TNN online เมื่อจีนใช้โมเดล “เมืองในสวน” สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อจีนใช้โมเดล “เมืองในสวน” สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนใช้โมเดล “เมืองในสวน” สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ (ตอนจบ)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนใช้โมเดล “เมืองในสวน” สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ไปติดตามกันต่อเลยว่า เซี่ยงไฮ้วางแผนจะมีวิธีการใดในการต่อยอด “เมืองในสวน” ให้เป็น “เมืองน่าอยู่” ได้ ...

เซี่ยงไฮ้จะเดินหน้าปรับปรุงและเปลี่ยนทุกพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ตัวอย่างสุดโดดเด่นที่แม้กระทั่งต่างชาติยังตื่นตะลึงและทึ่งกับความพยายามที่ผ่านมาก็ได้แก่ การเปลี่ยนเหมืองถ่านหินเก่าในเขตซงเจียง ชานเมืองเซี่ยงไฮ้ ให้กลายเป็นโรงแรม 7 ดาวใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่รายรอบไปด้วยแหล่งน้ำที่ใสสะอาดและอุทยานขนาดใหญ่ที่รายรอบอยู่ 

จากแผนงานของรัฐบาลเซี่ยงไฮ้พอคาดการณ์ได้ว่า เซี่ยงไฮ้จะมีสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 650 แห่ง ณ สิ้นปี 2022 แต่ประเด็นสำคัญคือ แล้วเซี่ยงไฮ้จะกลายเป็น “เมืองในสวน” ได้เมื่อไหร่กัน 

ในชั้นนี้ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ตั้งเป้าหมายใหญ่ที่จะก้าวขึ้นเป็น “เมืองในสวน” ที่น่าอยู่ให้ได้ภายในปี 2025 ซึ่งถึงตอนนั้น เซี่ยงไฮ้จะมีจำนวนสวนสาธารณะมากกว่า 1,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วเมือง และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างสะดวก

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี 2025 เซี่ยงไฮ้จะเปิดสวนสาธารณะใหม่เฉลี่ยปีละ 120 แห่ง ขณะที่สวนสาธารณะขนาดเล็กหลายแห่งก็จะถูกปรับแต่งใหม่ และสวนสาธารณะระดับชุมชนจำนวน 50 แห่งจะถูกสร้างขึ้นในบริเวณแม่น้ำซูโจวและหวงผู่ รวมทั้งใน 5 เมืองใหม่ของนครเซี่ยงไฮ้ 

นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่กรีนเวย์ในเมือง และนอกเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณวงแหวนรอบนอกเป็นระยะทางอีก 100 กิโลเมตรภายในปี 2025 และวางแผนจะเพิ่มกรีนเวย์เป็นมากกว่า 2,000 กิโลเมตรภายในปี 2035 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ป่าไม้ของเซี่ยงไฮ้มีสัดส่วนเป็น 1 ใน 4 ของพื้นที่โดยรวม 

เซี่ยงไฮ้วางแผนให้กรีนเวย์เป็นมากกว่าเพียงพื้นที่สีเขียว โดยต้องการใช้ประโยชน์เพื่อการปรับภูมิทัศน์และเพิ่มสีสันและความมีชีวิตชีวา รวมทั้งการเป็นพื้นที่เพื่อการออกกำลังกายและสร้างความแข็งแกร่งด้านสุขภาพแก่ผู้คนในเซี่ยงไฮ้และนักท่องเที่ยว 

ลองจินตนาการดูถึงพื้นที่กลางแจ้งที่มีท้องฟ้าที่แจ่มใส แหล่งน้ำที่ใสสะอาด สายลมที่สดชื่น และพื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วยนก ผีเสื้อ และแมลงหลากหลายสายพันธุ์ พร้อมด้วยกิจกรรมสันทนาการที่กระจายตัวไปทั่วเมืองว่าจะเต็มไปด้วยเสน่ห์และน่าอยู่ขนาดไหน 

พื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วยสีสันเหล่านี้ยังจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนในพื้นที่ ศิลปิน ช่างภาพ และนักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างแวะเวียนไปเพลิดเพลินและเก็บภาพบรรยากาศที่งดงามและหลากหลาย ผู้คนยังสามารถออกไปตั้งแคมป์ เล่นกีฬา และจัดงานศิลป์ในพื้นที่ป่าไม้และสวนสาธารณะที่กำหนดได้ 

นอกจากนี้ กรีนเวย์ยังจะเป็นประโยชน์ในการดึงดูดคนจีนและต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสมดุลระหว่างการทำงานและสันทนาการ ให้เข้าไปทำงานในพื้นที่แห่งนี้อีกมากในอนาคต

อีกสิ่งหนึ่งที่เซี่ยงไฮ้ทำอย่างสร้างสรรค์ ก็คือ การพยายามเรียนลัดการพัฒนา “เมืองในสวน” จากต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากเวทีการประชุมประจำปีกับคณะกรรมการที่ปรึกษาจากกลุ่มผู้นำธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Leaders' Advisory Council) 

ในการประชุม IBLAC ครั้งที่ 34 เมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้นำเรื่อง “ข้อริเริ่มเศรษฐกิจสีเขียวและการลดการปลดปล่อยคาร์บอน” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง “เมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน” ขึ้นเป็นประเด็นหารือหลัก

รัฐบาลเซี่ยงไฮ้มองว่า ข้อคิดเห็นและเสนอแนะที่ได้รับจาก IBLAC เปี่ยมไปด้วยคุณค่า และจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ในหลายด้าน อาทิ การปกป้องสภาพแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพสูงที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศและชุมชนคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อริเริ่มด้านการลงทุนและอื่นๆ อีกมากมายในอนาคต

เมื่อจีนใช้โมเดล “เมืองในสวน” สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ (ตอนจบ)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

อนึ่ง IBLAC เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1980 ด้วยสมาชิก 12 รายจาก 7 ประเทศ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเกือบ 50 รายจาก 16 ประเทศและภูมิภาคในปัจจุบัน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธุรกิจข้ามชาติที่ลงทุนในเซี่ยงไฮ้ อาทิ พีดับบิวซี (PwC) โตชิบา (Toshiba) โรช (Roche) ลอรีอัล (L'Oréal) และดานอน (Danone)

ทางการเซี่ยงไฮ้วาดฝันไว้ว่า เมื่อเสร็จสมบูรณ์ในอนาคต ความเป็น “เมืองในสวน” จะมีความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิทัศน์ที่งดงามยิ่งขึ้นในอนาคต ผู้ที่อาศัยในพื้นที่จะสามารถได้กลิ่นหอมของดอกไม้และต้นหญ้าเมื่อเปิดประตูหน้าต่างบ้าน การสูดอากาศบริสุทธิ์ขณะอ่านหนังสือ เล่นเกมส์ออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟน และการออกกำลังกายกลางแจ้ง

ปัจจุบัน จีนอาจเปิดโอกาสให้เฉิงตูและเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองนำร่องในการนำเอาโมเดล “เมืองในสวน” มาทดลองใช้ก่อน แต่ผมมั่นใจเหลือเกินว่า เมืองเหล่านั้นจะไม่ใช่เมืองสุดท้ายอย่างแน่นอน 

จือโป๋ว (Zibo) ตอนกลางของมณฑลซานตงก็จ่อคิวในการประกาศเป็น “เมืองในสวน” เฉพาะในปี 2021 จือโป๋วสร้างสวนสาธารณะใหม่หลากหลายรูปแบบถึงกว่า 270 แห่ง และสร้างและพัฒนาสวนไม้ดอกและพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ถึงกว่า 5,700 ไร่

 อย่างไรก็ดี ในบรรดาสวนสาธารณะใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในจีนในปี 2021 สวนวัฒนธรรมและการกีฬาในพื้นที่ไฮเทคจือโป๋ว ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นสวนที่สร้างสรรค์ได้อย่างสุดประทับใจ โดยพื้นที่มีขนาด 75 ไร่ ประกอบไปด้วย 8 ส่วนที่แปลกแตกต่างจากเมืองในสวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

โดยสวนแห่งนี้มีสิ่งก่อสร้าง อาทิ พื้นที่กิจกรรมเด็ก โรงภาพยนตร์แห่งความรัก (Love Theater) แคนยอนเพื่อการผจญภัย ร้านกาแฟบนยอดเขา และสนามกีฬาและวัฒนธรรม ทำให้พื้นที่สวนสาธารณะดังกล่าวกลายเป็น “แลนด์มาร์ก” แห่งความสุนทรีในชุมชนเมืองนี้ไปเลย

มองออกไปข้างหน้า จือโป๋วจะเดินหน้าสร้างและตกแต่งสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะก้าวขึ้นเป็น “เมืองในสวน” เต็มตัวภายในปี 2035 โดยมีสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวรูปแบบอื่นกระจายอยู่ทั่วเมือง 

นอกจากสวนวัฒนธรรมและการกีฬาดังกล่าว จีนยังจะไม่หยุดคิดและพัฒนา โดยเมื่อเร็วๆ นี้หลายเมืองก็เริ่มเปิดเผยถึงโมเดลอื่นในการสร้าง “เมืองน่าอยู่” กันบ้างแล้ว อาทิ เมืองแห่งสวนน้ำ และเมืองนิเวศวิทยา

แต่เป้าหมายสำคัญก็คือ จีนจะทำทุกวิถีทางเพื่อเสริมสร้างให้เกิด “ความถ้วนหน้า” ในเชิงสุขภาพและสังคม และให้มั่นใจว่าเมื่อคนจีนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านในอนาคต ก็จะอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียว เพลิดเพลินกับธรรมชาติและการอาบแดด หรือสนุกกับการพาสัตว์เลี้ยงเดินเล่นในพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ สมเป็น “เมืองน่าอยู่” อย่างแท้จริง ...

ภาพจาก  :  AFP

ข่าวแนะนำ