จีนเปิดตัวระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวเครือข่ายใหญ่สุดในโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
จีนเปิดตัวระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวเครือข่ายใหญ่สุดในโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
คุยกันต่อเลยว่าระบบตรวจจับสัญญาณและเตือนภัยล่วงหน้า (EEWS) ของจีนพัฒนาในด้านอื่นไปถึงกันแล้วครับ ...
นอกจากความสามารถเตือนภัยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ EEWS ยังทำให้จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้
ยกตัวอย่างเช่น ขนาด 2.5 ริกเตอร์หรือสูงกว่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และขนาด 2.0 ริกเตอร์ขึ้นไปในด้านซีกตะวันออกของจีน รวมทั้งขนาด 1.0 ริกเตอร์หรือสูงกว่าในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากร อาทิ ย่านเมืองหลวง “คอไก่” และสามเหลี่ยมปากแม่น้ําแยงซีเกียง “อกไก่” ของจีน
ภายใต้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย EEWS สามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนระลอกแรกของแผ่นดินไหวและแจ้งเตือนผู้คนล่วงหน้าผ่านเซ็นเซอร์และใช้ดาวเทียมสื่อสารที่แตกต่างกัน อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ แอพมือถือ และสื่อสังคมออนไลน์ในวงกว้างโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ ระบบเตือนภัยล่วงหน้ายังถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกับแหล่งชุมชน โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอํานวยความสะดวกสําคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ โรงไฟฟ้า ท่อส่งน้ํามัน และเขื่อน รวมทั้งโรงเรียน และหมู่บ้าน ซึ่งช่วยป้องกันความเสียหายระหว่างเกิดแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น ด้วยระบบดังกล่าว สมาร์ทโฟนในพื้นที่รอบนอกของศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะส่งเสียงไซเรนและแสดงคําเตือนการนับถอยหลังแบบเต็มหน้าจอถึงแรงสั่นสะเทือนจากคลื่นแผ่นดินไหวที่ใกล้เข้ามา
โดยปกติแล้ว คลื่นลูกแรกมักจะไม่รุนแรงและมีผลกระทบค่อนข้างจํากัด แต่ก็เป็นตัวกําหนดคลื่นลูกที่ทรงพลังที่สุดต่อไป ข้อมูลคลื่นลูกแรกจึงนับว่ามีความสำคัญในหลายส่วน
ระบบนี้ทํางานโดยอาศัยสัญญาณวิทยุที่แพร่กระจายด้วยความเร็วแสง ซึ่งเร็วกว่าคลื่นแผ่นดินไหว และในทางปฏิบัติ อัลกอริทึมจะทำหน้าที่ค้นหาตําแหน่งและความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ศูนย์ประมวลผลข้อมูลจะแจ้งเตือนไปยังเมืองต่างๆ แบบอัตโนมัติ
ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ “ยิ่งเร็วยิ่งดี” นับเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะทุกวินาทีล้วนมีค่าหากเจ้าหน้าที่สามารถรับรู้ล่วงหน้าเตรียมความพร้อมและตอบสนองอย่างรวดเร็ว
ไม่ว่าจะเป็นการอพยพผู้คน การปกป้องโครงสร้างพื้นฐาน และการหยุดบริการสาธารณะฉุกเฉินแบบอัตโนมัติสำหรับรถไฟความเร็วสูง การปิดท่อส่งก๊าซ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องมือที่มีความแม่นยํา หรือแม้กระทั่งลิฟท์ตามอาคารสูง
อันที่จริง อุปกรณ์หลังนี้ถูกพัฒนาโดยสํานักงานแผ่นดินไหวมณฑลหูเป่ย (Hubei Earthquake Administration) ที่คิดค้นเครื่องมือที่ออกแบบให้สามารถหยุดลิฟต์ในชั้นที่ใกล้ที่สุดภายหลังได้รับสัญญาณเตือนแผ่นดินไหวจากสถานีตรวจจับ
ปัจจุบัน อุปกรณ์ดังกล่าวถูกนำไปติดตั้งในลิฟต์ตามอาคารสูงหลายแห่งหูเป่ย อานฮุย และมณฑลอื่นของจีน
ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่ได้รับจากการประมวลผลก็จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนแก้ไขปัญหาวิกฤติที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยระบบสามารถสร้างแผนที่การกระจายตัวของความสั่นสะเทือนได้ภายใน 5-10 นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหว
EEWS อาจช่วยให้ผู้ประสบภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายและอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้
ในด้านความเร็ว ระบบการแจ้งเตือนภัยได้พัฒนาความสามารถไปมากจนอยู่ในอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและเม็กซิโก จากการใช้เวลา 2-3 นาทีจากการรายงานของ China Earthquake Networks Center ในอดีต เหลือไม่ถึง 1 นาทีของ CEA ในระยะหลัง
ระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังสามารถรายงานการเกิดแผ่นดินไหวระลอกแรกภายในเวลา 7 วินาทีในพื้นที่ที่อ่อนไหว ขณะที่การแจ้งเตือนจะอยู่ระหว่าง 10-30 วินาทีในพื้นที่ทั่วไป ซึ่งจัดได้ว่าระบบมีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล
ผู้เชี่ยวชาญของจีนประเมินว่า ความสามารถในการเตือนภัยล่วงหน้าจนถึงระดับ 60 วินาทีจะช่วยลดอัตราการสูญเสียชีวิตได้ถึง 30% จีนจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการเพิ่ม “อัตราความเร็ว” ในการแจ้งเตือน
จีนยังไมหยุดเพียงแค่นั้น โดยพยายาม “บูรณาการ” ข้อมูลแผ่นดินไหวแบบเรียลไทม์ ต่อเนื่อง และเชื่อถือได้เข้ากับเทคโนโลยีอื่น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า และคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อไปใช้ในการคิดค้นนวัตกรรมใน “แผ่นดินไหววิทยาแบบเรียลไทม์”
จีนมองว่า การบูรณาการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพิ่มความสามารถในการตรวจสอบและเตือนภัยล่วงหน้า และยกระดับการป้องกันความเสี่ยงได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ จีนยัง “ต่อยอด” เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาในด้านอื่นและนำไป “ขยายผล” การใช้งานทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การก่อสร้างและพัฒนาบริการของรถไฟความเร็วสูง อาทิ เส้นทางจาการ์ตา-บันดุง (Jakarta-Bandung) ในอินโดนีเซีย
เพื่อความสมบูรณ์ที่มากขึ้น จีนยังคงตั้งใจที่จะเดินหน้าปรับแต่งระบบเพื่อเพิ่มความแม่นยําและความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ต่อไป และส่งออกเทคโนโลยีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากขึ้นในอนาคต
ผมคิดว่า มวลมนุษยชาติต้องการเครือข่ายเตือนภัยล่วงหน้า “ระดับโลก” ที่ต่อยอดและขยายผลมากยิ่งขึ้นในอนาคต สิ่งนี้จะช่วยป้องกันความสูญเสีย ลดความเสี่ยง และผลกระทบอื่นจากแผ่นดินไหวในวงกว้าง
นั่นหมายความว่า ประชาคมโลกอาจสามารถเรียนลัดและขอความร่วมมือจากจีนและประเทศชั้นนำอื่นในการแบ่งปันประสบการณ์และเทคโนโลยีในการสร้าง EEWS ซึ่งอาจช่วยรักษาและยืดอายุ “เผ่าพันธุ์” มนุษย์บนโลกใบสีฟ้านี้เอาไว้อีกนานเท่านาน ...
ภาพจาก: AFP