TNN เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ที่ผ่านมา เราพูดถึงการคิดค้นและต่อยอดนวัตกรรมการสวอปแบตค้างไว้ แต่การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ของจีนยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง วันนี้ ผมเลยขอขยายความต่อในเรื่องนี้กันครับ ...


ภายหลังการทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีการสลับแบตอย่างสอดประสานกันระหว่างภาครัฐและเอกชนของจีน ก็ทำให้สถานีสลับแบตในจีนเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว


ข้อมูลหนึ่งระบุว่า ณ สิ้นปี 2023 สถานีสลับแบตในจีนมีจำนวนเกือบ 3,570 แห่ง และก้าวขึ้นเป็นผู้นำการสลับแบตของโลก ในจำนวนนี้ กว่า 65% ดําเนินการโดย Nio ซึ่งเปิดเผยข้อมูลเมื่อกลางเดือนมีนาคมว่า บริษัทได้ให้บริการสลับแบตไปแล้ว 40 ล้านครั้ง เทียบกับการชาร์จที่สถานีสาธารณะเกือบ 37 ล้านครั้ง 


ทั้งนี้ ปัจจุบัน ราว 20% ของสถานีสลับแบตเหล่านี้ผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้ว (จุดคุ้มทุนอยู่ที่เฉลี่ย 60 คันต่อวัน) และมีอัตราความคุ้มทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


นอกจากนี้ ด้วยแนวคิด “อุปทานรออุปสงค์” และชิงเอาประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดก่อนเพื่อยึดครองทำเลที่เหมาะสม Nio ยังมีแผนเพิ่มสถานีสลับแบตเพิ่มขึ้นอีก 1,000 แห่งในปี 2024


นอกจากการเป็นผู้บุกเบิกและผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีและขยายเครือข่ายสถานีสลับแบตในจีนแล้ว ผมยังสังเกตเห็น Nio พยายามขยายความร่วมมือออกไปจับมือกับผู้ผลิต EV หลายรายในจีนเพื่อส่งเสริมการสลับแบตและร่วมพัฒนาแบตรุ่นที่เข้ากันได้กับเทคโนโลยี ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงข่ายเสาชาร์ตและอื่นๆ


ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 Nio ได้ประกาศร่วมมือกับผู้ผลิต EV อย่างน้อย 4 รายพัฒนามาตรฐานการสลับแบตและขยายเครือข่ายในจีน 


ได้แก่ Changan ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ Ford ที่คาดว่าจะมียอดขาย EV สูงถึง 1.2 ล้านคันในปี 2025 ขณะที่ Geely ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนตัวรายใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นเจ้าของหลายแบรนด์ (อาทิ Volvo และ Polestar) รวมทั้ง Chery และ JAC ก็เข้าร่วมจับมือด้วยเช่นกัน


นอกจากนี้ ในปี 2024 Nio ยังประกาศความร่วมมือในบริการสลับแบตและอื่นๆ กับบริษัทแบตเตอรี่ของจีน โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ CATL ผู้ผลิตแบตรายใหญ่สุดของโลก ที่มุ่งพัฒนาแบตที่มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแบตที่ใช้ในสถานีบริการสลับแบต


ต่อมา Nio ยังเปิดเผยถึงการต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าว โดยนำไปประสานกับบิ๊กดาต้า (Big Data) ซึ่งช่วยให้สามารถรักษาความจุกระแสไฟฟ้าของแบตได้ถึง 80% หลังจากใช้งานมา 12 ปี


ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยแขนกลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการสลับแบตลดลงโดยลำดับ จากมากกว่า 5 นาทีในยุคแรกเหลือราว 3 นาทีเมื่อ 2 ปีก่อน แต่สถิติดังกล่าวก็ถูกทำลายลงอีกครั้งในปี 2024


โดยเมื่อต้นปี 2024 การไฟฟ้า (State Grid) ของมณฑลเจียงซูได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในการจัดตั้งเขตสาธิตการชาร์จ EV อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสลับแบตแห่งแรกของจีนที่ผมเคยเกริ่นไปในตอนก่อน โดยศูนย์บริการสลับแบตใช้เวลาเพียง 80 วินาที หรือไม่ถึงนาทีครึ่งในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เรียกว่าเร็วยิ่งกว่าการเติมน้ำมันเต็มถังเสียอีก


ด้วยพัฒนาการที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ผู้บริโภคเริ่มตระหนักดีถึงความสำคัญของ “ความประหยัดเวลา” และ “ความสะดวก” ในการสลับแบต จนกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผู้บริโภคในจีนเลือกซื้อ Nio และแบรนด์ EV อื่นที่มีบริการสลับแบตเหนือคู่แข่งรายอื่น เพราะมีแพ็กเก็จให้เลือกมากขึ้น


ยกตัวอย่างเช่น เมื่อซื้อรถ Nio ลูกค้าสามารถเลือกเป็นเจ้าของแบตหรือเพียงแค่สมัครใช้บริการเช่าแบต (Battery as a Service: BaaS) ในราคา 12,720 หยวนต่อปี หากลูกค้าเลือกที่จะไม่เป็นเจ้าของแบต ราคาซื้อจะลดลงถึงราว 70,000 หยวน 


ท่านผู้อ่านก็อาจเกิดคำถามตามมาว่า แล้วการใช้บริการสลับแบตแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ปัจจุบัน บริการอยู่ที่ระหว่าง 80-100 หยวนต่อครั้ง หากสมมุติว่าเจ้าของ EV ใช้บริการสลับแบตเฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง ค่าใช้จ่ายก็ตกเพียง 5,000 หยวนต่อปีเท่านั้น


นอกจากนี้ แบตที่ชํารุดหรือเสียหายก็ถือเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่เจ้าของ EV เลือกที่จะใช้บริการนี้ นอกเหนือจากการประหยัดเวลาในการชาร์จแล้ว การสลับแบตจะลดความเสี่ยงจาก “ความเสื่อม” และ “ความล้าสมัย” ของแบต ทําให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนเป็นแบตเจนใหม่ได้เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า


สิ่งนี้ช่วยลดต้นทุนของ EV โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของ EV หลายคัน อาทิ กิจการแท็กซี่ ผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถซื้อ EV จํานวนมากพร้อมบริการเช่าแบตในราคาที่ถูกลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดําเนินงานลงได้อย่างมาก


เมื่อต้นปี 2024 CATL และ Didi พี่ใหญ่แห่งวงการแท๊กซี่เรียกผ่านแอพของจีน ยังได้ประกาศความร่วมมือผ่านการเปิดตัวบริการสลับแบตที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสถานีสลับแบตแก่ฝูงแท๊กซี่ EV ในเครือข่าย


หลายฝ่ายเชื่อว่า บริการนี้จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในจีน โดยรายงานหนึ่งประเมินว่า โมเดลการสลับแบตคาดว่าจะมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ของตลาด EV ภายในปี 2025

เมื่อจีนลดข้อจำกัดแบตเตอรี่ EV ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก reuters

อย่างไรก็ดี แนวทางความร่วมมือดังกล่าวยังอาจประสบปัญหาในระดับระหว่างประเทศที่ผู้ผลิต EV ชั้นนำบางรายอาจต้องการใช้แบต ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่แพงที่สุดของ EV ในการสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์เพื่อผลในด้านการตลาด 


อนาคตของบริการสลับแบตก็ขึ้นอยู่กับการขยายวงของมาตรฐานอุตสาหกรรมในระดับสากล ความแพร่หลายของ EV จีนจึงไม่เพียงจะส่งเสริมการส่งออก EV และชิ้นส่วนเท่านั้น แต่ยังจะเป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีสลับแบตสู่ตลาดโลกอีกด้วย 


หากจีนพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ EV ได้รุดหน้าและรวดเร็วเช่นนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนจะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรม EV โลกในอนาคตอันใกล้ 


การกีดกันทางการค้าผ่านการขึ้นอากรนำเข้าของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอื่นๆ คงเป็นเพียงการชะลอการขยายตลาด EV จีนในตลาดที่เกี่ยวข้องได้เพียงสั้นๆ เท่านั้น


มองออกไปในทศวรรษหน้า เราน่าจะเห็นอุตสาหกรรม EV จีนสยายปีกในตลาดโลกผ่านการส่งออกและการลงทุนด้านการผลิตในห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรม อาทิ แบตคุณภาพสูง แท่นซุปเปอร์ชาร์ตเจอร์ และเทคโนโลยีการรีไซเคิ้ลแบตเก่า รวมทั้งขยายบริการที่เกี่ยวข้องในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการสลับแบต


เราคงต้องมาจับตามองกันว่าจะมีแบรนด์ EV ไหนเข้ามาบุกตลาดไทยอีก และนวัตกรรมไหนบ้างที่จะเข้ามาให้ผู้ที่หลงใหลใน EV ของไทยได้ลิ้มลองกันก่อนครับ ...




ภาพจาก reuters

ข่าวแนะนำ