TNN online วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน


เดิมผมตั้งใจว่าจะพาท่านผู้อ่านไปส่องกันว่า รัฐบาลจีนดำเนินการอย่างไรบ้างในการพัฒนาวงการกีฬาของจีนในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ได้ประโยชน์มากมายเช่นนี้ แต่ขอตอบคำถามของ FC ที่สอบถามเข้ามาว่ากาตาร์ลงทุนทำอะไรบ้างเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก “Qatar2022” ที่กำลังฟาดแข้งกันอย่างสนุกในขณะนี้ ... 

กาตาร์เป็นประเทศขนาดเล็ก โดยมีจำนวนประชากรไม่ถึง 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ ราว 20% เป็นคนท้องถิ่น ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานและอาศัยอยู่ในกาตาร์

กาตาร์มีสภาพเป็นเกาะขนาดไม่ถึง 11,600 ตารางกิโลเมตรในคาบสมุทรอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลางใกล้เคียงกับขนาดจังหวัดอุดรธานีในภาคอีสานของไทยแต่อุดมไปด้วยแหล่งสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอันดับต้นๆ ของโลก 

ด้วยราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีหลัง ทำให้กาตาร์มีรายได้จำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าประเทศ โดยรายได้จากน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนกว่า 70% ของรายได้โดยรวม คิดเป็นมากกว่า 60% ของจีดีพี และราว 85% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ 

ด้วยจำนวนประชากรที่ค่อนข้างน้อย ชาวกาตาร์จึงมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก และอันดับที่ 1 ของตะวันออกกลาง รวมทั้งยังเหนือกว่าของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ

กาตาร์ถือเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่มีขนาดเล็กที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งในเชิงขนาดในเชิงภูมิศาสตร์และจำนวนประชากร และยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกในตะวันออกกลางที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในรอบเกือบหนึ่งศตวรรษนับแต่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก AFP

ในการเตรียมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ เจ้าภาพที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว” แห่งนี้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนรวม300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีของไทย และนับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกเลยทีเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014เจ้าภาพอย่างบราซิลใช้เงินไปราว 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และที่รัสเซียเมื่อปี 2018 ก็ลงทุน 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวก็มีข้อครหาเกี่ยวกับการใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเป็นควันหลงอยู่ แต่เม็ดเงินที่ใช้ในการเตรียมการแข่งขันในครั้งนี้กลับสูงกว่าของการแข่งขัน 2 ครั้งก่อนหน้านี้หลายสิบเท่าตัวเลยทีเดียว ทำให้โลก “จับตามอง” จะมีอะไรที่ “สุดว้าว” ขึ้นมาใหม่

เงินลงทุนจำนวนดังกล่าวกระจายออกไปในหลายส่วน สิ่งแรกได้แก่ การลงทุนก่อสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ 7สนาม และปรับปรุงอีก 1 แห่ง เกือบทุกสนามติดตั้งเครื่องปรับอากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างพร้อมสรรพ ลบคำสบประมาทที่หลายฝ่ายกังวลใจเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ร้อนระอุไปได้มาก 

แถมหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ สนามฟุตบอลที่มีชื่อเก๋ไก๋ว่า “974” ซึ่งเป็นสนามที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์รีไซเคิ้ลมาเป็นโครงสร้างหลัก และสามารถถอดประกอบได้ จึงเป็นเพียงสนามฟุตบอลโลกชั่วคราวแห่งแรก อย่างไรก็ดี สนามแห่งนี้จะถูกนำไปประกอบใหม่เพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกหรือกีฬาอื่นต่อไปได้อีกด้วย 

หลายคนอาจสงสัยว่าชื่อสนาม “974” นี้มาจากอะไร คำตอบก็สะท้อนถึงความสร้างสรรค์ของทีมออกแบบ โดยมีสองความหมายซ่อนอยู่ ประการแรก ชื่อดังกล่าวเป็นจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการก่อสร้างสนาม และประการที่สอง ก็ตรงกับรหัสโทรศัพท์ระหว่างของกาตาร์อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างและปรับปรุงสนามฟุตบอลดังกล่าวก็ถือเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเพราะรัฐบาลกาตาร์ใช้เงินจำนวนมากเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายสนามบินระหว่างประเทศเฟสใหม่เพื่อรองรับแฟนบอลกว่า 1.5 ล้านคน และเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินแบบ “ไร้คนขับ” ที่เชื่อมต่อระหว่างสนามฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันสุดยิ่งใหญ่นี้

โดยที่กาตาร์มีจำนวนประชากรท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มากในแต่ละปี การลงทุนในโรงแรมที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นแบบถาวร ก็อาจนำไปสู่ปัญหา “ห้องว่าง” หลังการแข่งขันสิ้นสุดลง รัฐบาลกาตาร์จึงขยายทางเลือกที่พักอาศัย อาทิ การสร้างหมู่บ้านแฟนบอลที่สามารถรองรับผู้พักอาศัยจำนวน12,000 คน หมู่บ้านดังกล่าวจะถูกใช้ประโยชน์ในการศูนย์พัฒนาและเก็บตัวนักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาฟุตบอล และอื่นๆ ในระยะยาว

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก AFP


นอกจากนี้ กาตาร์ยังสร้างสรรค์ด้วยการนำเอาเรือครูซมาเป็นสถานที่พักและบันเทิงลอยน้ำ เพิ่มจำนวนอพาร์ตเม้นต์พร้อมบริการ และแค้มป์ยุคใหม่กลางทะเลทราย ซึ่งอาจมีแพ็กเก็จ “ขี่อูฐ” เป็นของแถมยามว่างด้วย

กาตาร์ยังจับมือกับหลายสายการบินในภูมิภาค อาทิ กาตาร์แอร์เวย์ (Qatar Airways) เอทิฮัดแอร์เวย์ (Etihad Airways) เอมิเรสต์ (Emirates) จาซีราแอร์เวย์ (Jazeera Airways) และแอร์อาราเบีย (Air Arabia) เพิ่มจำนวนและจัดตารางบินระหว่างสนามบินโดฮากับเมืองอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ อาบูดาบี และดูไบ (ยูเออี)และมานามา (บาห์เรน) เป็นนับร้อยเที่ยวบินต่อวัน เพื่อกระจายความต้องการด้านที่พักอาศัยของแฟนบอลที่กระจุกตัวในช่วงดังกล่าว

แฟนบอลจำนวนมากชอบไอเดียนี้มาก เพราะสามารถประหยัดค่าที่พักที่สูงลิ่วในกาตาร์ และไปใช้จ่ายเป็นค่าตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พักชั้นเยี่ยมในประเทศข้างเคียง หลายคนก็อาจคิดต่อถึงประเด็นเวลาที่อาจเสียไป ปรากฏว่ากาตาร์เตรียมเที่ยวรถไฟฟ้าใต้ดินและรถประจำทางไฟฟ้าไว้เป็นอย่างดี แถมการบินไปเมืองอื่นก็ใช้เวลาแค่อึดใจ อย่างโดฮา-ดูไบก็ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง 

ผมจำได้ว่าในสมัยที่รับราชการและได้รับมอบหมายภารกิจพิเศษให้ติดตามความคืบหน้าของงานออกแบบหมู่บ้านนักกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่กรุงโดฮา ทำให้ต้องเดินทางไปที่นั่นเป็นประจำเกือบทุกเดือน ในช่วงแรกที่ยังไม่มีเที่ยวบินตรงให้บริการระหว่างกทม.-โดฮาผมก็ต้องบินไปต่อเครื่องที่ดูไบ แต่ด้วยจำนวนสายการบินและเที่ยวบินแบบประจำเส้นทางและเช่าเหมาลำที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้แฟนบอลสามารถวางแผนการเดินทางไปเชียร์ทีมโปรดที่กาตาร์แบบ “ไปเช้า ค่ำกลับ” โดยไม่ต้องพักค้างคืนที่กาตาร์

วงการกีฬาจีนสู่อุตสาหกรรมโลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก AFP


ขณะเดียวกัน แฟนบอลก็ยังสามารถใช้ช่วงเวลาที่ทีมรักไม่ได้แข่งขัน ท่องเที่ยวในเมืองอื่นในภูมิภาคที่เจริญมากในปัจจุบันได้อีกด้วย เรียกว่า “ยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกหลายตัว” เลยทีเดียว แถมยังช่วยให้การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ในครั้งนี้สร้างประโยชน์ให้กับหลายประเทศในภูมิภาค และลดผลกระทบเชิงลบของ “อุปทานส่วนเกิน” ของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในระยะยาวอีกด้วย

นอกจากนี้ เพื่อความยั่งยืนและสภาพแวดล้อมที่ดี กาตาร์ยังใช้เงินจำนวนมหาศาลไปกับการลงทุนปลูกต้นไม้กว่า 1 ล้านต้นเพื่อเป็น “เส้นทางสีเขียว” สร้างบรรยากาศความร่มรื่นและความชุ่มชื้นที่ดีแก่แฟนบอล อย่างไรก็ดี ความพยายามในการสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ดังกล่าว ก็ถูกหลายฝ่ายดิสเครดิตว่าไม่เกิดขึ้นจริงตามที่เคยขายฝันไว้

จะพัฒนาววงการกีฬาสู่ระดับโลกดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไงคราวหน้า ผมจะพาไปเจาะประเด็นปัญหาและความท้าทายที่ “กาตาร์ 2022” ต้องประสบ รวมทั้งความคาดหวังในอนาคตกันครับ ...



ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง