียวเข้าสู่วงโคจรโลกถึง 270 ดวง และในจำนวนนี้ ราว 65% เป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์

ขณะเดียวกัน ความเอาจริงเอาจังของจีนยังปรากฎผ่านการถูกหยิบยกเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักในหลายเวทีงานนิทรรศการและการประชุมสำคัญของจีนในระยะหลังจวบจนปัจจุบัน 


ในการประชุมคณะทำงานกลางด้านเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนธันวาคม 2023 ที่ประชุมได้เน้นย้ําถึงความสําคัญใน “การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์” ว่าเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “กำลังการผลิตคุณภาพใหม่” (New-Quality Productive Forces)


หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนยังแสดง “บทบาทนำ” ในการเป็นเจ้าภาพหลักเชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมประชุมหารือในงาน “จงกวนชุนฟอรั่ม 2024” (Zhongguanchun Forum 2024) ที่มาพร้อมกับงานนิทรรศการ “Business Aerospace” เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง ที่สะท้อนถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ของภาคเอกชนที่ชัดเจน 


โดยในงานสัมมนาดังกล่าว หลายบริษัทได้นำเสนอแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างคึกคัก ยกตัวอย่างเช่น Landspace ประกาศจะส่งมอบจรวดรุ่นใหม่ “SQ-3” ขึ้นสู่ห้วงอวกาศจำนวน 4 ครั้งในปีนี้ และอีก 9 ครั้งในปี 2025 


จรวดรุ่นดังกล่าวเป็นเจนใหม่ของรุ่น “ZQ-2” ซึ่งเป็นจรวดขนส่งก๊าซออกซิเจนเหลวและก๊าซมีเทนเหลวลำแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการบรรทุกดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรโลกเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2023 ขณะเดียวกัน จรวดรุ่นนี้ยังเป็นจรวจที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและประหยัดทรัพยากรของโลกได้เป็นอันมาก


นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญของภาครัฐและเอกชนมาร่วมกัน “ระดมสมอง” และจัดทำ “พิมพ์เขียว” ของการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ โดยส่วนหนึ่งของพิมพ์เขียวระบุว่า ถนนจรวดถูกออกแบบให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องอย่างพร้อมสรรพ อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ศูนย์การผลิตอัจฉริยะระดับไฮเอนด์ ห้องโถงนิทรรศการเชิงโต้ตอบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอื่นๆ 


สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศที่จะช่วยดึงดูดโครงการลงทุนคุณภาพสูงจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ และส่งเสริมระบบนิเวศการทํางานร่วมกันด้านนวัตกรรมอบย่างครอบคลุม อันจะนำไปสู่การ

เปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจดิจิตัลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอวกาศในชีวิตประจำวัน


จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นจีนส่งดาวเทียมถึง 270 ดวงขึ้นสู่อวกาศในปี 2023 ในจำนวนนี้ ราว 65% เป็นดาวเทียมเชิงพาณิชย์ 


ผู้เชี่ยวชาญของคนในวงการต่างคาดการณ์ว่า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของจีนในปี 2024 จะเติบโตในอัตราเร่ง โดยจีนคาดว่าจะมีดาวเทียมเชิงพาณิชย์มากกว่า 1,200 ดวงในวงโคจรภายใน 5 ปี


และเมื่อกลางปี 2024 รัฐบาลจีนก็แสดงให้เห็นถึง “ความเป็นรูปธรรม” ของการดำเนินนโยบาย “การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์” พร้อมสร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้คนในวงการดังกล่าวด้วยการเปิดแถลงข่าวโครงการ “ถนนจรวดแห่งกรุงปักกิ่ง” (Beijing Rocket Street) 


ถนนจรวดตั้งอยู่ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปักกิ่ง (Beijing Economic-Technological Development Area) ภายใต้การกำกับดูแลของ “ปักกิ่งอีทาวน์” (Beijing E-Town) 


แต่ก่อนจะไปคุยเรื่องถนนจรวดในรายละเอียด ผมขอแวะไปพูดคุยเกี่ยวกับ “ปักกิ่งอีทาวน์” ซะหน่อยเพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงการใช้องค์กรภาครัฐในการผลักดันนโยบายสำคัญของจีน


ปักกิ่งอีทาวน์ก่อตั้งเมื่อปี 1994 หรือ 30 ปีที่แล้ว โดยเป็นองค์กรพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลเทศบาลกรุงปักกิ่ง ซึ่งถูกออกแบบเพื่อทำหน้าที่รองรับและส่งเสริมการผลิตที่มีเทคโนโลยีระดับสูงในกรุงปักกิ่ง


ต่อมา ปักกิ่งอีทาวน์ได้ลงทุนพัฒนา “สวนอุตสาหกรรม” ในชื่อ “พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปักกิ่ง” และตามมาด้วยการจัดตั้ง “E-Town Capital” และ “E-Town International Industrial Investment Management” ขึ้น


สององค์กรหลังนี้มีหน้าที่หลักในการจัดการการลงทุนที่มีแหล่งสินทรัพย์ข้ามพรมแดน การลงทุนของกองทุนเอกชน และการร่วมลงทุนทางอุตสาหกรรม รวมทั้งการจัดการการเงินด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการสร้างฐานนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ 


โดยที่องค์กรเหล่านี้มีระบบและทีมงานบริหารจัดการการลงทุนที่เป็นมืออาชีพและยึดมั่นในแนวทางในการให้บริการการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ช่วยสร้างเวทีการลงทุนที่เสริมพลังอุตสาหกรรมบนพื้นฐานด้านการตลาดและการเพิ่มคุณค่าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม


นั่นเท่ากับว่า การดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้บูรณาการประสิทธิภาพทางการตลาดของสถาบันการลงทุนและองค์กรที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศได้อย่างลึกซึ้ง 


ด้วยการจัดการที่ยอดเยี่ยม เบ็ดเสร็จ และรอบด้านดังกล่าว ก็ทำให้องค์กรเหล่านี้กลายเป็น “เครื่องยนต์ทุน” ที่สนับสนุนการสร้างและพัฒนาเมืองและเขตพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและได้รับรางวัลมากมาย อาทิ “สถาบันการลงทุนของรัฐที่ดีที่สุดของปี 2023” ส่งผลให้พื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจฯ ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญสำหรับนวัตกรรมและการผลิตไฮเทคส่วนใหญ่ในปักกิ่งในปัจจุบัน


ผมขอพาท่านผู้อ่านไปเจาะลึกเกี่ยวกับ “ถนนจรวด” ต่อในตอนหน้าครับ ...




ภาพจาก AFP (แฟ้มภาพ)

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง