TNN online เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

"ชินเหนียนไค่วเล่อ" ขออนุญาตอวยพรตรุษจีนย้อนหลังด้วยบทความที่เกี่ยวกับเรื่องเงินทองครับ ...

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บทบาทของเงินหยวนในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยลำดับ และจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านการค้าตามแนวเส้นทางสายไหมและสายไหมทางทะเล และการใช้เงินหยวนเป็นสื่อกลางในการชำระเงินสินค้าโภคภัณฑ์ในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ เปโตรหยวน (Petro Yuan)

แต่ประเด็นที่อยู่ในความสนใจอีกส่วนหนึ่งก็คือ เงินหยวนดิจิตัล (Digital Yuan) ว่ามีแนวโน้มเป็นเช่นไร จริงหรือไม่ที่มีคนกล่าวว่า เงินหยวนดิจิตัลไม่ได้รับความนิยม และจะรุ่งหรือจะร่วงในปีกระต่ายและในอนาคต

เราอาจทราบกันดีว่า เงินหยวนดิจิตัลเป็นเงินหยวนที่อยู่ในรูปของดิจิตัล และอยู่ภายใต้การดำเนินการกำกับควบคุมของแบ้งค์ชาติจีน ซึ่งแตกต่างจากเงินคริปโตที่ดำเนินการโดยธุรกิจเอกชน ซึ่งมีระดับความผันผวนสูงมาก จนในระยะหลังทำเอานักลงทุนรุ่นใหม่โดนลากขึ้นไป “ติดดอย” กันเป็นจำนวนมาก

ภายหลังการเปิดตัวเมื่อหลายปีก่อน แบ้งค์ชาติก็พยายามผลักดันให้เงินหยวนดิจิตัลแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวจีน โดยขยายการนำร่องและทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายในหลายพื้นที่ หลากรูปแบบ และมากระลอก

โดยจีนได้เริ่มนำร่องทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในหลายหัวเมือง อาทิ สวงอัน (Xiong’an) เซินเจิ้น (Shenzhen) ซูโจว (Suzhou) และเฉิงตู (Chengdu) ในระลอกแรก


เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


และต่อมาก็ขยายต่อไปยัง 3 พื้นที่กลุ่มเมืองที่มีความพร้อมของผู้คนและระบบสนับสนุน อันได้แก่ ย่าน “คอไก่” ที่ครอบคลุมปักกิ่ง (Beijing) เทียนจิน (Tianjin) และบางเมืองในมณฑลเหอเป่ย (Hebei) เพื่อหวังเพิ่มประสบการณ์ในช่วงการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา

แถว “อกไก่” พื้นปากแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งครอบคลุมเซี่ยงไฮ้ เมืองที่มีพลังของการจับจ่ายใช้สอยมากที่สุดในจีน และถึง 6 เมืองในมณฑลเจ้อเจียงเพื่อเตรียมเปิดให้ชาวต่างชาติที่จะมาร่วมงานกีฬาเอเชียนเกมส์ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 18 กันยายน - 8 ตุลาคม 2023 ณ นครหังโจว (Hangzhou) หลังจากผิดหวังที่ต้องจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวดังกล่าวในระบบปิด และไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้ชาวต่างชาติได้มากดั่งที่คาดหวังไว้

และ “ท้องไก่” หรือที่พวกเรารู้จักในชื่อ เกรตเทอร์เบย์แอเรีย (Great Bay Area) และเรียกกันจนติดปากในเวลาต่อมาว่า “จีบีเอ” (GBA) นอกจากหัวเมืองใหญ่ในมณฑลกวางตุ้งแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่จีนได้เริ่มทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในพื้นที่นอกจีนแผ่นดินใหญ่อย่างฮ่องกง (Hong Kong) และมาเก๊า (Macau)

ขณะเดียวกัน แอพเงินหยวนดิจิตัลก็เริ่มเปิดให้ดาวน์โหลดกันครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2020 และจนถึงปัจจุบัน แบ้งค์ชาติจีนได้อนุญาตให้ผู้คนใน 23 เมืองของจีนสามารถดาวน์โหลดแอพเงินดิจิตัลหยวนมาใช้ได้แล้ว

แบ้งค์ชาติจีนยังได้ปรับปรุงระบบนิเวศน์และระบบการจัดการเงินหยวนดิจิตัลเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกอยู่เสมอ คนจีนสามารถแลกเงินหยวนเป็นเงินหยวนดิจิตัลผ่าน 7 ธนาคารพาณิชย์หลัก และธนาคารดิจิตัลของจีน อาทิ วีแบ้งค์ (WeBank) ในเครือเทนเซนต์ (Tencent) และมายแบ้งค์ (MyBank) ของกลุ่มแอ้นต์ (Ant) และโอนเงินหยวนดิจิตัลโดยไม่มีค่าธรรมเนียม

ระบบเทคโนโลยีสนับสนุนก็ได้รับการยกระดับให้ทันสมัยอยู่ตลอด เช่น แอพเงินดิจิตัลหยวนเวอร์ชั่นใหม่สำหรับระบบไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) และระบบการสื่อสารระยะใกล้ (Near Field Communication) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถโอนเงินผ่านสมาร์ตโฟนได้เงินได้ตลอด 24 ชั่วโมงแม้กระทั่งในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือ “ออฟไลน์”


เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


นอกจากนี้ จีนยังส่งเสริมและกระตุ้นการใช้เงินหยวนดิจิตัลอยู่เป็นระยะ อาทิ การเชิญกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการคัดเลือกมาทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัล และการแจก “อั่งเปา” ในรูปเงินหยวนดิจิตัล ส่งผลให้ความนิยมในการใช้เงินหยวนดิจิตัลในจีนเพิ่มขึ้นโดยลำดับ

โดยประมาณว่า ณ เดือนตุลาคม 2021 จีนมีผู้ใช้จำนวน 140 ล้านคนที่ผ่านประสบการณ์ดังกล่าว และจนถึงปัจจุบันมีชาวจีนในเมืองนำร่องดังกล่าวที่ดาวน์โหลดแอพเงินหยวนดิจิตัลมาติดตั้งในสมาร์ตโฟนเป็นจำนวนถึงกว่า 260 ล้านคน คิดเป็นราว 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรโดยรวมของจีน และมีมูลค่าธุรกรรมการเงินรวมกว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในกรณีที่ผู้ใช้เป็นชาวต่างชาติที่ไม่มีเลขบัตรประชาชนจีน ก็สามารถใช้เงินหยวนดิจิตัลได้ แต่ถูกจำกัดวงเงินไว้ที่ไม่เกิน 5,000 หยวนต่อวัน และ 50,000 หยวนต่อปี

และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แบ้งค์ชาติจีนก็ได้เปิดเผยข้อมูลว่า เงินหยวนดิจิตัล ณ สิ้นปี 2022 มียอดหมุนเวียนอยู่ที่ 13,610 ล้านหยวน (หรือราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ในเดือนธันวาคม 2022 แบ้งค์ชาติจีนได้ผนวกเงินหยวนดิจิตัลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของปริมาณเงินสดหมุนเวียน หรือ “M0” ซึ่งครอบคลุมเงินสดในท้องตลาดและเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ ขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ณ สิ้นปีที่ผ่านมา เงินสดหมุนเวียนของจีนมีมูลค่ารวม 10.47 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.3% ของปีก่อน

เท่ากับว่า เงินหยวนดิจิตัลที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นโดยลำดับในช่วงวิกฤติโควิด โดยมีสัดส่วนเพียง 0.13% ของเม็ดเงินสดหมุนเวียนโดยรวมของจีน

อย่างไรก็ดี ผมถือว่า จนถึงปัจจุบัน พัฒนาการของเงินหยวนดิจิตัลยังอยู่ในขั้นแบเบาะในสังคมจีน คนจีนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้สัมผัสประสบการณ์การใช้เงินหยวนดิจิตัล ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมขนาดเล็ก

แต่ก็อย่าเข้าใจผิดนะครับ เพราะหลายคนคงได้ยินว่า ที่ผ่านมา จีนกำลังเดินหน้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) มากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมืองใหญ่ของจีน เพราะส่วนนี้เป็นการรับและโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของแพลตฟอร์มใหญ่อย่างวีแชตเพย์ และอาลีเพย์ ซึ่งไม่ได้ผนวกเข้าไว้ในตัวเลขดังกล่าว


เส้นทางเงินหยวนดิจิตัล ... รุ่งหรือร่วง โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 



ขณะเดียวกัน การผนวกเงินหยวนดิจิตัลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเงิน M0 ในครั้งนี้ช่วยให้ขนาดของเงินสดหมุนเวียนที่จะมีสัดส่วนของเงินหยวนดิจิตัลเพิ่มขึ้น มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าการใช้เงินหยวนดิจิตัลจะยังถูกใช้ในระดับที่ต่ำ แต่ก็เป็นการวางรากฐานที่ดีสำหรับอนาคต

นอกจากการขยายพื้นที่การนำร่อง กลุ่มเป้าหมาย และรูปแบบธุรกรรมในจีนในอนาคตแล้ว อาทิ การขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งมณฑลใหญ่ในอีกหลายแห่ง อาทิ กวางตุ้ง (Guangdong) เจียงซู (Jiangsu) และเหอเป่ย ผมยังสังเกตเห็นความพยายามของจีนในการผลักดันให้มีความร่วมมือเพื่อนำร่องทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเส้นทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

ในภูมิภาคอาเซียน เมียนมาก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่จีนวางแผนจะนำเงินหยวนดิจิตัลมาใช้ในราวปี 2023-2024 ดังนั้น การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญทางการเงินที่ระบุว่า เงินหยวนดิจิตัลล้มเหลวในการเพิ่มการใช้งานจึงไม่น่าจะถูกต้อง

ผมเชื่อมั่นว่า เงินหยวนดิจิตัลจะเพิ่มการใช้งานในหลากหลายมิติในปีกระต่าย และมีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราเร่งในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความพยายามที่จะพัฒนาเงินหยวนเป็นเงินสกุลสากล

แหล่งข่าวยังระบุว่า ในภาพรวม เงินดิจิตัลที่บริหารจัดการโดยแบ้งค์ชาติของแต่ละประเทศ ก็คาดว่าจะได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบัน นอกจากการใช้งานในจีนแล้ว เรายังได้เห็นหลายประเทศเริ่มใช้เงินดิจิตัลของตนเองแล้ว อาทิ บาฮามาส จาไมก้า และไนจีเรีย และจะได้เห็นอีกหลายประเทศ “เดินตามรอย” เพื่อสร้างสังคมไร้เงินสดอีกด้วย

เอเชี่ยนเกมส์ที่หังโจวจะเป็นเวทีสำคัญที่จีนจะใช้ “แก้ตัว” ในการเปิดตัวเงินหยวนดิจิตัลให้ชาวจีนและชาวต่างชาติได้สัมผัสอย่างยิ่งใหญ่ ท่านผู้อ่านพร้อมที่จะไปสั่งสมประสบการณ์การใช้เงินหยวนดิจิตัลกันหรือยังครับ ...



ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง