TNN online วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 7) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 7) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 7) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 7) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน


“กาตาร์ 2022” จบไปพร้อมกับความตื่นเต้นเร้าใจของการฟาดแข้งมากที่สุดในรอบหลายทัวร์นาเม้นท์ และความประทับใจยิ่งกับการจัดงานของเจ้าภาพอาร์เจนตินาได้ถ้วยฟุตบอลโลกไปครองและได้เงินรางวัลสูงสุดก็จริงแต่จีนกลับทำเงินมากที่สุดจากการขายสินค้าและบริการของจีนจากมหกรรมในครั้งนี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

แต่วันนี้ ผมจะชวนไปคุยกันต่อว่า จีนทำอะไรบ้างเพื่อพัฒนาวงการกีฬาของตนเองสู่เวทีโลก ...

จีนในยุคใหม่มีกฎหมายด้านการกีฬาแห่งชาติเป็นกรอบหลัก ซึ่งมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1995โดยในเชิงโครงสร้างองค์กร จีนมีสำนักงานบริหารทั่วไปด้านการกีฬาแห่งชาติ (State General Administration of Sports) ภายใต้คณะรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการของหน่วยงานด้านการกีฬา ศูนย์จัดการแข่งขันกีฬา และสถาบันสนับสนุนและบริการด้านการกีฬาอื่นๆ รวมทั้งองค์สมาพันธ์กีฬาจีนโดยรวม (All-China Sports Federation) และคณะกรรมการโอลิมปิกจีน

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 7) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก AFP

นอกจากนี้ SGAS ยังเป็นองค์กรหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการกีฬา และพัฒนาแผนการพัฒนาการกีฬาระยะกลางและระยะยาว 

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการกีฬามากขึ้นโดยลำดับ โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาวัฒนธรรมกีฬาฝังรากลึกในจีน ในปี 2014 รัฐบาลจีนได้สร้างความฮือฮาด้วยการออกเอกสารเชิงนโยบาย “หมายเลข 46” ที่กำหนดแผนเสริมสร้างให้อุตสาหกรรมกีฬาของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2025 

จีนยังพยายามทำให้วงการกีฬาอยู่บนพื้นฐานของระบบตลาดเสรี ซึ่งนำไปสู่การลดเงินอุดหนุนแก่สมาคมกีฬาท้องถิ่น เปิดกว้างให้เอ็นจีโอ (NGO) เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันกีฬา และผลักดันให้สโมสรกีฬาเกิดความแข็งแกร่งมากขึ้นผ่านการเสริมสร้างฐานแฟนคลับของสโมสรกีฬาท้องถิ่นด้วยมาตรการในเชิงรุก

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า บทบาทการลงทุนในวงการกีฬาของจีนจะเปลี่ยนมือจากภาครัฐมาสู่ภาคเอกชนของจีนและต่างชาติมากขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกัน ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนทำให้ประชาชนเริ่ม “กินอิ่มนอนอุ่น” มากขึ้น คนจีนจำนวนมากก็เริ่มประสบปัญหา “โรคอ้วน” และนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นภาระด้านการสาธารณสุข ส่งผลให้ SGASพยายามปลุกกระแส “กีฬาเป็นยาวิเศษ” ผ่านโปรแกรมการออกกำลังกายในวงกว้างด้วยกิจกรรมสัปดาห์สุขภาพและเทศกาลกีฬา รวมทั้งกิจกรรมการแข่งขันกีฬาย่อยนานาประเภทอย่างต่อเนื่อง 

ในการนี้ รัฐบาลจีนยังได้จัดสรร 60% ของรายได้จากการขายหวยการกีฬาจีน (China Sports Lottery) เข้าโครงการพัฒนาสุขภาพดังกล่าว Lotto กีฬาจีนเป็นเวทีการแทงพนันที่มีรัฐบาลเป็นเสมือน “เจ้ามือใหญ่” ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อโลกออนไลน์ได้รับความนิยมในจีน โดยมียอดขายมากเป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน

รัฐบาลจีนยังใส่เม็ดเงินก้อนใหญ่ในแต่ละปีเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นสนามและอุปกรณ์กีฬาตามชุมชนเมืองต่างๆ เพื่อสนับสนุนแผนสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ

สถิติของทางการจีนระบุว่า ณ ปลายปี 2021 จีนก่อสร้างสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬาเป็นเกือบ 4 ล้านจุด ครอบคลุมพื้นที่ 3,410 ตารางเมตร ส่งผลให้พื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬาต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.4 ตารางเมตร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 ตารางเมตรในปี 2025

จีนยังจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนให้พื้นที่ออกกำลังกายจำนวน 1,200-1,400 แห่งเปิดให้บริการแก่สาธารณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือเรียกเก็บค่าบริการต่ำ อาทิ สนามกีฬาของสถาบันการศึกษา และสวนสาธารณะ

ขณะเดียวกัน จีนยังผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรการกีฬาในทุกระดับของชุมชน และดำเนินโครงการนำร่องให้ศูนย์การกีฬาระดับชุมชนเข้ามาช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ 

ทั้งนี้ จีนมุ่งหวังที่จะกระตุ้นให้ประชาชนเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อรักษาสุขภาพทางกายภาพ ต่อยอดจากจำนวน 500 ล้านคน หรือ 37.2% ของจำนวนประชากรรวมของจีนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และมากกว่า 90% ของประชาชนอยู่ในระดับมาตรฐานทางกายภาพเฉลี่ยในปี 2020

ยิ่งเวลาผ่านไป พื้นที่ออกกำลังกายดังกล่าวก็กระจายตัวและมีคุณภาพดีขึ้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราเห็นอุปกรณ์ออกกำลังกายแบบง่ายๆ ตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ของแต่ละเมืองทั่วจีน จีนตั้งเป้าว่าจะมีประชาชนมากกว่า 100 ล้านคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกีฬาเพิ่มขึ้นในแต่ละปี

เท่านั้นยังไม่พอ เรายังได้เห็นคนชั้นกลางชาวจีนในชุมชนเมือง ลงทุนสมัครเข้าร่วมชมรมกีฬาและฟิตเนส และบางรายยังทุ่มเงินว่าจ้างผู้ฝึกสอนกีฬาส่วนตัวอีกด้วย แต่จีนก็ยังมีสัดส่วนของสมาชิกชมรมกีฬาและฟิตเนสต่อประชากรโดยรวมที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับของประเทศพัฒนาแล้ว 

นั่นหมายความว่า ตลาดจีนมีศักยภาพทางธุรกิจในด้านนี้อีกมากรออยู่ส่งผลให้ธุรกิจชมรมกีฬาและฟิตเนสกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งในเมืองใหญ่ของจีนไปโดยปริยาย

ในด้านซอฟท์แวร์ จีนก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬา โดยพัฒนาผู้ฝึกสอนด้านการกีฬาที่ได้รับใบอนุญาตการฝึกอบรมด้านกายภาพและทักษะจำนวนมากกว่า 2.7 ล้านคน บุคลากรเหล่านี้ประจำในศูนย์พัฒนาทักษะด้านการกีฬามากกว่า 2,300 แห่งทั่วจีน

ในส่วนของการพัฒนากีฬาเพื่อการแข่งขัน จีนก็มุ่งหวังจะใช้ทุกเวทีการแข่งขันระดับระหว่างประเทศสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียว และโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง ในการสานต่อผลงานที่ดีแน่นอนว่า ในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศครั้งต่อไป เราคงเห็นภาพนักกีฬาจีนก้าวขึ้นรับเหรียญรางวัลและทำลายสถิติโลกกันอีกมาก

ในแง่ของประเภทกีฬา จีนก็ตั้งเป้าหมายการพัฒนากีฬาหลายประเภทที่ท้าทายมาก ยกตัวอย่างเช่น ฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาสุดโปรดของสี จิ้นผิง จีนก็ตั้งเป้าที่จะก้าวเป็นหนึ่งในมหาอำนาจแห่งวงการฟุตบอลโลกภายในปี 2050

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 7) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก AFP

“เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” จีนเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศด้านฟุตบอลอย่างไม่หยุดหย่อน ณ ปี 2020 จีนมีเด็กที่สนใจฝึกซ้อมฟุตบอลถึงราว 30 ล้านคน และมีสถาบันฟุตบอลที่ได้รับการรับรองกว่า 20,000 แห่ง และสนามฟุตบอลน้อยใหญ่อีก 70,000 แห่ง รวมทั้งไชนีสซุปเปอร์ลีก (Chinese Super League) ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ในเอเชีย 

นอกจากนี้ จีนยังพัฒนาความร่วมมือกับสโมสรฟุตบอลชั้นนำของหลายประเทศ เพื่อสนับสนุนโครงการเฟ้นหา “เด็กพรสวรรค์” และพัฒนานักฟุตบอล “ดาวรุ่ง” ของจีนในระยะยาว

มองออกไปในอนาคต วันที่จีนได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกคงสร้างความตื่นตะลึงได้เกินจินตนาการ... พิธีเปิดและปิดที่ยิ่งใหญ่ สถิติจำนวนผู้ชมในสนามใหม่ที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม การถ่ายทอดสดผ่านทีวีระดับความละเอียด 8K มูลค่าการขายของที่ระลึก และอีกหลายสถิติอื่นอีกมากมาย

และยิ่งหากทีมชาติจีนผ่านเข้าไปถึงรอบลึกๆ ของฟุตบอลโลกที่จีนเป็นเจ้าภาพได้ด้วยล่ะก็ ผมก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าบรรยากาศในจีนระหว่างและหลังฟุตบอลโลกจะคึกคักมากเพียงใด

แบดมินตันและปิงปองก็ยังคงเป็นกีฬายอดนิยมที่จีนยังคงตั้งเป้าหมายให้นักกีฬาจีนติดอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ต่อไป แต่ในมุมมองของผมแล้ว กีฬาที่ได้รับกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วง20ปีที่ผ่านมาก็ได้แก่ บาสเกตบอล

หลายปัจจัยสำคัญทำให้กีฬาบาสเกตบอลได้รับความสนใจจากชาวจีนกันอย่างกว้างขวาง อาทิ การเข้าตลาดจีนอย่างเต็มตัวของเอ็นบีเอ (NBA) จากสหรัฐฯ และการมีนักบาสจีนเป็นตัวหลักในลีกชั้นนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยา หมิง (Yao Ming) นำไปสู่การถ่ายทอดสดและไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านพันธมิตรรายใหญ่อย่างเทนเซนต์ (Tencent) ตามด้วยการเปิดบัญชีเหว่ยปั๋ว (Weibo) ที่มีคนจีนติดตามหลายสิบล้านคนตลอดจนความพร้อมของสนาม/โซนเล่นบาส สถาบันฝึกอบรม และร้านเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ของเอ็นบีเอที่ผุดขึ้นทั่วจีน

บาสเกตบอลอาชีพของจีน “CBA” ก็ดึงดูดโค้ชและนักบาสชั้นนำของจีนและต่างชาติเข้ามาสร้างสีสัน มีการถ่ายทอดสดไปยังตลาดต่างประเทศ และมีแฟนคลับติดตามชมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ประมาณว่ามีคนจีนนิยมเล่นบาสอยู่ราว 300 ล้านคนในปัจจุบัน หรือเท่ากับราวจำนวนประชากรของสหรัฐฯ ทั้งประเทศ!!!

อี-สปอร์ต ก็เป็นอีกกีฬาหนึ่งที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วภายหลังการได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ สถาบันการศึกษาในจีนต่างเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เมืองใหญ่อย่างน้อย 6 แห่ง อันได้แก่ เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) หังโจว (Hangzhou) ฉงชิ่ง (Chongqing) ซีอาน (Xi’an) ไหโค่ว (Haikou) และซานญ่า (Sanya) กำลังแข่งกันสร้างชื่อเป็น “ฮับอี-สปอร์ต” ของจีน

รายงานของอุตสาหกรรมระบุว่า ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่คนจีนต้องใช้เวลาอยู่แต่ในบ้าน ธุรกิจนี้ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนแซงเกาหลีใต้ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของโลกเมื่อไม่กี่ปีก่อน และด้วยอัตราการเติบโตระดับสองหลักก็ทำให้ธุรกิจอี-สปอร์ตของจีนไล่จี้สหรัฐฯ ใกล้ขึ้นทุกขณะ

คราวหน้าเราจะไปเจาะลึกถึง “เคล็ดลับ” ของการคัดสรรและพัฒนานักกีฬาจีนกันครับ ...



ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง