TNN online จีนสานต่อโมเดลการพัฒนากลุ่มเมือง...เดินหน้าเชื่อมหัวเมืองในปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

จีนสานต่อโมเดลการพัฒนากลุ่มเมือง...เดินหน้าเชื่อมหัวเมืองในปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนสานต่อโมเดลการพัฒนากลุ่มเมือง...เดินหน้าเชื่อมหัวเมืองในปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนสานต่อโมเดลการพัฒนากลุ่มเมือง ... เดินหน้าเชื่อมหัวเมืองในปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

การพัฒนากลุ่มเมืองถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในยุคหลังโควิด-19 ในบรรดา 7 อรหันต์ของคณะกรมการเมืองถาวรชุดใหม่ก็มีถึง 3 ท่านที่ผ่านงานการกำกับควบคุมนโยบายกลุ่มเมืองต้นแบบของจีน อันได้แก่ “จิงจินจี้” ในบริเวณคอไก่ทางตอนบนของจีน “ปากแม่น้ำแยงซีเกียง” ในบริเวณอกไก่ และ “Greater Bay Area” ในแถบท้องไก่

วันนี้ผมจะชวนคุยเรื่องโครงการเชื่อมเซี่ยงไฮ้กับหัวเมืองในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง ... 

เมื่อไม่กี่วันก่อนมีข่าวว่า โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้-ซูโจว (Shanghai-Suzhou) ที่ถูกออกแบบเพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้สาย 11 เข้ากับเส้นทางรถไฟใต้ดินซูโจวสาย 11 กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย และจะเริ่มทดสอบการเดินขบวนในวันที่ 1 มีนาคมศกนี้ 



จีนสานต่อโมเดลการพัฒนากลุ่มเมือง...เดินหน้าเชื่อมหัวเมืองในปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพประกอบข่าว รอยเตอร์

 

 


เมื่อกล่าวถึงเมืองซูโจว ก็ถือว่าเป็นเสมือน “สวนหลังบ้าน” ของเซี่ยงไฮ้ในอดีต แต่ปัจจุบันก้าวขึ้นเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลเจียงซู (Jiangsu) และมีชื่อเสียงทั้งในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ 

เวลาชาวต่างชาติสนใจจะเดินทางไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้กับบริษัททัวร์ในยุคก่อนก็มักมีแพ็กเก็จเซี่ยงไฮ้-หังโจว-ซูโจว ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการกระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในย่านนั้น ออกมาให้เลือกเสมอ

ปัจจุบัน ซูโจวมีรถไฟใต้ดินให้บริการ 6 สาย อันได้แก่ สาย 1, 2, 3, 4, 5 และส่วนต่อขยายของสาย 4 โดย “สายเอส 1” (Line S1) ถือเป็นสายแรกของซูโจว ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปลายปี 2018 และเป็นสายแรกที่ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติทั้งระบบสายแรกของจีน 

นอกจากนี้ พิมพ์เขียวของการรถไฟชุมชนเมืองซูโจวยังระบุว่า รัฐบาลซูโจวมีแผนจะขยายเส้นทางรถไฟใต้ดินไปจนถึง 15 สายรวมระยะทาง 768 กิโลเมตรในอนาคต

เพื่อลดความสับสนในการใช้บริการเส้นทางรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้-ซูโจว รถไฟสายเอส 1 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “รถไฟใต้ดินซูโจวสาย 11” และให้บริการระหว่างสถานีเหวยถิง (Weiting) ในสวนอุตสาหกรรมซูโจว (Suzhou Industrial Park) ในด้านซีกตะวันอกของตัวเมืองซูโจว และพาดยาวตรงมาทางทิศตะวันออกก่อนเลี้ยวลงใต้สู่ย่านฮวาเฉียว (Huaqiao) ในเขตคุนซาน (Kunshan) 

ผู้อ่านที่คุ้นเคยกับพื้นที่ในย่านนี้จะทราบดีว่า คุนซานเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนจากเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันในยุคแรกภายหลังการเปิดประเทศในบริเวณแนวตะเข็บใกล้นครเซี่ยงไฮ้ จนเกิดเป็นชุมชนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว


จีนสานต่อโมเดลการพัฒนากลุ่มเมือง...เดินหน้าเชื่อมหัวเมืองในปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพประกอบข่าว รอยเตอร์

 

 


รถไฟสายดังกล่าวเป็นแบบรางคู่ มีระยะทาง 41.25 กิโลเมตร โดยมีจุดจอดทั้งสิ้น 28 สถานี และจะให้บริการ 4-6 โบกี้ด้วยความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เทียบกับความเร็วเฉลี่ยของรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้ที่ให้บริการอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) แถมยังมีจุดตัดกับรถไฟใต้ดินซูโจวสาย 3 ที่วิ่งพาดผ่านตัวเมืองซูโจว

เพื่อรักษาความสง่างามและมรดกของเมืองน้ำเจียงหนาน (Jiangnan Water Town) อันโด่งดัง รถไฟใต้ดินซูโจวสาย 11 ที่เป็นรถไฟใต้ดินสายแรกของซูโจว จะใช้โทนสีดำ-ขาว-เทา และตกแต่งเป็นส่วนๆ ด้วยสีเขียว เหลืองและน้ำเงิน ของหิน ต้นไม้ และสายน้ำ ตามลำดับ 

ในส่วนของท่อนเซี่ยงไฮ้ รถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้สาย 11 ได้เริ่มเปิดให้บริการนับแต่ปลายปี 2009 และขยายเส้นทางไปถึงสถานีหัวเฉียวในเขตคุนซาน (ซึ่งอยู่เขตอาณาของเมืองซูโจว) เมื่อปี 2013 โดยพาดผ่านชุมชนสำคัญของเซี่ยงไฮ้ อาทิ สถานีรถไฟหงเฉียว (Hongqiao) เขตผู่ตง สวีหุ่ย (Xuhui) และหมิ่นหัง (Minhang) และลากยาวไปสุดสาย 11 ที่สถานีรถไฟตะวันออกเซี่ยงไฮ้ ซึ่งอยู่ใกล้สนามบินระหว่างประเทศผู่ตง และดีสนีย์แลนด์รีสอร์ต ด้านซีกตะวันออกของเซี่ยงไฮ้ 


จีนสานต่อโมเดลการพัฒนากลุ่มเมือง...เดินหน้าเชื่อมหัวเมืองในปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพประกอบข่าว รอยเตอร์

 


ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการรถไฟใต้ดินสายเซี่ยงไฮ้-ซูโจว สามารถเปลี่ยนรถไฟที่สถานีหัวเฉียว (Huaqiao) ด้านซีกตะวันตกของเซี่ยงไฮ้ นั่นหมายความว่า คนในซูโจวและพื้นที่ใกล้เคียงสามารถมาเที่ยวตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ และดีสนีย์แลนด์เซี่ยงไฮ้ หรือหิ้วกระเป๋าไปต่อเครื่องบินที่สนามบินผู่ตงมาเที่ยวเมืองไทยได้ทุกเมื่อ

เสน่ห์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของเส้นทางรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้-ซูโจวนี้ก็คือ การวิ่งผ่านทะเลสาบหยางเฉิง (Yangcheng) แหล่งเลี้ยงปูขน (Hairy Crabs) ชื่อดังของจีน นั่นหมายความว่า ท่านผู้อ่านที่นิยมชมชอบรสชาติของปูขนสามารถบินไปลงที่เซี่ยงไฮ้และขึ้นรถไฟใต้ดินต่อไปยังสถานีทะเลสาบหยางเฉิงตะวันออกได้อย่างสะดวก ขณะเดียวกัน เน็ตติเซนจีนรายหนึ่งเขียนไว้อย่างน่าคิดว่า “มันคงสนุกสนานไม่น้อยที่จะได้ลิ้มรสปูขนในรถไฟใต้ดิน” 

เมื่อการเชื่อมต่อแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแก่สาธารณชน เส้นทางนี้ก็จะกลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนของทั้งสองเมือง นอกเหนือจากทางด่วนและรถไฟความเร็วสูงที่มีจุดจอดจำกัด ส่งผลให้ผู้คนในพื้นที่จะสามารถเดินทางระหว่างกันที่มีจุดจอดสำคัญมากมายได้ด้วยความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่าย 

นอกเหนือจากโครงการดังกล่าว รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานีรถไฟซงเจียง (Songjiang) ซึ่งตั้งอยู่ในด้านซีกตะวันตกของเซี่ยงไฮ้ครั้งใหญ่ สถานีแห่งนี้จะกลายเป็นหนึ่งในจุดจอดของรถไฟความเร็วสูงสายเซี่ยงไฮ้-ซูโจว-หูโจวระยะทางรวม 164 กิโลเมตรที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2024 และให้บริการด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เมื่อผนวกเข้ากับเส้นทางรถไฟสายเซี่ยงไฮ้-หังโจว หนานจิง-หังโจว และหูโจว-หังโจว ก็จะทำให้การเดินทางในภูมิภาคสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น และช่วยส่งเสริมการพัฒนากลุ่มเมืองในภูมิภาค 


จีนสานต่อโมเดลการพัฒนากลุ่มเมือง...เดินหน้าเชื่อมหัวเมืองในปากแม่น้ำแยงซีเกียง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพประกอบข่าว รอยเตอร์

 


นอกจากนี้ จีนยังจะเดินหน้ายกระดับรถไฟความเร็วสูงท่อนเซี่ยงไฮ้-หนานจิง-เหอเฝย เชื่อมโยงเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู และมณฑลอันฮุยเข้าด้วยกัน เส้นทางท่อนนี้จะแล่นขนานแม่น้ำแยงซีเกียง และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเซี่ยงไฮ้-ฉงชิ่ง-เสฉวนในด้านซีกตะวันตกของจีนอีกด้วย

จีนไม่หยุดการพัฒนา และ “ปล่อยของ” มาอย่างต่อเนื่องในยุคหลังโควิด ประการสำคัญ โครงการก่อสร้างเกือบทั้งหมดจะแล้วเสร็จทันต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปสัมผัสบรรยากาศของการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่นครหังโจวในเดือนกันยายน-ตุลาคมอย่างแน่นอน...





ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง