เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
นอกเหนือจากการกำหนดนโยบายและเดินหน้ามาตรการอนุรักษ์และปกป้องแหล่งน้ำแล้ว เซี่ยงไฮ้ยังสร้างเสริมบริการขนส่งทางน้ำที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเอาประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย เราไปคุยต่อกันครับ ...
เซี่ยงไฮ้ยังคงนำร่องพัฒนาแหล่งน้ำ “ทั้งระบบนิเวศ” โดยให้ความสำคัญกับความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2017 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้กระตุ้นธุรกิจ มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคมในการเติมพลังแบรนด์เก่าแก่ของเซี่ยงไฮ้ด้วยความคิดใหม่และเทคโนโลยี และผลักดันให้ผู้ที่จบการศึกษาใหม่เริ่มต้นกิจการสตาร์ตอัพของตนเอง รวมทั้งยังเชื่อมโยงการพัฒนาแหล่งชุมชนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยแนวคิดใหม่ อาทิ “ชุมชน 15 นาทีเดิน” และ “อาคารหายใจได้” อย่างที่ผมได้เคยชวนคุยไปเมื่อปีก่อน
ทั้งนี้ ในส่วนของซูโจวครีก กิจการกว่า 3,500 รายริมสองฝั่งแม่น้ำได้ถูกโยกย้ายไปแหล่งใหม่ในช่วงราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อเปิดพื้นที่ดังกล่าวแก่พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะกระจายยอยู่ในหลากมุมเมืองริมสองฝั่งแม่น้ำ แต่จากแผนแม่บทชุมชนเมืองเซี่ยงไฮ้ปี 2035 มหานครแห่งนี้จะยังไม่หยุดแค่นั้นเป็นแน่ และวันนี้กำลังเดินหน้าพัฒนาตามแนวคิด “เมืองในสวน”
นอกจากนี้ ภายหลังการทดสอบบริการดังกล่าวในช่วงกลางเดือนกันยายน 2022 เซี่ยงไฮ้ก็ได้เปิดให้บริการเรือท่องเที่ยวประจำเส้นทางอย่างเป็นทางการในโอกาสปีที่ 33 ของเทศกาลท่องเที่ยวเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Tourism Festival) เมื่อต้นเดือนตุลาคม และให้บริการอย่างต่อเนื่องนับจากนั้นเป็นต้นมา
เรือท่องเที่ยวเหล่านี้มีขนาดความยาว 14.8 เมตร และกว้าง 4 เมตร ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าที่ปลอดมลพิษและไร้เสียงรบกวนให้บริการได้คราวละ 20 คน
ปัจจุบัน เรือท่องเที่ยวนี้มีจุดขึ้นลงริมฝั่งซูโจวครีกจำนวน 8 จุด ได้แก่ ไว่ทันหยวน (Waitanyuan) สวนขนาดย่อมในบริเวณเดอะบันด์ โกดังซื่อหัง (Sihang Warehouse) ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรวบรวมของที่ระลึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ถนนฉางฮวา (Changhua) ถนนซีคัง (Xikang) สวนดอกไม้เหมิงฉิง (Mengqing Garden) สวนสาธารณะจงชาน (Zhongshan Park) สวนสาธารณะฉางเฟิง (Changfeng Park) และถนนตานปา (Danba)
โดยแต่ละจุดติดตั้งระบบการชาร์ตไฟฟ้าสำหรับเรือท่องเที่ยวดังกล่าว แถมยังพร้อมพรั่งด้วยระบบการจัดการและการปฏิบัติงานดิจิตัลที่เพิ่มความสะดวกสบายและลดความเสี่ยงในการใช้บริการ อาทิ การซื้อตั๋วผ่านมินิโปรแกรม “Suzhou Creek Tourism” ในแพลตฟอร์มวีแชต (WeChat) 48 ชั่วโมงล่วงหน้า
นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการ “ห้องนั่งเล่นทางน้ำ” ได้ใน 3 รูปแบบ อันได้แก่ บริการท่องเที่ยวแบบกลุ่มในเส้นทางราว 1 ชั่วโมงระหว่างฉางฮวา-ฉางเฟิง ด้วยค่าบริการ 100 หยวนสำหรับผู้ใหญ่ และ 50 หยวนสำหรับเด็กอายุ 7-14 ปี บริการท่องเที่ยวแบบรายบุคคลระหว่างไว่ทันหยวน-โกดังซื่อหัง-ฉางฮวา ซึ่งใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงเพื่อชื่นชมแหล่งชุมชนด้านผู่ซี ก็มีค่าตั๋ว 60 หยวน และ 30 หยวน ตามลำดับ รวมทั้งบริการท่องเที่ยวแบบเฉพาะกลุ่มตามความต้องการด้านธุรกิจและสันทนาการของผู้เช่าเรือ
เหย่า ไค (Yao Kai) ผู้อำนวยการสำนักงานการเคหะและการพัฒนาชุมชนเมือง-ชนบทแห่งเซี่ยงไฮ้เปิดเผยว่า เซี่ยงไฮ้จะเพิ่มจุดจอด และสถานที่ท่องเที่ยวรอบๆ จุดขึ้นลงเรือริมสองฝั่งซูโจวครีกและแม่น้ำหวงผู่ รวมทั้งกิจกรรมกีฬาทางน้ำโดยลำดับเพื่อความสะดวกและความเพลินเพลินของผู้ใช้บริการในอนาคต แต่ก็ต้องไม่ให้บริการและกิจกรรมดังกล่าวมากจนไปรบกวนการใช้ชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำ
นอกจากพิพิธภัณฑ์ซื่อหังแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวใหม่รอบๆ จุดขึ้นลงเรือได้รับการพัฒนาและทยอยเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 200 จุด อาทิ สะพานถนนจ้าผู่ (Zhapu) คฤหาสน์บรอดเวย์ (Broadway Mansions) อาคารไปรษณีย์กลาง คอนโดและคอมเพล็กซ์ความบันเทิงหรูชื่อ “เทียนอันพันต้น” (Tian An 1000 Trees) ศูนย์ศิลปะเอ็ม 50 (M50 Art Hub) พิพิธภัณฑ์โรงกษาปณ์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Mint Museum) โรงสีฟู่ซิน (Fuxin) และโรงเบียร์ยุคดั้งเดิม
รวมไปถึงสวนป่ากงฉิง (Gongqing Forest Park) มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเซี่ยงไฮ้ (University of Shanghai for Science and Technology) และพิพิธภัณฑ์ทักษะฝีมือโลก (World Skills Museum) พิพิธภัณฑ์เรือโบราณที่ทำจากไม้ในพื้นที่อู่เรือเดิมของเซี่ยงไฮ้ในเขตหยางผู่ (Yangpu) และพิพิธภัณฑ์ศิลปินคนดัง (Star Museum) ด้านซีกตะวันตกของเดอะบันด์ในเขตสวีฮุ่ย (Xuhui)
รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังพัฒนาทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำและจุดท่องเที่ยวตามแนวแม่น้ำหวงผู่ โดยพยายามใช้ประโยชน์และต่อยอดสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่เดิม อาทิ ศูนย์แข่งม้าระหว่างประเทศ (International Equestrian Center) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จัดงานนิทรรศการโลก 2010 ฝั่งผู่ตง และศูนย์กีฬาทางน้ำครบวงจร (A Comprehensive Water Sports Center) ที่ท่าเรือสำราญระหว่างประเทศอู๋วซ่งโข่ว (Wusongkou International Cruise Liner Terminal) ในเป่าชาน (Baoshan)
อาคารเก่าหลายแห่งก็ได้รับการปรับปรุงพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ ไฟฟ้าแสงสว่าง ห้องน้ำ และบริการสายด่วน จากสถิติพบว่า รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ติดตั้งลิฟท์รุ่นใหม่กว่า 2,000 ตัวในอาคารโบราณสไตล์เซี่ยงไฮ้ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนสูงอายุและคนทุพลภาพ
ขณะเดียวกัน สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ก็ติดตั้งป้ายข้อมูลดิจิตัลไว้พร้อมสรรพ เพียงใช้สมาร์ตโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดที่มีอยู่ นักท่องเที่ยวก็สามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสถานที่นั้นๆ พร้อมคำแนะนำในการเยี่ยมชมในแต่ละมุม และสิ่งอำนวยความสะดวกได้ในทันที
จุดท่องเที่ยวทางน้ำเหล่านี้ “โดนใจ” บรรดาตากล้องอาชีพและสมัครเล่น และนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว เป็นอย่างมาก ยิ่ง “แช๊ะแล้วแชร์ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้บริการท่องเที่ยวทางน้ำนี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
บริการเรือท่องเที่ยวยังจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ประมาณว่า บริการเรือท่องเที่ยวจะมีผู้ใช้บริการปีละ 10 ล้านคน ก่อให้เกิดการจ้างงานคุณภาพ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านร้านค้าริมสองฝั่งแม่น้ำกว่า 500 ล้านหยวนในแต่ละปี
นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังนำเอากีฬาทางน้ำมาเป็นกิจกรรมพิเศษในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในช่วงที่จีนเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 เซี่ยงไฮ้ก็ยังริเริ่มการจัดการแข่งเรือที่ซูโจวครีกภายใต้ชื่อ “Suzhou Creek Regatta” และเพียงไม่กี่ปี กิจกรรมนี้ก็กลายเป็นการแข่งขันกีฬาทางน้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดรายการหนึ่งของจีนในปัจจุบัน
อีกกิจกรรมกีฬาหนึ่งที่จะเปิดตัวในช่วงปีกระต่ายนี้ก็คือ การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนระยะทาง 21 กิโลเมตรภายใต้ชื่อ “Half Marathon Suzhou Creek” ในเส้นทางริมซูโจวครีกที่ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเขตผู่โถว (Putuo) อาทิ พิพิธภัณฑ์ความศิวิไลซ์ด้านอุตสาหกรรม ช้อปปิ้งมอลล์ เทียนอันพันต้น และห้องสมุดเด็กแห่งเซี่ยงไฮ้ ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่า กิจกรรมนี้ยังจะเป็นตัวเชื่อมศูนย์ลอจิสติกส์ครบวงจรหงเฉียวเข้ากับพื้นที่ดาวน์ทาวน์ของเซี่ยงไฮ้
ปีกระต่ายนี้ จีนเริ่มเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแล้ว หากมีโอกาส ผมก็ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านไปล่องเรือชมวิวทิวทัศน์ ท่องประวัติศาสตร์ ส่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และเพลินตากับสถาปัตยกรรมและความงดงามของนครเซี่ยงไฮ้ในมุมมองใหม่ผ่านสายน้ำทั้งสองดังกล่าวกันนะครับ ...
ภาพจาก : AFP