TNN online วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

งวดเข้ามาทุกทีสำหรับแชมป์ฟุตบอลโลก “กาตาร์ 2022” ที่เต็มไปด้วยความ “พลิกล็อก” แต่ก็เป็นเสน่ห์ให้ผู้คนอยากติดตามชมการแข่งขันกันมากขึ้น ...

การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ในครั้งนี้ต้องฟันฝ่ายอุปสรรคและความท้าทายนานับประการ ไล่ตั้งแต่หลังการได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพที่มีกลิ่น “เงินใต้โต๊ะ” โชยมาแรง จนทำเอากาตาร์ถูกครหา และคณะผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของฟีฟ่า (FIFA) ซึ่งเป็นองค์กรจัดงานหลัก โดนสอบสวนในคดีรับสินบนกันมากมาย

ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาของการแข่งขันที่แตกต่างไปจากธรรมเนียมเดิมที่ปกติจัดในช่วงกลางปีมาเป็นช่วงปลายปีเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนระอุในกาตาร์ในช่วงฤดูร้อน ก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สร้างความไม่พอใจกับลีกฟุตบอลของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ที่ต้องปรับเปลี่ยนตารางครั้งใหญ่ 

หลายลีกดังในยุโรปที่เริ่มเปิดฤดูกาลไปในระยะแรก ก็มีนักเตะบาดเจ็บจำนวนมากและพลาดโอกาสในการร่วมแสดงฝีเท้าที่กาตาร์ในครั้งนี้ ขณะที่นักเตะบางส่วนที่ทีมของตนเองเข้ารอบลึกก็กังวลใจกับอาการบาดเจ็บมากขึ้นหลังจบการแข่งขันฟุบอลโลก เพราะต้องไปลุยฟุตบอลลีกกันต่อแบบไม่ได้ “พักน่อง” กัน


วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


ขณะเดียวกัน โดยที่กาตาร์มีอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้มีข้อกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่นที่แตกต่างและเข้มงวดกว่าของหลายประเทศ ส่งผลให้ผู้สนับสนุนการแข่งขันบางรายก็สูญเสียโอกาสในการจำหน่ายสินค้าของตนเองที่ขัดกับหลักศาสนา อาทิ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่แฟนบอลที่คุ้นเคยกับการ “ซดเบียร์ เชียร์บอล” ก็อาจรู้สึกเสียอารมณ์ไปบ้าง

นอกจากนี้ เจ้าภาพยังโดนข้อครหาเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือกลุ่มคน LGBTQ รวมทั้งแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องในกาตาร์ ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของแรงงานนับพันคนอีกด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความท้าทายใหญ่ของเจ้าภาพก็คือ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วง 3 ปีหลัง ส่งผลให้การจัดการแข่งขัน “อยู่บนเส้นด้าย” และขาดความแน่นอนอยู่นาน โดยก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์หลายคนยังเกรงว่ากาตาร์จะเจอ “โรคเลื่อน” หรือจำต้องจัดการแข่งขันใน “ระบบปิด” เลยก็มี

หากจำความกันได้ การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียวและโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมด้านกีฬาใหญ่ที่ถูกจัดไปก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องจัดการแข่งขันแบบ “ระบบปิด” ที่เกือบไร้คนดูในสนาม ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวท้องถิ่นและต่างชาติไม่อาจเดินทางไปร่วมชมการแข่งขันได้ ส่งผลให้การจัดการแข่งขันลดสีสันและความน่าสนใจไปมาก แถมผู้จัดงานยังสูญเสียรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นเป็นจำนวนมหาศาล


วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


แม้กระทั่งแขกรับเชิญพิเศษของไทยท่านหนึ่งที่เดินทางไปร่วมงานที่กรุงปักกิ่งก็ยังบ่นว่า การเข้าร่วมงานในครั้งนั้น “ไม่สามารถกระดิกตัวไปไหนได้เลย” โดยใช้เวลาทั้งหมดอยู่ที่โรงแรมที่พักและสนามแข่งขันเท่านั้น ขนาดจะขอแวะเข้าห้องน้ำระหว่างทางก็ยังทำไม่ได้ ทำให้ไม่อาจซึมซับความงดงามของบ้านเมืองและการต้อนรับของเจ้าภาพได้ดีเท่าที่ควร

แต่ครั้นเมื่อฟุตบอลโลกครั้งนี้ใกล้เข้ามา กาตาร์ก็ดูจะ “มากับดวง” กล่าวคือ เชื้อโควิดอ่อนแรงลงในช่วงหลัง ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีมุมมอง “ที่ต้องอยู่กับโควิด” ทำให้เริ่มคลายล็อก และเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศกันจนเกือบเป็นปกติ แถม “กาตาร์ 2022” ก็ยังเป็นกิจกรรมใหญ่แรกในยุคหลังโควิด

นอกจากการทุ่มเงินขยายสนามบินระหว่างประเทศฮาหมัด (Hamad International Airport) รถไฟใต้ดิน สนามฟุตบอล และสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมพรั่งอย่างที่คุยกันไปเมื่อคราวก่อนแล้ว เรายังได้เห็นความพยายามของกาตาร์ในการสั่งสมประสบการณ์จัดการแข่งขันกีฬาระดับระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง อาทิ การจัดแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพ แฮนด์บอลล์ชายโลก และกรีฑาชิงแชมป์โลก 

ด้วยจังหวะเวลาที่ดีดังกล่าว การเตรียมการจัดงานที่ยอดเยี่ยม และความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างจริงจังของกาตาร์ ทำให้แฟนบอลที่รอคอยเวลามานาน ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตั๋วนั่งชมฟุตบอลกว่า 3 ล้านใบได้ถูกจำหน่ายล่วงหน้าไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในประเทศใกล้เคียงจากซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ รวมทั้งคอลูกหนังจากบราซิล อาร์เจนตินา สหรัฐฯ เม็กซิโก อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และโมร็อกโค ที่ทีมชาติของตนเองเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในวงการกีฬาประเมินว่า ฟีฟ่าจะมีรายได้จากการจัดการแข่งขันในครั้งนี้มากกว่าเมื่อคราวที่จัดขึ้นที่รัสเซียในครั้งก่อนถึง 5,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งจากการลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งสร้างงานใหม่ราว 1.5 ล้านตำแหน่ง

สำนักงานส่งเสริมการลงทุนแห่งกาตาร์ (Investment Promotion Agency of Qatar) เปิดเผยว่า นับแต่ปี 2010 ที่กาตาร์ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 4.5% ต่อปี ขณะที่กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของกาตาร์ก็ระบุว่า แม้ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดในช่วงหลายปีหลัง แต่โอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวกับการตระเตรียมงานและการดำเนินการจัดฟุตบอลโลกยาวไปจนถึงปี 2023 รวมจำนวน 83 โครงการ

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากการเพิ่มขึ้นของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หลั่งไหลเข้าสู่กาตาร์ในหลากหลายสาขาธุรกิจ อาทิ บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ การโฆษณา การตลาด และด้านไอที อาทิ ซอฟท์แวร์ ระบบปฏิบัติการ และแอพพลิเคชั่น รวมทั้งฟินเทค และการท่องเที่ยว

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าพ่อวงการดิจิตัลอย่างกูเกิ้ล (Google) เปิดสำนักงานท้องถิ่น คลาวด์ระดับภูมิภาค และศูนย์แห่งความเป็นเลิศ ขณะที่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เจ้าแห่งซอฟท์แวร์ ก็เปิดคลาวด์ระดับภูมิภาคและศูนย์นวัตกรรมเพื่อให้บริการลูกค้าท้องถิ่น

ไอไลฟ์ดิจิตัล (iLife Digital) จากสหรัฐฯ ลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไอทีที่เขตฟรีโซนกาตาร์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน 1,500 ตำแหน่ง ส่วนกลุ่มยูบีเอส (UBS Group) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ก็วางแผนจะเปิดศูนย์ธุรกิจครบวงจรแห่งใหม่ในกรุงโดฮา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริการการเงินดิจิตัลและการพัฒนาเด็กพรสวรรค์ในท้องถิ่น รวมทั้งจะดึงผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตัล 200 คนเข้าไปในพื้นที่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ทำนองเดียวกันก็ขยายผลทางเศรษฐกิจต่อไปยังประเทศอื่นในตะวันออกกลาง ส่งผลให้สัดส่วน FDI ในภูมิภาคต่อโลกเพิ่มขึ้นจาก 5% เศษในปี 2019 เป็นกว่า 8% ในปี 2021

เมื่อการแข่งขันเริ่มคิกออฟก็นำไปสู่การขยายตัวของการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แบรนด์แฟรนไชส์โรงแรมชั้นนำอย่างฮิลตัน (Hilton) มาร์ริออต (Marriott) และเซ็นทารา (Centara) ของไทยที่ได้เข้าไปลงทุนและขยายบริการในกาตาร์ในช่วงหลายปีหลัง ก็คาดว่าจะมีแฟนบอลจองห้องพักเต็มตลอดการแข่งขัน 


วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 4) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


และมาถึงวันนี้ การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ก็ผ่านไปด้วยดี ได้รับความชื่นชมจากแขกรับเชิญพิเศษ แฟนบอล และสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้ชาวโลกรู้จักกาตาร์มากขึ้น และเสริมสร้างชื่อเสียงผ่านการเป็นเจ้าภาพ “จัดงานใหญ่” 

ประเทศในภูมิภาคต่างคาดหวังว่า “พลังละมุน” ในครั้งนี้จะ “ทรงพลัง” และช่วยเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว หลายประเทศยังต้องการสร้าง “จุดขายใหม่” ในด้านธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว การกีฬา และการรักษาพยาบาลในเวทีระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเตรียมสานต่อกระแสดังกล่าวผ่านกิจกรรมมากมาย 

อาทิ อาบูดาบี บาห์เรน และซาอุดิอาระเบีย เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันรถยนต์สูตร 1 (Formula One) ทัวร์นาเมนต์กอล์ฟระหว่างประเทศที่อาบูดีบี เทนนิสที่ดูไบ และอี-สปอร์ตในหลายประเทศในภูมิภาค โดยใช้สื่ออัล จาซีรา (Al Jazeera) ของกาตาร์ ที่พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางสื่อของโลกอาหรับช่วยประโคมข่าว

นักวิเคราะห์ของ PWC ยังประเมินไว้ว่า วงการกีฬาในตะวันออกกลางจะขยายตัวถึง 8.7% ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เทียบกับอัตราเฉลี่ยของโลกที่ 3% นอกจากนี้ กาตาร์ยังเตรียมสานต่อกระแสดังกล่าวผ่านการเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ในปี 2030 แต่ “การเดิมพันครั้งใหญ่” ดังกล่าวจะเกิดคุ้มค่าการลงทุนและก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นในระยะยาวหรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามที่รอคำตอบ 

คราวหน้าผมจะชวนคุยเรื่องการเป็นผู้สนับสนุน “กาตาร์ 2022” ของแบรนด์จีนที่ตามมาด้วย “ควันหลง” ...






แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ