เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
เมื่อเซี่ยงไฮ้พัฒนาสายน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
เมื่อปีก่อน ผมชวนพูดคุยเรื่องการพัฒนา “เมืองน่าอยู่” ที่กำลังแพร่กระจายในจีน และแตะประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเอาไว้ ในโอกาสต้อนรับปีใหม่ ผมเลยอยากถือโอกาสนำเรื่องที่ชุ่มฉ่ำสวยงาม และดีต่อสิ่งแวดล้อมมาพูดคุยกันครับ ...
“เมืองและสายน้ำนับเป็นของคู่กัน” จีนจึงดำเนินนโยบายและผลักดันมาตรการในหลายส่วนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำภายในประเทศ โดยหนึ่งในแนวคิดก็ได้แก่ การพัฒนา “สวนน้ำแห่งชาติ” (National Water Parks) ขึ้น ไม่ใช่ “สวนสนุกทางน้ำ” ที่เด็กๆ ชอบไปเล่นกัน
แต่ “สวนน้ำ” ดังกล่าวครอบคลุมถึงการอนุรักษ์น้ำและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งจะช่วยรักษาแม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำอื่นให้อยู่ในสภาพที่ดีและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งยังอาจฟื้นความกระชุ่มกระชวยให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่
จากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรน้ำจีนระบุว่า ณ ปี 2020 จีนมีแหล่งอนุรักษ์น้ำกว่า 900 แห่งกระจายอยู่ทั่วจีน และตั้งเป้าที่จะมีแหล่งอนุรักษ์น้ำระดับชาติกว่า 1,000 แห่งภายในปี 2025 ทั้งนี้ ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) จีนจะเดินหน้าสร้างและพัฒนาแหล่งอนุรักษ์ดังกล่าวปีละกว่า 100 จุด
ในบรรดาเมืองใหญ่ของจีน เซี่ยงไฮ้ถือเป็น “เมืองหลวงทางเศรษฐกิจ” ที่มีขนาดเศรษฐกิจต่อเมืองที่ใหญ่ที่สุดของจีน แต่การเติบใหญ่ของเซี่ยงไฮ้ในอดีต ก็ทำให้แหล่งน้ำในเซี่ยงไฮ้กลายเป็น “เหยื่อ” ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แหล่งน้ำจำนวนมากในเซี่ยงไฮ้ปนเปื้อน และมีสภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นทั้งในด้านสีและกลิ่น และก่อให้เกิด “ภาระต้นทุน” ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หนักหนาสาหัสในยุคหลังเช่นกัน
เมื่อพูดถึงแหล่งน้ำในบริเวณใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ เราจะนึกถึงแม่น้ำ 2 สาย ซึ่งเป็นเสมือน “สายน้ำแม่” ของชาวเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ แม่น้ำหวงผู่ (Huangpu River) ซึ่งเป็นกิ่งหนึ่งของแม่น้ำแยงซีเกียง ที่ไหลเหนือ-ใต้ด้วยระยะทางยาวหลายสิบกิโลเมตร และแบ่งเซี่ยงไฮ้เป็นฝั่ง “ผู่ซี” และ “ผู่ตง” ด้านซีกตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำหวงผู่ ตามลำดับ คล้ายที่เราเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่แบ่งแยกระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ และกรุงธนฯ
และอีกสายน้ำหนึ่งก็คือ ซูโจวครีก (Suzhou Creek) ที่เริ่มต้นจากทะเลสาบไท่หู (Taihu) ในมณฑลเจียงซู และไหลผ่านเมืองซุโจว คุนชาน และเซี่ยงไฮ้ ระยะทางรวม 125 กิโลเมตร โดยในท่อนเซี่ยงไฮ้ ซูโจวครีกแห่งนี้ไหลผ่านชุมชนเมืองและทอดยาวจนมาเชื่อมกับแม่น้ำหวงผู่แถวเดอะบันด์ จึงทำให้มีประวัติศาสตร์และกลิ่นอายของวิถีชีวิตของชาวเซี่ยงไฮ้ซ่อนอยู่มากมาย
อย่างไรก็ดี ย้อนหลังกลับไปหลายปีก่อน สายน้ำสำคัญดังกล่าวไม่ได้ “สะอาด” อย่างเช่นทุกวันนี้ สภาพของซูโจวครีกในอดีตมีสภาพที่ไม่ต่างจาก “น้ำครำ” และมีกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง สองฝั่งแม่น้ำและพื้นที่รอบข้างก็ไม่ได้รับการจัดการ ตกค่ำก็มืดๆ ทึมๆ ผู้คนส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงการผ่านไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ผู้คนในชุมชนไม่อาจใช้ประโยชน์จากสายน้ำและพื้นที่ในบริเวณนั้นได้มากเท่าที่ควร
ขณะที่แม่น้ำหวงผู่ก็มีขยะลอยมาเป็นระยะ ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยก็มีภาพข่าวที่ฟาร์มเลี้ยงหมูหลายแห่งเอา “หมูตาย” โยนลงแม่น้ำเพื่อตัดปัญหาของตนเองโดยไม่สนใจผลกระทบต่อชุมชนริมน้ำเลยก็มี
แต่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้กลับไม่ยอมแพ้ และตระหนักเสมอว่า “การเดินทางไกลเริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ” เซี่ยงไฮ้ลงทุนจัดตั้งองค์กรดูแลการอนุรักษ์แหล่งน้ำขึ้นเป็นการเฉพาะ และให้ทำงานร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง รวมทั้งยังพยายามเชื่อมโยงและผลักดันการผูกพันเป้าหมายการพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1998 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้เริ่มต้นแคมเปญ “สายน้ำสะอาด” และต่อมาในวันที่ 31 ตุลาคม 2010 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานนิทรรศการโลก (2010 World Expo) เซี่ยงไฮ้ก็ได้ประกาศ “วันเมืองโลก” (World Cities Day) ขึ้นภายใต้สโลแกน “Go Local to Go Global” พร้อมกับแผนการปรับปรุงชุมชนเมืองครั้งใหญ่ และสร้างการตระหนักรู้ของภาคประชาชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์และปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม
ในปี 3 ปีต่อมา แคมเปญดังกล่าวได้รับการยอมรับโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และในปี 2022 ก็เป็นปีแห่งการกลับมาของการสังเกตการณ์ความก้าวหน้าของ “วันเมืองโลก” ที่เซี่ยงไฮ้อีกด้วย
รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับเป็น “เมืองริมน้ำต้นแบบของโลก” และจัดทำแผนแม่บทชุมชนเมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Urban Master Plan) ปี 2035 ที่อยู่บนแนวคิดของ “การพัฒนาชุมชนเมืองที่ยั่งยืน”
มีเรื่องเล่ากันว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลเซี่ยงไฮ้เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีการรายงานความคืบหน้าในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและพื้นที่ริมฝั่งแนวน้ำสายสำคัญของเซี่ยงไฮ้ ปรากฏว่า หลี่ เฉียง เลขาธิการพรรคฯ ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจีนในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ได้มอบนโยบายและสั่งการให้รัฐบาลเซี่ยงไฮ้แก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำที่เหลืออยู่ราว 20% ของแหล่งน้ำในเซี่ยงไฮ้ให้เป็นศูนย์ภายในสิ้นปีดังกล่าว!!!
ประการสำคัญก็คือ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้รับนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จนสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ได้รับมอบหมายเสียด้วย สายน้ำที่ปนเปื้อนถูกขจัดไปสิ้น ขณะที่ 95% ของขยะถูกจัดเก็บและคัดแยกอย่างเป็นระบบ
แล้วตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ทำอะไรบ้างเพื่อให้การพัฒนาสายน้ำสำคัญดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรม ... ในกรณีของหวงผู่ พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำกว่า 300 ตารางกิโลเมตรในเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ใหม่หลินกั่ง (Lingang New Area) ในเขตผู่ตง ได้รับการพัฒนาจนได้ตามมาตรฐาน “เมืองฟองน้ำ” (Sponge City) ขององค์การสหประชาชาติเพื่อลดการสูญเปล่าของแหล่งน้ำ และรวบรวมและนำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่อย่างเป็นระบบ
ขณะที่ในกรณีของซูโจวครีก เซี่ยงไฮ้ก็ได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากเพื่อการขจัดมลพิษ โดยกระแสข่าวระบุว่า เซี่ยงไฮ้ใช้เงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมไปแล้วกว่า 40,000 ล้านหยวนผ่านอย่างน้อย 4 โครงการสำคัญ อาทิ การลดเลิกและบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำ การโยกย้ายที่ดินและวัสดุปนเปื้อนบริเวณริมแม่น้ำไปเข้าสู่กระบวนการบำบัด
เซี่ยงไฮ้ยังลงทุนสร้างเขื่อนริมสองฝั่งแม่น้ำและปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่ใกล้เคียง สร้างกลไกความร่วมมือของชุมชนที่แม่น้ำไหลพาดผ่านมาอย่างต่อเนื่อง และจัดตั้งอาสาสมัคร 30 ทีมรวมกว่า 2,000 คนที่ทำหน้าที่ลาดตระเวนเพื่ออนุรักษ์และปกป้องสภาพแวดล้อมของสายน้ำแห่งนี้ หลายมาตรการดังกล่าวได้ถูกบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ และส่งผลให้สายน้ำแห่งนี้ในปัจจุบันใสสะอาด และหาเศษขยะไม่ได้สักชิ้น ขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงก็ได้รับการดูแลด้วยโครงการใหม่ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังก่อสร้างเขื่อนกั้นริมตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำเป็นระยะทางยาว 42 กิโลเมตรพาดผ่านเขตหวงผู่ (Huangpu) หงโข่ว (Hongkou) จิ้งอัน (Jing'an) ผู่โถว (Putuo) ฉางหนิง (Changning) และเจียติ้ง (Jiading) และตกแต่งอย่างสวยงามด้วยต้นไม้และดอกไม้น้อยใหญ่ตลอดเส้นทาง
รวมทั้งเพิ่มเวลาสุดพิเศษในยามค่ำคืนอีกด้วย ยิ่งในพื้นที่ชุมชนเมืองสองฟากฝั่งซูโจวครีกด้วยแล้ว ชาวเซี่ยงไฮ้ก็ต่างชื่นชม “สวนหลังบ้าน” ที่ได้รับการจัดการใหม่ พื้นที่เหล่านี้ “เพิ่มคุณค่า” ทั้งในเชิงขนาดพื้นที่ ช่วงเวลา และประเภทกิจกรรม ทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายยอดนิยมไปอย่างรวดเร็ว
แต่เซี่ยงไฮ้ก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น เราไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...
ภาพจาก : AFP