เมื่อมังกรท้าชนตลาดน่านฟ้าโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
เมื่อมังกรท้าชนตลาดน่านฟ้าโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินข่าวความสำเร็จในการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ของจีนมาบ้างก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุด จีนฉลองเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ที่ผ่านมาพร้อมกับข่าวยอดคำสั่งซื้อเครื่องบิน C919 มากกว่า 1,000 ลำ จีนทำได้อย่างไร ใครจอง และอุตสาหกรรมการบินของจีนจะเป็นเช่นไรในอนาคต ...
เครื่องบิน C919 ถือเป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่จีนพัฒนาขึ้นโดย Commercial Aircraft Corp of China, Ltd. หรือที่เราเรียกในชื่อย่อว่า “โคแม็ก” (COMAC)
COMAC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 19,000 ล้านหยวน รัฐวิสาหกิจแห่งนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตผู่ตง ย่านเมืองใหม่ของนครเซี่ยงไฮ้ ใครผ่านเข้าออกไปสนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตง ก็อาจสังเกตเห็นพื้นที่อาคารของ COMAC ขนาดใหญ่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมทางด่วนที่เชื่อมระหว่างตัวเมืองผู่ตงกับสนามบิน
มาถึงวันนี้ COMAC ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่หวังให้ “เครื่องบินขนาดใหญ่ที่ผลิตในจีนโบยบินบนท้องฟ้าสีคราม” ได้พัฒนาเครื่องบินออกสู่ตลาดแล้ว 2 รุ่น อันได้แก่ ARJ21 และ C919
ARJ21 ถือเป็นเครื่องบินเจ็ตระดับภูมิภาค (Advanced Regional Jet) ขนาดเล็ก ถ้าใช้บริการเครื่องบินพ่ณิชย์ก็รองรับผู้โดยสารได้ไม่ถึง 100 ที่นั่ง และมีระยะทางการบิน 3,700 กิโลเมตร
เครื่องต้นแบบของรุ่น ARJ21 ถูกเปิดตัวเมื่อปลายปี 2007 และเริ่มทดลองบินเที่ยวแรกในราว 1 ปีต่อมา หลังจากนั้น Chengdu Airlines ก็เป็นสายการบินรายแรกที่นำเครื่องรุ่นนั้ไปให้บริการเชิงพาณิชย์นับแต่ปี 2015 ตามด้วยออเดอร์สั่งซื้อของธุรกิจการบินและอื่นๆ ส่งผลให้มียอดสั่งซื้อไปใช้งานรวมกว่า 110 ลำแล้ว
นอกจากนี้ COMAC ยังได้รับคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้อยู่ในมืออีกถึง 775 ลําเพื่อนำไปใช้ในการขนส่งสินค้า เที่ยวบินธุรกิจ กู้ภัยฉุกเฉิน และวัตถุประสงค์อื่นๆ ขณะที่ลูกค้าต่างประเทศรายแรกก็ได้แก่ อินโดนีเซีย
ขณะที่เครื่องบินรุ่น C919 ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เป็นเครื่องบินแบบลำตัวแคบที่ใช้อลูมิเนียมอัลลอยเป็นวัสดุหลัก มีขนาดที่นั่งสูงสุดถึงเกือบ 200 ที่นั่ง และระยะทางการบิน 5,550 กิโลเมตร โดยโปรแกรมการพัฒนาถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2008 และเริ่มผลิตเมื่อปลายปี 2011
เครื่องบินต้นแบบลําแรกออกจากสายการผลิตในเซี่ยงไฮ้เมื่อปลายปี 2015 และประสบความสำเร็จในการบินครั้งแรกในปี 2017
ในปี 2021 China Eastern Airlines สายการบินหลักของจีนแห่งเซี่ยงไฮ้ ได้สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ล็อตแรกจำนวน 5 ลํา จนถึงปัจจุบัน COMAC ได้ส่งมอบเครื่องบินไปก่อนหน้านี้แล้ว 2 ลำ และเริ่มทดลองให้บริการเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในเส้นทางเซี่ยงไฮ้-ปักกิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่ตลาดการบินพลเรือนอย่างเป็นทางการ
เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา China Eastern Airlines ก็ยังได้ขยายบริการไปยังเส้นทางเซี่ยงไฮ้-เฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทั้งนี้ /ณ สิ้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา สายการบินดังกล่าวได้ให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์รวมกว่า 300 เที่ยว โดยบรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 35,000 คน
นอกจากนี้ สายการบินดังกล่าวจะได้รับมอบเครื่องบิน C919 ลําที่ 3 ในเดือนตุลาคมของปีนี้ และคาดว่าจะถูกใช้ในบริการเส้นทางใหม่ในจีนภายในกลางปี 2024
ไทม์ไลน์การพัฒนาเครื่องบินของ COMAC
เปิดตัวโครงการ | เผยโฉมต้นแบบ | ทดลองบิน | เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ | |
ARJ21 | ปี 2002 | ปี 2007 | ปี 2008 | ปี 2015 |
C919 | ปี 2008 | ปี 2015 | ปี 2017 | ปี 2023 |
มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจนึกสงสัยว่า ทำไมจีนซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงงานของโลก” จึงพึ่งเริ่มผลิตเครื่องบินเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ทำให้มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้นที่สร้างเครื่องบินของตนเองได้ในปัจจุบัน
โดยที่ “นกเหล็ก” มีลักษณะเฉพาะหลายประการ อาทิ มีโครงสร้างที่แข็งแรง ทำให้มีน้ำหนักมาก จึงต้องมีเครื่องยนต์ที่ทรงพลังมากพอที่จะต้านแรงดึงดูดของโลกและระบบพลศาสตร์การบินที่มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด และอื่นๆ ผู้ผลิตจึงต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค ขณะเดียวกัน โดยที่อุตสาหกรรมการบินอยู่ในการควบคุมของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ทำให้การผลิตเครื่องบินมีปัญหาอุปสรรคอื่นซ่อนอยู่
อาทิ ข้อกําหนดด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด และเงื่อนไขและขั้นตอนการขออนุญาต รวมทั้งการมีปัจจัยการผลิตที่พร้อมสรรพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐที่เป็นระบบ จริงจัง และต่อเนื่อง ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่อาจพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานขึ้นมาได้ แต่โชคดีที่จีนมีปัจจัยเชิงบวกหลายประการที่หาได้ยากในประเทศอื่น
นอกจากนี้ ด้วยขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ที่ใหญ่และจำนวนประชากรที่มาก รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จีนจึงเป็นตลาดการบินพลเรือนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง คนในวงการต่างคาดการณ์กันว่า จีนจะก้าวขึ้นเป็นตลาดการบินพลเรือนที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2041
โดยในช่วงปี 2022-2041 ตลาดการบินพลเรือนของจีนจะได้รับเครื่องบินใหม่ถึงเกือบ 9,300 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินเจ็ทไลเนอร์แบบช่องทางเดินเดียวเกือบ 6,300 ลํา แน่นอนว่า COMAC จะเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักที่คว้าเค้กก้อนใหญ่นี้
ในงานประชุมนวัตกรรมผู่เจียง (Pujiang Innovation Forum) ณ นครเซี่ยงไฮ้เมื่อปลายเดือนกันยายน ที่ผ่านมา เหอ ตงเฟิง (He Dongfeng) ประธาน COMAC ได้สร้างความฮือฮาด้วยการเปิดเผยข้อมูล ว่า บริษัทฯ “ได้รับคําสั่งซื้อเครื่องบิน C919 ที่พัฒนาขึ้นในจีนเป็นจํานวนถึง 1,061 ลํา” ซึ่งถือเป็นคําสั่งซื้อในครั้งเดียวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาสําหรับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่พัฒนาโดยจีน
ด้วยคําสั่งซื้อจํานวนมากดังกล่าว COMAC วางแผนจะผลิตและจัดส่ง C919 เป็นชุดตั้งแต่ปี 2024-2031 ซึ่งจะทำให้เครื่องบิน C919 ถูกใช้ในหลายเส้นทางและมีความถี่สูงมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญในวงการประเมินว่า จากนี้ไป COMAC มีภาระงานสำคัญรออยู่ในหลายส่วน โดยจะต้องสร้างระบบสนับสนุนด้านเทคนิคการบินคุณภาพสูงแบบเรียลไทม์ และขยายออกไปทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อให้มั่นว่า C919 จะสามารถให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้อย่างราบรื่น
ขณะเดียวกัน COMAC ก็ยังให้คำมั่นว่าจะยังคงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไปแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ เช่น ความมั่นคงด้านการบินทั่วโลกและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและความร่วมมือแบบเปิดเพื่อจัดการกับความท้าทายกับซัพพลายเออร์ทั่วโลก
ผมมองว่า ก่อกำเนิดและพัฒนาการของ COMAC นับเป็นการจุดประกาย “เส้นทาง” การส่งเสริมนวัตกรรม และช่วยลดการพึ่งพาสินค้าและเทคโนโลยีของต่างชาติ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สื่อหลักของจีนระบุว่า ราว 40% ของส่วนประกอบถูกนําเข้าจากซัพพลายเออร์ในอเมริกาเหนือและยุโรป (ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสัดส่วนที่แท้จริงสูงกว่านั้นมาก)
ขณะเดียวกัน การดําเนินงานเชิงพาณิชย์ของเครื่องบินรุ่น C919 จะขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการบินของจีนและภูมิภาคไปอย่างรวดเร็วผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวัสดุการบิน การออกแบบ การตลาด และบริการหลังการขายในวงกว้าง
เราเห็นบริษัทฯ ได้นําวัสดุใหม่ อาทิ โลหะผสมและคาร์บอนไฟเบอร์ ประสานรวมเข้ากับระบบพลังงานที่ทันสมัย และเทคโนโลยีซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่เชี่ยวชาญด้วยระดับความปลอดภัยที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของนโยบาย Made in China 2025 อย่างเป็นรูปธรรม
โครงการเครื่องบินขนาดใหญ่นี้ยังจะมีส่วนช่วยในการยกระดับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมของภาคการบินพลเรือน และยกระดับห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่แห่งคุณค่าด้านการบินระหว่างประเทศในระยะยาว
นอกจากเครื่องบิน 2 รุ่นดังกล่าว COMAC ยังอยู่ระหว่างการออกแบบและพัฒนาเครื่องบินต้นแบบรุ่น C929 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างขนาด 250-320 ที่นั่ง และบินได้ระยะไกลถึง 12,000 กิโลเมตรด้วยเครื่องยนต์เจ็ตคู่
เดิมที การพัฒนาเครื่องบินรุ่นนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง COMAC กับ United Aircraft Corporation (UAC) ของรัสเซีย แต่หลังจากที่รัสเซียถูกสหรัฐฯ และพันธมิตรแซงชั่นทางเศรษฐกิจภายหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนอุบัติขึ้น ดูเหมือนโครงการนี้ทำท่าจะหยุดชะงักลง แต่จีนก็ไม่ยอมลดละ โดยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนได้ประกาศเดินหน้าพัฒนาเครื่องบินรุ่นนี้แต่เพียงผู้เดียว
ผมประเมินว่า แม้ว่า “เส้นทาง” การพัฒนานี้จะยังอีกยาวไกล แต่การเปิดตัวเครื่องบินรุ่นนี้ในอนาคตจะเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาวงการการบินจีน จึงคาดว่ารัฐบาลจีนจะสนับสนุน COMAC อย่างเต็มที่
ถึงวันนั้น COMAC จะขยับสถานะขึ้นเป็นคู่แข่งสำคัญของ Airbus และ Boeing ในหลายรุ่นเครื่องบิน ซึ่งจะเป็นเสมือนตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ที่จีนจะก้าวขึ้นท้าชนสหรัฐฯ และยุโรปในเวทีตลาดการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศในไม่กี่ปีข้างหน้า
นี่จะเป็นอีกหนึ่งเวทีการแข่งขันระหว่างจีนกับชาติตะวันตกที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ...
ภาพจาก : AFP