จีนจะสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กิจการขนาดจิ๋ว-เล็ก-กลาง อย่างไร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
จีนจะสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กิจการขนาดจิ๋ว-เล็ก-กลาง อย่างไร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
หลังจากโดนเสือขย้ำจนทำเอาเศรษฐกิจจีนไม่อาจเติบโตได้ตามเป้าหมาย ภาคการผลิตหยุดชะงัก และกำลังซื้อภายในประเทศหดหายไปเมื่อปีก่อน ขณะเดียวกันกิจการขนาดจิ๋ว-เล็ก-กลาง (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises) ของจีนซวนเซและทำให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูง
ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า จีนจะรอให้การ “ส่งไม้ต่อ” ในตำแหน่งนายกมนตรีในเดือนมีนาคมเรียบร้อยไปก่อนที่จะเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่
ขณะเดียวกัน หลายคนก็สงสัยว่า หลังรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีนจะออกมาตรการ “อัดฉีด” อะไรบ้างเพื่อช่วยพลิกฟื้นและสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับ MSMEs อีกครั้งในปี 2023 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะสามารถทำให้ปีนี้เป็นปี “กระต่ายทอง” ได้หรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ดี จีนมักทำอะไรเหนือความคาดหมาย เพราะเมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนก็ประกาศมาตรการสนับสนุนการพัฒนา MSMEs ระลอกใหม่ โดยมุ่งหวังการเสริมสร้างการเติบโตและปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจที่เกี่ยวข้องของจีน
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของมาตรการระลอกใหม่ดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ MSMEs เพื่อให้อยู่รอดและแกร่งกล้าในตลาดในประเทศ และต่างประเทศในที่สุด
เราต้องไม่ลืมว่า ภายใต้พันธะสัญญาที่มีกับองค์การการค้าโลก และกรอบความตกลงการค้าเสรี จีนเองก็ต้อง “เปิดกว้าง” ตลาดภายในประเทศ โดยลดกำแพงภาษีลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2023 รัฐบาลจีนประกาศปรับลดอัตราอากรนำเข้าเฉลี่ยเหลือ 7.3% จาก 7.4% เมื่อปีก่อน
ขณะที่ส่วนที่เหลือก็มุ่งเป้าเพื่อบรรเทาความยากลำบากผ่านการสนับสนุนเชิงนโยบายตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการพัฒนาในเชิงคุณภาพ อาทิ การปรับโครงสร้างด้านดิจิตัล
โดยในชั้นนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนที่เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ ก็ได้รับไฟเขียวให้ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางการเงินที่มีอยู่อย่างเต็มที่
อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ปักกิ่ง (Beijing Stock Exchange) ตลาดหลักทรัพย์อันดับ 3 ต่อจากเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น ที่เปิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 และกองทุนแห่งชาติเพื่อการพัฒนา SMEs (National Fund for SME Development) ที่มีเงินทุนภายใต้โครงสร้างพันธมิตรภาครัฐและเอกชนอยู่ในมือถึง 60,000 ล้านหยวน
จีนยังต้องการยกระดับระบบอุปทานและเสถียรภาพด้านราคาวัตถุดิบ และกระตุ้นให้กิจการขนาดใหญ่และแพล็ตฟอร์มต่างๆ สนับสนุนการจัดซื้อจัดหาและการตลาดแก่ MSMEs
มาตรการชุดใหม่นี้ยังเน้นย้ำการเร่งขยายอุปสงค์สินค้าคุณภาพสูง อาทิ อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านอัจฉริยะ รถยนต์พลังงานใหม่ และวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะจัดกิจกรรมนัดหมายเจรจาการค้าข้ามพรมแดนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ
นอกจากนี้ จีนยังจะให้ความสำคัญกับการต่อยอดการพัฒนาคุณภาพสูง อาทิ การบ่มเพาะเด็กพรสวรรค์ ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักของ MSMEs ยุคใหม่ และการเสริมสร้างการคุ้มครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อผลักดันให้กิจการเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้กำหนดหมุดหมายใหม่ในการพัฒนา MSMEs โดยตั้งเป้าว่า ณ สิ้นปี 2023 จีนจะสามารถบ่มเพาะ SMEs จำนวนกว่า 150,000 ราย และกิจการขนาดจิ๋วอีกกว่า 10,000 รายให้เชื่อมโยงกับภาคการผลิตที่มุ่งเน้นตลาดเฉพาะทางและเทคโนโลยีระดับสูง
จีน “เล็งผลเลิศ” ในระยะยาวจากการอกมาตรการใหม่ชุดนี้ ท่ามกลางความพยายามในการผลักดันด้านนวัตกรรมและการพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเอง มาตรการดังกล่าวยังจะช่วยสร้างเสถียรภาพการจ้างงานที่อ่อนยวบไปในช่วงหลายปีหลังและส่งเสริมความแข็งแกร่งของ MSMEs ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจเอกชนของจีนในที่สุด
มองย้อนกลับไปทศวรรษก่อน เราสังเกตเห็น MSMEs ของญี่ปุ่นที่ขยับขยายและย้ายฐานตามกิจการรายใหญ่เข้ามาลงทุนในไทย แต่หากจีนสร้างความกระชุ่มกระชวยให้ MSMEs ในครั้งนี้ได้สำเร็จ กิจการของไทยอาจต้องเผชิญกับคู่แข่งขันใหม่อย่างจีนที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าในทศวรรษหน้า
นี่อาจเป็นสัญญาณแรงที่กระตุ้นเตือนให้ภาครัฐและเอกชนไทยต้องเร่งพัฒนาระบบนิเวศ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันภายในและระหว่างประเทศแก่ MSMEs ของไทยอย่างจริงจัง
หากไม่เร่ง “สร้างกล้ามเนื้อ” และ “ก้าวเดิน” ออกไปแข่งขันในเวทีโลก เราอาจได้เห็น MSMEs ของไทยก็อาจจะแห้งเหี่ยว “ตายคารัง” ในอนาคต ...
ภาพจาก AFP / รอยเตอร์