เมื่อมังกรติดปีกด้วยระบบการประมวลผลยุคดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรติดปีกด้วยระบบการประมวลผลยุคดิจิตัล โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
นับวันโลกจะแข่งขันกันด้วย “ความเร็ว” มากขึ้นทุกขณะ ยิ่งพอเราเข้าสู่โลกดิจิตัล ระบบการประมวลผลก็เป็นอีก “เวที” หนึ่งที่นานาประเทศให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านความรวดเร็ว อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อจีนประกาศยกระดับความเร็วในระบบการประมวลผล ...
ในช่วง 2-3 ปีหลัง เราเห็นรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินแคมเปญสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับจีน พร้อมออกสารพัดมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่เรื่องการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ การพัฒนาซุปเปอร์คอมพิวเตอร์และเอไอ รวมไปถึงการขึ้นบัญชีดำกิจการไฮเทคของจีนและควบคุมการส่งออกอุปกรณ์การผลิตชิปของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร
ท่ามกลางความท้าทายของสงครามเทคโนโลยีดังกล่าว จีนเองก็มิอาจจะอยู่เฉยได้ นอกเหนือจากการแสดงจุดยืนคัดค้านมาตรการกีดกันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรมาโดยตลอด จีนยังพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงของตนเองขึ้นมาทาบชั้น
บางโครงการเปลี่ยนบ้านเปลี่ยนเมืองในจีนไปเลยมี ยกตัวอย่างเช่น กุ้ยโจว ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นมณฑลที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ก็ถูกยกระดับเป็น “เมืองไฮเทค” โดยได้รับมอบหมายให้จัดตั้งศูนย์บิ๊กดาต้าเพื่อขับเคลื่อนอินเทอร์เน็ตของประเทศ และเชื่อมโยงกับพันธมิตรในท้องถิ่นเพื่อให้บริการผู้ใช้ในประเทศในช่วงหลายปีก่อน

นอกจากนี้ เรายังเห็นจีนปล่อยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็นรถไร้คนขับ รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า และอื่นๆ แต่เรื่องที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ก็ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งกำลังกลายเป็น “ตัวชี้วัด” ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยในช่วงหยุดยาววันชาติจีนปี 2023 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการประกาศเป้าหมายใหม่ที่จะเพิ่มพลังการประมวลผลรวมของประเทศมากกว่า 50% ภายในปี 2025 หรือในอีก 2 ปีเศษข้างหน้า
สิ่งนี้สะท้อนว่า รัฐบาลจีนตระหนักถึงความสําคัญอย่างมากกับนวัตกรรมซุปเปอร์คอมพิวติ้งและปัญญาประดิษฐ์ โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ใกล้เคียงกับของสหรัฐฯ ให้เร็วขึ้น
ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญจีนระบุว่า ในปี 2022 อุตสาหกรรมนี้ของจีนมีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านหยวน หรือเกือบ 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว รัฐบาลจีนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 6 แห่ง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ministry of Industry and Information Technology) กระทรวงศึกษาธิการ และแบ้งค์ออฟไชน่า ร่วมกันบูรณาการ
MIIT หนึ่งในหน่วยงานหลักตามพันธิกิจนี้ ได้กําหนดเป้าหมายสําหรับพลังการประมวลผลทั้งหมดของจีนที่จะถึง 300 EFLOPS (หน่วยของความเร็วของระบบคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผล 1,000 ล้านครั้งต่อวินาที) ภายในปี 2025
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ MIIT ระบุว่า พลังการประมวลผลของจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 180 EFLOPS ในปี 2022 เป็นถึง 197 EFLOPS ในเดือนสิงหาคม 2023 แต่ยังคงเป็นอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐฯ
สถาบันวิจัยด้าน ICT แห่งชาติจีน (China Academy of Information and Communications Technology) ได้ประเมินไว้ว่า พลังการประมวลผลของสหรัฐฯ อยู่ที่ 200 EFLOPS เมื่อปี 2022 และเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2023

ขณะเดียวกัน จีนก็ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังการประมวลผลของ AI จากราว 25% ของพลังการประมวลผลโดยรวมในปี 2022 เป็น 35% ภายในปี 2025
แต่โดยที่ AI ต้องการการประมวลผลข้อมูลจํานวนมาก ดังนั้น การเพิ่มพลังการประมวลผลให้อยู่ในระดับโลกจึงกลายเป็นหัวใจที่จีนให้ความสำคัญระดับสูงเพื่อบรรลุเป้าหมานความเป็นผู้นําด้าน AI
อย่างไรก็ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จีนจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศที่ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนพลังการประมวลผลข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล และความจุเครือข่ายในยุคของเศรษฐกิจดิจิตัล
แหล่งข่าวระบุว่า ปี 2022 จีนได้เปิดตัวโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งศูนย์กลางการประมวลผลระดับชาติ 8 แห่งซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่ด้านซีกตะวันตกของจีน และคลัสเตอร์ศูนย์ข้อมูลระดับชาติอีก 10 แห่งเพื่ออํานวยความสะดวกในการเข้าถึงพลังการประมวลผล
โดยจีนได้ตั้งเป้าหมายว่าความจุการจัดเก็บข้อมูลของประเทศจะเกิน 1,800 เอ็กซาไบต์ (Exabytes) หรือ 1,000 ล้านกิ๊กกาไบต์ (Gigabytes) ภายในปี 2025
ด้วยเป้าหมายตามแผนงานดังกล่าว ผมประเมินว่า จีนจะสร้างศูนย์ประมวลผลอัจฉริยะอีกภึง 20 แห่งในราว 2 ปีข้างหน้า!
ขณะเดียวกัน ด้วยความใหญ่และทรงพลัง รัฐบาลจีนจึงมีแผนขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตัลเพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบใหญ่ของเศรษฐกิจดิจิตัลที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และปรับโครงสร้างและเติมพลังใหม่ให้กับการพัฒนาคุณภาพสูงแก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของจีน
แน่นอนว่าในยุคปัจจุบันและอนาคต พลังการประมวลผลนับเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจดิจิตัล ผู้เชี่ยวชาญจีนกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “จีนวางแผนจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการบูรณาการภาคอุตสาหกรรม และป้องกันและเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานผ่านการพัฒนาทางออกที่ควยคุมได้และส่งเสริมการใช้ซอฟท์แวร์ที่น่าเชื่อถือของจีน”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ทุกหยวนที่ลงทุนในพลังการประมวลผลจะส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 3-4 หยวน นั่นหมายความว่า จีนในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ กำลังได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิตัลส่วนนี้อีก 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีเลยทีเดียว
อีกตัวอย่างหนึ่งของการลงทุนใหญ่ก็ได้แก่ ไชน่าโมบาย (China Mobile) ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน ที่ประกาศวางแผนลงทุนสร้างศูนย์คอมพิวเตอร์ AI ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการเห็น “พลังการประมวลผลเป็นเรื่องธรรมดาและใช้งานง่ายเหมือนน้ําและไฟฟ้า”
ขณะเดียวกัน จีนก็วางแผนปรับปรุงความเร็วและประสิทธิภาพของเครือข่ายการประมวลผล โดยพยายามลดเวลาแฝงในการส่งข้อมูลระหว่างสิ่งอํานวยความสะดวกด้านคอมพิวเตอร์หลักไม่ให้มากกว่า 5 มิลลิวินาที
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างประเมินว่า ยังเป็นเรื่องยากที่จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในเรื่องพลังการประมวลผลภายในปี 2025 ส่วนหนึ่งเนื่องจากข้อจำกัดที่จีนไม่สามารถจัดหาเครื่องประมวลผลไฮเอนด์ได้
เห็นแล้วก็ต้องยอมรับว่า ในยุคหลังโควิด จีนยังคงพัฒนาแบบ “วิ่งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่” และยิ่งในยุค AI ก็ดูเหมือนจีนจะติดปีกบินด้วย “ความเร็วแสง” เลยทีเดียวครับ ...
ภาพจาก AFP