เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 9) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 9) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
มาคุยกันต่อเลยว่า นอกจากสินค้านวัตกรรมดังกล่าวแล้ว เฉิงตูยังเป็นแหล่งผลิตสินค้านวัตกรรมที่ท่านผู้อ่านอาจ “ร้องว้าว” ในประเภทใดอีก ...
ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์ เฉิงตูก็มีความโดดเด่นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตุลาคม 2022 GE Healthcare China ซึ่งเป็นสาขาของ General Electric แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคเฉิงตูในโครงการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ชั้นสูงที่ “เมืองไบโอนานาชาติเทียนฝู” (Tianfu International Bio-Town) ในนครเฉิงตู
โครงการนี้ครอบคลุม 4 ส่วนสำคัญ ตั้งแต่การถ่ายภาพทางการแพทย์ อัลตาซาวด์ การดูแลรักษาสุขภาพ และการวินิจฉัยทางเภสัชกรรม ซึ่งเป็นการ “ต่อยอด” การพัฒนาศูนย์นวัตกรรมจีอีประจำประเทศจีน (GE China Innovation Center) ซึ่งเป็นศูนย์นวัตกรรมร่วมของลูกค้าทั่วโลกแห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 และกลายเป็นแพล็ตฟอร์มสำคัญของ GE Healthcare China ในช่วงกว่าทศวรรตที่ผ่านมา
การลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือและความไว้วางใจระหว่างบริษัทฯ กับรัฐบาลท้องถิ่นในหลายส่วน อาทิ นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นสูง รวมทั้งการก่อสร้างศูนย์บริการสมัยใหม่
สิ่งนี้เปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองต่อนโยบายและแผนปฏิบัติการ “Healthy Sichuan” ของรัฐบาลท้องถิ่น และส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมกว่า 300 บริษัทในพื้นที่ รวมทั้งยกระดับบริการสาธารณะผ่านกลุ่มสินค้าและบริการทางการแพทย์ชั้นสูงที่ครบวงจรและสอดรับกับความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น
โดยบริษัทฯ สามารถใช้ประโยชน์จาก “ศูนย์บริการลูกค้าแบบสั่งการทางไกล” ซึ่งช่วยส่งเสริมกิจกรรมด้านนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางและซีกตะวันตกของจีน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่ากล่าวถึงก็ได้แก่ การพัฒนาคลัสเตอร์การผลิต “ระบบอัตโนมัติและดิจิตัล” โดยกิจการชั้นนำของโลกในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
ในฟอรั่มเศรษฐกิจดิจิตัลซีเมนส์ (Siemens Digital Economy Forum) ที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง ผู้ผลิตสัญชาติเยอรมนีนี้ยังได้ประกาศที่จะขยายการลงทุนในฐานการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยในเฉิงตูเพื่อขยายความสามารถด้านการวิจัย การพัฒนา และการผลิตในระบบอัตโนมัติและดิจิตัล และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนและชาวโลก
โรงงานแห่งใหม่นี้นับเป็นโรงงานที่ 4 ของบริษัทฯ โดยตั้งอยู่ด้านตะวันตกของพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งนครเฉิงตู (Chengdu Hi-Tech Industrial Development Zone) ใช้เงินลงทุน 1,100 ล้านหยวน และคาดว่าจะก่อให้เกิดการว่าจ้างแรงงานคุณภาพราว 400 ตำแหน่ง รวมทั้งยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่แห่งคุณค่าของบริษัทฯ และเครือข่ายในจีน
ซีเมนส์ยังเชื่อมั่นว่า ระบบดิจิตัลที่ล้ำสมัยจะลดระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงผลิตภาพ และสร้างประโยชน์สูงสุดจากวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ในด้านต้นทุน
การลงทุนที่ต่อเนื่องดังกล่าวยังจะมีส่วนช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายการปรับโครงสร้างด้านดิจิตัลและเติมพลังแก่การพัฒนาคุณภาพสูงตามนโยบายของรัฐบาลจีนอีกด้วย
ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เราอาจเห็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ที่เคยกระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองด้านซีกตะวันออก ได้กระจายตัวสู่พื้นที่ด้านซีกตะวันตกของจีนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตรถยนต์ FAW-Volkswagen ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งเฉิงตู (Chengdu Economic and Technological Development Zone) ที่ติดตั้งหุ่นยนต์และอุปกรณ์การผลิตอัตโนมัติอย่างพร้อมสรรพ
แต่เฉิงตูก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น แต่ได้รับเอานวัตกรรมแห่งโลกอนาคตเข้ามาพัฒนาพัฒนาในพื้นที่แล้วเช่นกัน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา เฉิงตูก็พึ่งเปิดตัวรถยนต์ไร้คนขับ (Unmanned Vehicles) ระดับ L4 และโชว์การทดสอบในเขตพัฒนาเศรษฐกิจฯ ไปแล้ว
รถไร้คนขับนี้ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ที่มีระบบเซนเซอร์มากมาย อาทิ เรดาร์แบบเลเซอร์หลายระดับชั้น เรดาร์ตรวจจับจุดบอด เรดาร์คลื่นที่มีแม่นยำสูง รวมทั้งกล้องคุณภาพสูงรอบคัน ซึ่งเป็นเสมือนประสาทสัมผัสของมนุษย์ที่ล้ำสมัย ทำให้สามารถสื่อสารและรับรู้สภาพแวดล้อมจากทุกทิศทาง วางแผนเส้นทาง และควบคุมการเดินทางได้อย่างดีเยี่ยม
แต่การใช้รถยนต์ไร้คนขับของเฉิงตูเจนใหม่นี้จะต้องถูกนำไปทดสอบเพิ่มเติมในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางโค้ง ทางแยก ทางด่วน ถนนในเมือง สะพาน และอุโมงค์ เพื่อให้มั่นใจว่ารถไร้คนขับนี้ “ฉลาดและปลอดภัย” กว่าการใช้รถทั่วไปและรถยนต์ไร้คนขับรุ่นที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Aerofugia ผู้ผลิตยานยนต์บินระดับต่ำ (Low-Altitude Flying Car) ของเฉิงตู ยังได้เปิดตัวรถบินได้รุ่น AE220 ที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีของตนเองแบบ 100% อีกด้วย
แม้จะไม่ใช่รุ่นแรกที่เปิดตัวในจีน แต่รถบินรุ่นดังกล่าวนับเป็นรถบินไฟฟ้าขึ้นลงแนวดิ่งที่ใหญ่สุดในโลก โดยมีความสูง 3.5 เมตร ยาว 9.5 เมตร และกว้างสุดปีกสองด้าน 14 เมตร ซึ่งก สามารถรองรับคนขับ 1 คน และผู้โดยสารอีก 4 คน และบินได้ระยะทางไกลถึง 200-300 กิโลเมตรด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การใช้พลังงานทางเลือก ยังทำให้รถบินได้นี้เงียบและประหยัดขณะขับขี่ รวมทั้งสะดวกในการใช้งาน เพราะไม่ต้องอาศัยพื้นที่รันเวย์ขนาดใหญ่
ประการสำคัญ ผู้ประกอบการยุคใหม่เหล่านี้คิดเสมอว่า ตลาดจีนเป็นเพียง “ทางผ่าน” ไปสู่ตลาดโลกที่ใหญ่กว่าหลายเท่าตัว การประสบความสำเร็จในตลาดจีน จึงเป็นเพียง “เงื่อนไขขั้นพื้นฐาน” สำหรับความสำเร็จของนวัตกรรมของจีนในเวทีระหว่างประเทศ
ในกรณีนี้ ผู้ประกอบการในเฉิงตูจึงไม่ได้มองเพียงการจับตลาดในมณฑลหรือประเทศเท่านั้น แต่ยังถูกกระตุ้นให้พยายามเอาประโยชน์จากตลาดต่างประเทศอีกด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราสังเกตเห็นว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนของหัวเมืองน้อยใหญ่ในมณฑลเสฉวนก็ยกขบวนมาเยือนไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
นี่เป็นเสมือน “กองทัพมด” ชั้นดีที่ออกไปสำรวจตลาด แนะนำสินค้าและบริการ และแสวงหาลู่ทางความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในต่างประเทศในยุคหลังโควิด
ประการสำคัญ ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในระดับมณฑลหรือมหานครเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในวงกว้างทั่วจีน
ในกรณีของเฉิงตู รัฐบาลก็ไม่ได้จำกัดการพัฒนาอยู่ในนครเฉิงตูเท่านั้น แต่พยายามขยายความเจริญไปยังเมืองข้างเคียง เพราะอาจตระหนักดีว่า การพัฒนาที่กระจุกตัวขัดกับแนวคิดของระบอบสังคมนิยมและยังอาจนำไปสู่ปัญหาและข้อจำกัดในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
หนึ่งในโครงการใหญ่ก็ได้แก่ การสร้าง “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ” แห่งใหม่ผ่านการเชื่อมเฉิงตู-เหม่ยซาน-จือหยาง ที่ผมพึ่งรับทราบในโอกาสต้อนรับคณะผู้บริหารจากมณฑลเสฉวนเมื่อไม่นานมานี้
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพ เหม่ยซานเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ ขณะที่จือหยางตั้งอยู่ด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของเฉิงตู สองเมืองหลังนี้มีขนาดใกล้เคียงกับเฉิงตู สามเมืองดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากกันราว 80 กิโลเมตรเศษ นั่นเท่ากับว่า มณฑลเสฉวนเดินหน้าพัฒนากลุ่มเมืองย่อย และสร้างระเบียงเศรษฐกิจและฐานการผลิตที่ใหญ่ขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในเวลาเดียวกัน
ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การกระจายความเจริญที่เชื่อมต่อกับมหานครฉงชิ่ง ซึ่งตั้งอยู่ด้านซีกตะวันออกของมณฑลเสฉวน และการลงทุนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในพื้นที่ใหม่เป็นจำนวนมากในอนาคต
การดำเนินโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเขตการค้าเสรีนําร่องเสฉวน-ฉงชิ่ง เพื่อเสริมสร้าง “เศรษฐกิจไข่แดงแฝด” ในระยะยาว ประเด็นนี้น่าสนใจและต้องคุยกันยาวหน่อย ผมเลยขอทดไว้คุยกันต่อในตอนหน้า
ขณะเดียวกัน ภาพการพัฒนาฐานการผลิตล้ำสมัยเหล่านี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองหลักของจีนอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้นเท่านั้น เพราะหากเราเดินทางไปสำรวจแหล่งผลิตตามหัวเมืองรองของจีนในระยะหลัง อาทิ เทียนจิน หังโจว หนานจิง ซูโจว อู่ฮั่น ชิงเต่า จี่หนาน ต้าเหลียน และตงก่วน ก็จะพบว่า เมืองน้อยใหญ่เหล่านี้ต่างพยายามพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของ “โรงงานแห่งโลกอนาคต”
และคลอดสินค้านวัตกรรมจากในพื้นที่ของตนเองด้วยกันทั้งสิ้น ส่งผลให้สภาพตลาดในจีนเต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการ “ฝีกปรือวิทยายุทธ” ให้แก่กล้าก่อนก้าวออกไปแข่งขันในเวทีโลก
การพัฒนาโรงงานอัตโนมัติและนวัตกรรมดังกล่าวของจีนจะนำไปสู่โอกาสใหม่มากมายมหาศาลในระยะยาว เราจะมีโอกาสเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในไทยบ้างหรือไม่ในอนาคต ...
ภาพจาก AFP