TNN online เมื่อจีนใช้โมเดล “เมืองในสวน” สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อจีนใช้โมเดล “เมืองในสวน” สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนใช้โมเดล “เมืองในสวน” สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนใช้โมเดล “เมืองในสวน” สร้างความเป็นเมืองน่าอยู่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมมีโอกาสให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุ “ฟ้าใส by Siriwan” และเกริ่นเกี่ยวกับโมเดลใหม่ในการพัฒนา “เมืองในสวน” (City in the Park) ที่อาจจะเปลี่ยนสถานะของจีนจากผู้ซื้อ “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) เป็นผู้ผลิตและผู้ขายรายใหญ่ได้ในอนาคต ผลปรากฏว่ามีผู้ชมผู้ฟังรายการดังกล่าวจำนวนมากให้ความสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมมา ผมก็เลยรับปากว่าจะหาเวลาเขียนบทความเรื่องนี้ให้อ่านกัน เราไปติดตามดูกันเลยครับ ...

ภายหลังการเติบโตของโลกออนไลน์ในจีนในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องออกจากบ้าน เมืองใหญ่ของจีนกลับต้องเผชิญปัญหาใหม่ ยิ่งเมื่อผสมโรงเข้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วงราว 3 ปีหลัง ก็ทำให้หลายหัวเมืองดูเหมือนจะขาด “สีสัน” และ “จิตวิญญาณ” ไปเป็นอย่างมาก

ถึงขนาดที่รัฐบาลจีนต้องระดมสมองเพื่อค้นหาโมเดลใหม่เพื่อพัฒนาชุมชนเมืองให้เป็น “เมืองน่าอยู่” และดำเนินโครงการเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น แทนการนั่งจับเจ่าอยู่ภายในห้องพักในคอนโดมีเนียม ซึ่งเราได้เห็นหลายหัวเมืองของจีนออกแบบโครงการพัฒนาเมืองใหม่มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ชุมชน 15 นาทีเดิน (15-Minute Walk Community)

โดยที่จีนให้ความสำคัญกับ “สิ่งแวดล้อม” อย่างมากหลังจากที่สี จิ้นผิง ได้ประกาศเป้าหมาย “Carbon Peak” และ “Carbon Neutral” ในปี 2030 และ 2060 ตามลำดับ เราจึงเห็นการขยายโครงการ “สีเขียว” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกระจายออกไปทั่วเมือง อาทิ การปลูกต้นไม้ในแต่ละหัวมุมถนน การเปลี่ยนไปใช้ “รถยนต์พลังงานทางเลือก” และอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน แม้กระทั่งอาคารบ้านเรือนก็ถูกรังสรรค์ให้เป็น “อาคารที่หายใจได้” มีต้นไม้ปกคลุมทั่วไปหมด

และสำหรับผู้อ่านที่เคยไปศึกษาต่อหรือท่องเที่ยวในต่างประเทศ ก็อาจเคยได้ยินชื่อเสียงหรือแวะเวียนไปเยือนของสวนสาธารณะชั้นนำในหลายแห่งของโลก อาทิ เซ็นต์เจมส์พาร์คในใจกลางกรุงลอนดอน เซ็นทรัลพาร์คที่นิวยอร์ก สวนดอกไม้ลักเซมเบิร์กที่กรุงปารีส หรือสวนอิบิราปูเอราที่เซาเปาโล

เราถือว่านี่เป็นการสร้างเมืองในโมเดล “สวนในเมือง” (Park in the City) แต่ดูเหมือนหลายหัวเมืองของจีนกำลังพยายามต่อยอดความเป็นเมืองน่าอยู่บนพื้นฐานของ “สีเขียว” ที่บานสะพรั่งกว่านั้น โดยปรับไปใช้โมเดล “เมืองในสวน” (City in the Park) หรือ “เมืองสวน (Park City)

เฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวนที่มีประชากร 20 ล้านคน ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของ “เมืองในสวน” ของจีน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 สี จิ้นผิง ผู้นำจีนได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมนครเฉิงตู และเอ่ยถึงแนวคิด “กงหยวน เฉิงชี” (Gongyuan Chengshi) หรือ “เมืองในสวน” ขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมมอบหมายให้ผู้บริหารของเมืองยกระดับแผนการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับระบบนิเวศ 

แนวความคิดภายใต้โมเดล “เมืองในสวน” มุ่งเน้นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แทนที่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม 

สิ่งนี้สะท้อนว่า รัฐบาลจีนตระหนักดีถึงความสำคัญของการพัฒนาเมืองที่อยู่บนแนวคิดว่า “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ที่ซึ่งการปกป้องรักษาวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น และนำไปสู่ความรุ่งเรืองในระดับที่สูงขึ้นในระยะยาว

ในทางปฏิบัติ “เมืองในสวน” จะเน้นการสร้างและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกใน 2 ส่วนสำคัญ อันได้แก่ สวนสาธารณะและกรีนเวย์ (Greenway) หรือ “เส้นทางสีเขียว” ซึ่งหมายถึง เส้นทางเพื่อการพักผ่อนและออกกำลังกายท่ามกลางแมกไม้ ดอกไม้ สายน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นที่อาจถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบในวงกว้าง

ในกรณีของเฉิงตู เราเห็นการก่อสร้างสวนสาธารณะน้อยใหญ่เป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา เฉพาะในปีก่อน เฉิงตูสร้างสวนสาธารณะใหม่ถึง 30 แห่ง ทำให้เฉิงตูมีสวนสาธารณะขนาดเล็กและสนามเด็กเล่นกระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของเมือง ขณะเดียวกันก็มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น 

หนึ่งในนั้นได้แก่ สวนป่าในเมืองแห่งเทือกเขาหลงฉวน (Longquan Mountain Urban Forest Park) ซึ่งเปรียบเสมือน “หัวใจสีเขียว” (Green Heart) ขนาด 1,275 ตารางกิโลเมตรในเขตเมือง ทำให้กลายเป็นสวนสาธารณะในชุมชนเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ในด้านซีกตะวันตกของเมือง ก็มีสวนสาธารณะหมีแพนด้าแห่งชาติ (Giant Panda National Park) ที่ให้ความสำคัญกับการผนวกการคุ้มครองระบบนิเวศและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่เฉิงตูได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น “บ้านของหมีแพนด้า”

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่อีกหลายแห่งในบริเวณนอกเมือง อาทิ แถบวงแหวนรอบที่ 3 ที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่จำนวนมากกำลังผุดขึ้น ขณะที่ทางตอนใต้ของเฉิงตูก็มีอุทยานนิเวศวิทยากุ้ยซี (Guixi Ecological Park) ที่มีพื้นที่สีเขียวครอบคลุม 5 ตารางกิโลเมตรที่มีทะเลสาบ เส้นทางเดิน ลานกิจกรรม และพื้นที่เพื่อการออกกำลังกาย อาทิ สนามวอลเลย์บอล ที่รายรอบไปด้วยอาคารสูง เสมือนเป็น “เซ็นทรัลพาร์คแห่งเฉิงตู” 

ในด้านกรีนเวย์ ก็มีการก่อสร้าง “เทียนฝูกรีนเวย์” (Tianfu Greenway) ทางตอนใต้ของเมืองที่ปัจจุบันมีโครงข่ายลู่เดินและลู่จักรยานที่ลัดเลาะตามแนวป่า สวนดอกไม้ สนามหญ้า และทะเลสาบ รวมทั้งพื้นที่กิจกรรมพิเศษ และเชื่อมโยงระหว่างสวนสาธารณะน้อยใหญ่นับร้อยแห่งริมสองฝั่งแม่น้ำจิ่นเจียง (Jinjiang River) ที่ไหลผ่านใจกลางเมืองเฉิงตู เมื่อแล้วเสร็จ เส้นทางดังกล่าวจะมีระยะทางรวมถึง 17,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นกรีนเวย์ที่ยาวที่สุดในโลกในปี 2050 

จากพื้นที่ที่ผู้นำจีนประกาศโมเดล “เมืองในสวน” เมื่อราว 4 ปีก่อน กรีนเวย์ดังกล่าวได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนหย่อนใจ กรีนเวย์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเขตเมืองใหม่เทียนฝูที่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ของกลุ่มธุรกิจไฮเทค และพร้อมพรั่งด้วยฟรีไว-ไฟ (Wi-Fi) จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองวิทยาศาสตร์” (Science City) อีกแห่งหนึ่งของจีน

กรีนเวย์ดังกล่าวยังถูกใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ ตลาด งานแสดงสินค้า งานเทศกาล และอื่นๆ กล่าวคือ นอกจากพื้นที่พักผ่อนบนบกแล้ว แม่น้ำจิ่นเจียงก็ยังถูกใช้ประโยชน์เพื่อบริการท่องเที่ยวทางน้ำบนสายน้ำระยะทางราว 5 กิโลเมตรที่ผ่านใจกลางเมือง และสถานที่สำคัญ

อาทิ ย่านธุรกิจเฉิงตู 339 หรือ “เฉิงตูซานซานจิ่ว” ตามชื่ออาคารรับส่งสัญญาณสื่อสารที่มีความสูง 339 เมตร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของย่านอุตสาหกรรมบริการทันสมัย และพาวิลเลียนเหอเจียง (Hejiang Pavilion) เก๋งจีนทรง 8 เหลี่ยมที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งตั้งอยู่ในจุดบรรจบของที่แม่น้ำฝู (Fu) และแม่น้ำหนาน (Nan) ก่อนรวมกันเป็นแม่น้ำจิ่นเจียง และถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเมือง

นอกจากนี้ อาคารที่ก่อสร้างผิดแบบก็ถูกรื้อทิ้ง ทำให้สามารถออกแบบและพัฒนาถนนในย่านเมืองเก่า พร้อมกับการปลูกต้นไม้และสวนดอกไม้ และการตกแต่งทางด้านวัฒนธรรม เพื่อการใช้ชีวิต ธุรกิจ และการปกป้องระบบนิเวศไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ แผนแม่บทของนครเฉิงตูระบุไว้ว่า ภายในปี 2025 เมืองจะสร้างกรีนเวย์มากกว่า 10,000 กิโลเมตร และจำนวน 1,000 สวนสาธารณะขนาดเล็ก รวมทั้งสร้างสรรค์ทิวทัศน์ของเมืองในสวนอีก 1,000 จุดต่อปี โดยพื้นที่สีเขียวจะอยู่ห่างกันไม่เกิน 300 เมตร หรือว่าง่ายๆ หากใช้ชีวิตในเฉิงตู เราจะได้เพลิดเพลินกับพื้นที่สีเขียวในทุกๆ ระยะ 300 เมตร

เท่านั้นไม่พอ รัฐบาลท้องถิ่นยังได้ลงทุนก่อสร้างระบบและโครงข่ายการขนส่งทางราง รถประจำทาง ทางเดินเท้า และการเลือกใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกที่นำไปสู่การลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งการดำเนินโครงการเพื่อชีวิตที่ดีและเปี่ยมสุขเฉลี่ยปีละราว 10 โครงการ 

ด้วยสภาพอากาศที่ดี วิถีชีวิตที่เรียบง่าย อาหารที่เอร็ดอร่อย และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว ก็อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเฉิงตูได้รับการจัดอันดับว่าเป็นแชมป์ “เมืองแห่งความสุข” ของจีนมาถึง 13 ปีต่อเนื่อง!!!

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากให้จีนเปิดประเทศอีกครั้งในเร็ววัน จะได้เยือน “เมืองในสวน” ที่นครเฉิงตูกัน คราวหน้าเราไปดูการพัฒนา “เมืองในสวน” ของเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้กันครับ ...

ภาพจาก  : AFP

ข่าวแนะนำ