TNN เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

"ชินเหนียนไค่วเล่อ" ขออนุญาตอวยพรตรุษจีนย้อนหลังด้วยบทความที่เกี่ยวกับเรื่องเงินทองครับ ...

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บทบาทของเงินหยวนในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยลำดับ และจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านการค้าตามแนวเส้นทางสายไหมและสายไหมทางทะเล และการใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลางในการชำระเงินสินค้าโภคภัณฑ์ในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ เปโตรหยวน (Petro Yuan)

แต่ประเด็นที่อยู่ในความสนใจอีกส่วนหนึ่งก็คือ เงินหยวนดิจิตัล (Digital Yuan) ว่ามีแนวโน้มเป็นเช่นไร จริงหรือไม่ที่มีคนกล่าวว่า เงินหยวนดิจิตัลไม่ได้รับความนิยม และจะรุ่งหรือจะร่วงในปีกระต่ายและในอนาคต

เราอาจทราบกันดีว่า เงินหยวนดิจิตัลเป็นเงินหยวนที่อยู่ในรูปของดิจิตัล และอยู่ภายใต้การดำเนินการกำกับควบคุมของแบ้งค์ชาติจีน ซึ่งแตกต่างจากเงินคริปโตที่ดำเนินการโดยธุรกิจเอกชน ซึ่งมีระดับความผันผวนสูงมาก จนในระยะหลังทำเอานักลงทุนรุ่นใหม่โดนลากขึ้นไป “ติดดอย” กันเป็นจำนวนมาก

ภายหลังการเปิดตัวเมื่อหลายปีก่อน แบ้งค์ชาติก็พยายามผลักดันให้เงินหยวนดิจิตัลแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวจีน โดยขยายการนำร่องและทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายในหลายพื้นที่ หลากรูปแบบ และมากระลอก

โดยจีนได้เริ่มนำร่องทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในหลายหัวเมือง อาทิ สวงอัน (Xiong’an) เซินเจิ้น (Shenzhen) ซูโจว (Suzhou) และเฉิงตู (Chengdu) ในระลอกแรก


เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


และต่อมาก็ขยายต่อไปยัง 3 พื้นที่กลุ่มเมืองที่มีความพร้อมของผู้คนและระบบสนับสนุน อันได้แก่ ย่าน “คอไก่” ที่ครอบคลุมปักกิ่ง (Beijing) เทียนจิน (Tianjin) และบางเมืองในมณฑลเหอเป่ย (Hebei) เพื่อหวังเพิ่มประสบการณ์ในช่วงการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา

แถว “อกไก่” พื้นปากแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งครอบคลุมเซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีพลังของการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดในจีน และถึง 6 เมืองในมณฑลเจ้อเจียงเพื่อเตรียมเปิดให้ชาวต่างชาติที่จะมาร่วมงานกีฬาเอเชียนเกมส์ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 18 กันยายน - 8 ตุลาคม 2023 ณ นครหังโจว (Hangzhou) หลังจากผิดหวังที่ต้องจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวดังกล่าวในระบบปิด และไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้ชาวต่างชาติได้มากดั่งที่คาดหวังไว้

และ “ท้องไก่” หรือที่พวกเรารู้จักในชื่อ เกรตเทอร์เบย์แอเรีย (Great Bay Area) และเรียกกันจนติดปากในเวลาต่อมาว่า “จีบีเอ” (GBA) นอกจากหัวเมืองใหญ่ในมณฑลกวางตุ้งแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จีนได้เริ่มทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในพื้นที่นอกจีนแผ่นดินใหญ่อย่างฮ่องกง (Hong Kong) และมาเก๊า (Macau)

ขณะเดียวกัน แอพเงินหยวนดิจิตัลก็เริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดกันครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2020 และจนถึงปัจจุบัน แบ้งค์ชาติจีนได้อนุญาตให้ผู้คนใน 23 เมืองของจีนสามารถดาวน์โหลดแอพเงินดิจิตัลหยวนมาใช้ได้แล้ว

แบ้งค์ชาติจีนยังได้ปรับปรุงระบบนิเวศน์และระบบการจัดการเงินหยวนดิจิตัลเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกอยู่เสมอ คนจีนสามารถแลกเงินหยวนเป็นเงินหยวนดิจิตัลผ่าน 7 ธนาคารพาณิชย์หลัก และธนาคารดิจิตัลของจีน อาทิ วีแบ้งค์ (WeBank) ในเครือเทนเซนต์ (Tencent) และมายแบ้งค์ (MyBank) ของกลุ่มแอ้นต์ (Ant) และโอนเงินหยวนดิจิตัลโดยไม่มีค่าธรรมเนียม

ระบบเทคโนโลยีสนับสนุนก็ได้รับการยกระดับให้ทันสมัยอยู่ตลอด เช่น แอพเงินดิจิตัลหยวนเวอร์ชั่นใหม่สำหรับระบบไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) และระบบการสื่อสารระยะใกล้ (Near Field Communication) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถโอนเงินผ่านสมาร์ตโฟนได้เงินได้ตลอด 24 ชั่วโมงแม้กระทั่งในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือ “ออฟไลน์”


เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


นอกจากนี้ จีนยังส่งเสริมและกระตุ้นการใช้เงินหยวนดิจิตัลอยู่เป็นระยะ อาทิ การเชิญกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการคัดเลือกมาทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัล และการแจก “อั่งเปา” ในรูปเงินหยวนดิจิตัล ส่งผลให้ความนิยมในการใช้เงินหยวนดิจิตัลในจีนเพิ่มขึ้นโดยลำดับ

โดยประมาณว่า ณ เดือนตุลาคม 2021 จีนมีผู้ใช้จำนวน 140 ล้านคนที่ผ่านประสบการณ์ดังกล่าว และจนถึงปัจจุบันมีชาวจีนในเมืองนำร่องดังกล่าวที่ดาวน์โหลดแอพเงินหยวนดิจิตัลมาติดตั้งในสมาร์ตโฟนเป็นจำนวนถึงกว่า 260 ล้านคน คิดเป็นราว 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรโดยรวมของจีน และมีมูลค่าธุรกรรมการเงินรวมกว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในกรณีที่ผู้ใช้เป็นชาวต่างชาติที่ไม่มีเลขบัตรประชาชนจีน ก็สามารถใช้เงินหยวนดิจิตัลได้ แต่ถูกจำกัดวงเงินไว้ที่ไม่เกิน 5,000 หยวนต่อวัน และ 50,000 หยวนต่อปี

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แบ้งค์ชาติจีนก็ได้เปิดเผยข้อมูลว่า เงินหยวนดิจิตัล ณ สิ้นปี 2022 มียอดหมุนเวียนอยู่ที่ 13,610 ล้านหยวน (หรือราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ในเดือนธันวาคม 2022 แบ้งค์ชาติจีนได้ผนวกเงินหยวนดิจิตัลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของปริมาณเงินสดหมุนเวียน หรือ “M0” ซึ่งครอบคลุมเงินสดในท้องตลาดและเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ ขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ณ สิ้นปีที่ผ่านมา เงินสดหมุนเวียนของจีนมีมูลค่ารวม 10.47 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.3% ของปีก่อน

เท่ากับว่า เงินหยวนดิจิตัลที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นโดยลำดับในช่วงวิกฤติโควิด โดยมีสัดส่วนเพียง 0.13% ของเม็ดเงินสดหมุนเวียนโดยรวมของจีน

อย่างไรก็ดี ผมถือว่า จนถึงปัจจุบัน พัฒนาการของเงินหยวนดิจิตัลยังอยู่ในขั้นแบเบาะในสังคมจีน คนจีนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้สัมผัสประสบการณ์การใช้เงินหยวนดิจิตัล ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมขนาดเล็ก

แต่ก็อย่าเข้าใจผิดนะครับ เพราะหลายคนคงได้ยินว่า ที่ผ่านมา จีนกำลังเดินหน้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) มากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมืองใหญ่ของจีน เพราะส่วนนี้เป็นการรับและโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของแพลตฟอร์มใหญ่อย่างวีแชตเพย์ และอาลีเพย์ ซึ่งไม่ได้ผนวกเข้าไว้ในตัวเลขดังกล่าว


เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 



ขณะเดียวกัน การผนวกเงินหยวนดิจิตัลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเงิน M0 ในครั้งนี้ช่วยให้ขนาดของเงินสดหมุนเวียนที่จะมีสัดส่วนของเงินหยวนดิจิตัลเพิ่มขึ้น มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าการใช้เงินหยวนดิจิตัลจะยังถูกใช้ในระดับที่ต่ำ แต่ก็เป็นการวางรากฐานที่ดีสำหรับอนาคต

นอกจากการขยายพื้นที่การนำร่อง กลุ่มเป้าหมาย และรูปแบบธุรกรรมในจีนในอนาคตแล้ว อาทิ การขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งมณฑลใหญ่ในอีกหลายแห่ง อาทิ กวางตุ้ง (Guangdong) เจียงซู (Jiangsu) และเหอเป่ย ผมยังสังเกตเห็นความพยายามของจีนในการผลักดันให้มีความร่วมมือเพื่อนำร่องทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเส้นทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

ในภูมิภาคอาเซียน เมียนมาก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่จีนวางแผนจะนำเงินหยวนดิจิตัลมาใช้ในราวปี 2023-2024 ดังนั้น การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญทางการเงินที่ระบุว่า เงินหยวนดิจิตัลล้มเหลวในการเพิ่มการใช้งานจึงไม่น่าจะถูกต้อง

ผมเชื่อมั่นว่า เงินหยวนดิจิตัลจะเพิ่มการใช้งานในหลากหลายมิติในปีกระต่าย และมีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราเร่งในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความพยายามที่จะพัฒนาเงินหยวนเป็นเงินสกุลสากล

แหล่งข่าวยังระบุว่า ในภาพรวม เงินดิจิตัลที่บริหารจัดการโดยแบ้งค์ชาติของแต่ละประเทศ ก็คาดว่าจะได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบัน นอกจากการใช้งานในจีนแล้ว เรายังได้เห็นหลายประเทศเริ่มใช้เงินดิจิตัลของตนเองแล้ว อาทิ บาฮามาส จาไมก้า และไนจีเรีย และจะได้เห็นอีกหลายประเทศ “เดินตามรอย” เพื่อสร้างสังคมไร้เงินสดอีกด้วย

เอเชี่ยนเกมส์ที่หังโจวจะเป็นเวทีสำคัญที่จีนจะใช้ “แก้ตัว” ในการเปิดตัวเงินหยวนดิจิตัลให้ชาวจีนและชาวต่างชาติได้สัมผัสอย่างยิ่งใหญ่ ท่านผู้อ่านพร้อมที่จะไปสั่งสมประสบการณ์การใช้เงินหยวนดิจิตัลกันหรือยังครับ ...



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ