TNN online วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ชวนไปคุยเรื่องฟุตบอลโลกที่กาตาร์โดยที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องโดยตรงกับจีนซะสองตอน วันนี้ผมอยากชวนคุยเรื่องการเป็นผู้สนับสนุน “กาตาร์ 2022” ของแบรนด์ชั้นนำของจีนที่ตามมาด้วย “ควันหลง” มากมาย พร้อมกับการโบกมือลาฟุตบอลโลกครั้งแรกของตะวันออกกลางที่เต็มไปด้วยสีสันจนยากจะลืม ...

ข้อมูลของดีลอยต์ (Deloitte) ระบุว่า “กีฬาฟุตบอลสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจในมูลค่ากว่า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี คิดเป็นกว่า 40% ของอุตสาหกรรมกีฬาโดยรวม หรือเทียบเป็นเศรษฐกิจอันดับที่ 17 ของโลก” โดยมีฟุตบอลโลก เป็นแม่เหล็กตัวใหญ่สุด 


วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


โดยทั่วไปแล้ว ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขัน ค่าธรรมเนียมการเป็นพันธมิตรกับฟีฟ่า (FIFA) และค่าสนับสนุนการแข่งขันถือเป็นแหล่งรายได้หลัก ตามลำดับ และฟุตบอลโลกครั้งนี้ ค่าสปอนเซอร์เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ คิดเป็นเงินราว 1,350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 30% ของรายได้โดยรวม โดยมีพันธมิตรและผู้สนับสนุนฟุตบอลโลกสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการรวม 14 แบรนด์ 

อาทิ แบรนด์เก่าแก่อย่างอาดิดาส (Adidas) โคคา-โคล่า (Coca-Cola) แม็กโดนัลด์ (McDonalds) บัตรวีซ่า (Visa) และแอนฮาวเซอร์-บุช (Anheuser-Busch) ขณะเดียวกันก็มีตราสินค้าของเอเซียอีกถึง 9 ราย อาทิ ฮุนได-เกีย (Hyundai-Kia) แบรนด์ค่ายรถของเกาหลีใต้ และกาตาร์แอร์เวย์ (Qatar Airways) สายการบินแห่งชาติ ที่ทีมชาติของตนเองผ่านเข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้าย

แต่ก็มีอีกหลายแบรนด์ที่ไม่เข้าข่ายดังกล่าว อาทิ ว่านต๋ากรุ๊ป (Wanda Group) ไฮเซ้นส์ (Hisense) เหมิงหนิวเดียรี่ (Mengniu Dairy) และวีโว่ (Vivo) ของจีน บายจูส์ (Byju's) สตาร์อัพด้านการศึกษาของดินแดนภารตะ และอีกแบรนด์หนึ่งก็ได้แก่ คริปโตดอตคอม(Crypto.com) แพล็ตฟอร์มซื้อขายเงินคริปโตของสิงคโปร์ ซึ่งนำไปสู่ข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ ...

ประการแรก พันธมิตรและผู้สนับสนุนของเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต แม้กระทั่งในคราวที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพเมื่อ 20 ปีก่อนก็มี 6 แบรนด์ของชาติเจ้าภาพจากจำนวน 15 แบรนด์ หรือโดยสรุป สัดส่วนของแบรนด์พันธมิตรและผู้สนับสนุนของเอเชียต่อแบรนด์โดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 6/15 ในปี 2002 เป็น 9/14 ในปี 2022 ซึ่งนับเป็นการสร้างปรากฏการณ์หน้าใหม่ของแบรนด์เอเชียในเวทีโลก

ผมสังเกตเห็นแบรนด์โซนี่ (Sony) และเอมิเรสต์ (Emirates) ของเอเชียหายหน้าไป ขณะที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างคอนติเนนตัล (Continental) และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ก็ถอนตัวจากการเป็นผู้สนับสนุนในครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังไม่มีแบรนด์ญี่ปุ่น และมีเพียง 1 แบรนด์ของเกาหลีใต้ที่เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุน “กาตาร์ 2022” ทั้งที่ ทีมชาติของทั้งสองประเทศเข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้าย หลายฝ่ายประเมินว่า สิ่งนี้สะท้อนถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง อันเนื่องจากสารพัดวิกฤติในช่วงหลายปีหลัง

จากรายงานของฟีฟ่าระบุว่า ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียมีชาวเอเชียชมการแข่งขันถึง 1,600 ล้านคน คิดเป็น 43% ของคนดูทั่วโลก นั่นหมายความว่า ผู้สนับสนุนการแข่งขันสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมชาวจีนและต่างชาติจำนวนมาก

นักการตลาดยังวิเคราะห์อีกว่า ตลาดโทรทัศน์ในเอเชียยังมีขนาดใหญ่ แม้ว่าผู้ชมจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับที่อื่นในโลก แต่ความยั่วยวนทางการเงินก็แฝงไว้ซึ่งศักยภาพทางการตลาดใน 10 ปีข้างหน้า นี่อาจเป็นสาเหตุที่แบรนด์เอเซียจำนวนมากยอมทุ่มทุนค่าสปอนเซอร์จำนวนมหาศาล ทั้งที่ ทีมชาติของตนเองไม่ได้ลงไปร่วมฟาดแข้งรอบสุดท้าย

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าทีมชาติของจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลกเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก การเป็นสปอนเซอร์จากกิจการของประเทศเหล่านี้จะคึกคักมากขนาดไหน


วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


ประการที่ 2 ผู้สนับสนุนจากแบรนด์ของจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก แน่นอนว่า มาถึงวันนี้ คงไม่มีใครกล้าพูดอีกแล้วว่า “จีนไม่สร้างแบรนด์” เพราะแบรนด์จีนได้ลงทุนทำการตลาดมาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ การเกาะกระแสงานใหญ่ของโลก

แบรนด์จีนที่เป็นสปอนเซอร์ในฟุตบอลโลกครั้งนี้จัดเป็นแบรนด์ใหญ่ของจีนอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งได้รับประโยชน์อย่างมากจากการถ่ายทอดสดการแข่งขันในตลาดจีน โดยในทัวร์นาเม้นต์ปี 2018 รัสเซีย ผู้ชมการถ่ายทอดสดชาวจีนมีสัดส่วนคิดเป็น 18% ของจำนวนคนดูฟุตบอลโลกโดยรวม 

แต่แบรนด์จีนเหล่านี้มองไกลกว่าตลาดจีนในปัจจุบัน โดยต้องการขยับสถานะจากการเป็น “แบรนด์ระหว่างประเทศ” สู่ “แบรนด์ระดับโลก” ในระดับที่สูงขึ้น การร่วมเป็นสปอนเซอร์ทาบชั้นแบรนด์ชั้นนำของโลกยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีผ่านไปยังผู้บริโภคจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของแบรนด์จีนอีกด้วย ส่งผลให้แบรนด์จีนมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพันธมิตรของฟีฟ่าและผู้สนับสนุนฟุตบอลโลกในครั้งนี้

พูดถึงแบรนด์จีนที่เป็นผู้สนับสนุนฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ผมเลยขอนำเอาเกร็ดของแต่ละแบรนด์จีนมาเล่าให้ท่านผู้อ่านรู้จักมากขึ้น ...

ว่านต๋ากรุ๊ป หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ลิสต์ในฟอร์จูน 500 คนส่วนใหญ่รู้จัก “ว่านต๋า” ในฐานะกลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน แต่อันที่จริงกลุ่มประกอบธุรกิจอื่นอีกมากมาย อาทิ การก่อสร้าง บันเทิง สื่อ การผลิตอุตสาหกรรม บริการทางการเงิน ไฮเทค การค้าปลีก การรักษาพยาบาล และกีฬา 

ในปลายปี 2014 ต้าเหลียนว่านต๋าคอมเมอร์เชียลพร็อพเพอร์ตี้ (Dalian Wanda Commercial Properties) ซึ่งเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เข้าไปลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และทำสถิติไอพีโอที่มีมูลค่าสูงที่สุดในบรรดาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้หวัง เจี้ยนหลิน (Wang Jianlin) ผู้ก่อตั้ง มีสินทรัพย์มากกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กลายเป็นคนจีนที่รวยที่สุดอยู่ระยะหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ว่านต๋าถือเป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่มอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม โดยเทคโอเวอร์กิจการเอเอ็มซี (AMC) แฟรนไชส์โรงภาพยนตร์ที่ใหญ่สุดของโลกเมื่อหลายปีก่อน และเมื่อผนวกกับธุรกิจการผลิตภาพยนตร์และการกีฬา ก็สร้างรายได้ถึงเกือบ 30% ของรายได้โดยรวมของกลุ่ม

ว่านต๋ากรุ๊ปไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการกีฬา ในระหว่างปี 1994-2000 เคยเทคโอเวอร์ทีมฟุตบอลและเปลี่ยนชื่อเป็น “ต้าเหลียนว่านต๋าเอฟซี (Dalian Wanda F.C.) ซึ่งกลายเป็นทีมฟุตบอลชั้นนำของจีน นับแต่ปี 2011 ว่านต๋าได้เป็นผู้สนับสนุนไชนีสซุปเปอร์ลีก และเพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น บริษัทก็ทุ่มเงินกว่า 200 หยวนเพื่อสนับสนุนโครงการ “ดาวจรัสแสงในวงการฟุตบอล” ที่ส่งดาวรุ่งไปฝึกซ้อมฟุตบอล เรียนภาษาและวัฒนธรรมในสเปน


วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 5) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


นอกจากนี้ กลุ่มว่านต๋ายังเข้าไปซื้อหุ้น 20% ของแอตเลติโก แมดริด (Atletico Madrid) หนึ่งในทีมดังของสเปน และเปลี่ยนชื่อสนามใหม่เป็น “วานต๋า เมโทรโพลิตาโน” (Wanda Metropolitano) 

ในส่วนของฟุตบอลโลก วานต๋าก็ไม่ใช่หน้าใหม่แต่อย่างใด เพราะในปี 2016 กลุ่มว่านต๋าก็ลงนามมูลค่า 850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรระยะยาวของฟีฟ่าสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลโลกรวม 4 ครั้ง ตั้งแต่คราวก่อนที่จัดขึ้นที่รัสเซีย ครั้งนี้ที่กาตาร์ และจะยาวไปจนถึงปี 2030 ทำให้ว่านต๋าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนฟุตบอลโลกชั้นหนึ่งในปัจจุบัน 

วันนี้พื้นที่หมด เราไปคุยถึงแบรนด์อื่นๆ กันในตอนหน้าครับ ...





ภาพจาก AFP/รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ