TNN online เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

นอกเหนือจากดัชนีย่อยด้าน “ตลาดการเงิน” แล้ว เซี่ยงไฮ้ยังสามารถทำคะแนนได้ดีในอัตราระดับสองหลักในดัชนีย่อยตัวอื่นๆ ไล่ตั้งแต่ดัชนีย่อย “ระบบนิเวศทางการเงิน” ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 24.6% ของปีก่อน โดยเซี่ยงไฮ้จัดได้ว่ามีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินชั้นนำของโลก และมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายมากที่สุดในจีน อาทิ ระบบการชำระเงินหยวนข้ามพรมแดน แพลตฟอร์มการซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า และสำนักหักบัญชีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Clearing House) 


นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังได้เดินหน้าในอีกหลายมาตรการที่ทำให้มหานครแห่งนี้มีความเป็นมิตรทางการเงิน และดึงดูดใจนักลงทุนต่างชาติมากยิ่งขึ้น อาทิ การจัดระเบียบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในบัญชีทุนให้แก่กิจการต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่พิเศษหลินกั่ง (Lingang) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหม่ผู่ตง (Pudong) ที่อยู่ในพื้นที่ตามนโยบาย FTZs เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดสรรและปรับเปลี่ยนเงินสำรองการลงทุนในรูปของเงินหยวนและเงินตราต่างประเทศ 


เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


เราเห็นการเพิ่มการใช้เงินหยวนออฟชอร์ผ่านการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อการ ชำระเงินในรูปเงินหยวนในยุโรปและศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคอื่นเพื่อทดสอบการถ่ายโอนเงินข้ามพรมแดน การผ่อนคลายอุปทานเงินหยวนในตลาดเงินหยวนออฟชอร์ และการเปิดกว้างการเข้าสู่ตลาดทุนในจีนแก่นักลงทุนต่างชาติ


รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินแก่การค้า การลงทุน สินเชื่อ และการเข้าลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสตาร์ (STAR Market) ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับธุรกิจที่มีนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนหลังนี้ยังจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมพลังทางการเงินและทรัพยากรอื่นแก่กิจการที่เกี่ยวข้องในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในอีกทางหนึ่งด้วย


ทั้งนี้ นับแต่ที่ตลาดสตาร์ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2019 มีบริษัทที่เข้าไปลิสต์ในตลาดสตาร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า จากจำนวน 25 บริษัทในเดือนกรกฎาคม 2019 เป็น 428 บริษัทในโอกาสครบรอบ 3 ปี และเพิ่มเป็น 473 บริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2022 โดยมีมูลค่าตลาดมากกว่า 5.1 ล้านล้านหยวนในปัจจุบัน


เซี่ยงไฮ้ยังพยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินและนักลงทุนต่างชาติ ผ่านตลาดประกันภัย และการเปิดให้นักลงทุนสถาบันและธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ร่วมลงทุนในธุรกิจจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Management) ที่เปิดให้มีบทบาทในการควบคุมหลักทรัพย์ และบริษัทจัดการกองทุน 


นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังเปิดกว้างให้แก่กิจการต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดอนุพันธ์ เพื่อรองรับความต้องการในการบริหารจัดการความเสี่ยงและปรับปรุงกลไกการกำหนดราคาอัตราดอกเบี้ย 


ขณะที่ดัชนีย่อยด้าน “นวัตกรรมทางการเงิน” ก็ขยายตัว 14.2% และด้าน “บุคลากรที่มีพรสวรรค์ทางการเงิน” เพิ่มขึ้น 13.7% ของปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งที่สูงขึ้นของซอฟท์พาวเวอร์ด้านการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ 


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิตัลของเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลินกั่ง ในด้านบิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ คลาวด์คอมพิวติ้งและบล็อกเชน ได้ถูกผนวกเข้ากับอุตสาหกรรมการเงินในพื้นที่ ทำให้เกิดกิจการ “ฟินเทค” (FinTech) และนวัตกรรมบริการทางการเงินขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ ธุรกิจจัดการความมั่งคั่งออนไลน์ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากท่ามกลางการขยายตัวของรายได้และระดับความมั่งคั่งของผู้คนในจีน


ขณะเดียวกัน ในช่วง 2-3 ปีหลัง ความก้าวหน้าดังกล่าว วิกฤติโควิด-19 การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และปัจจัยอื่นก็มีส่วนช่วยผลักดันให้สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมผนวกเข้ากับสถาบันการเงินออนไลน์อย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการ 


ปัจจุบัน จีนถือเป็นผู้นำโลกในแง่ของอัตราการเข้าถึงและปริมาณของการชำระเงินออนไลน์ บริการชำระเงินออนไลน์พื้นฐานกระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเมืองและชนบท ขณะเดียวกัน จีนยังขยายการใช้เงินหยวนดิจิตัล  (e-CNY) ในหลายพื้นที่และรูปแบบ ส่งผลให้เงินหยวนดิจิตัลถูกใช้เพิ่มขึ้นในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง และกำลังกระจายตัวจากหัวเมืองสำคัญในประเทศสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย และตามแนว “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”


เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


โดยจีนได้เตรียมจะใช้โอกาสที่หังโจวจะเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ในปี 2023 เปิดตัวให้ชาวต่างชาติได้ใช้งานอย่างจริงจัง หลังจากที่พลาดโอกาสเมื่อคราวปักกิ่งจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อต้นปี 2022 


นอกจากนี้ สถาบันวิจัยสกุลเงินดิจิตัล (The Digital Currency Research Institute) ภายใต้แบ้งค์ชาติจีน ยังได้จัดตั้งโครงการ “ฟินเทคเซี่ยงไฮ้” (Shanghai FinTech) ขึ้นในพื้นที่เพื่อดึงดูดการลงทุนของฟินเทคจีนและต่างชาติให้หลั่งไหลเข้าไปลงทุนในเซี่ยงไฮ้


ในทางกลับกัน สถาบันการเงินก็สนับสนุนทางการเงินแก่กิจการไฮเทคในพื้นที่ในหลายรูปแบบเช่นกัน อาทิ การปล่อยสินเชื่อระยะยาว กองทุนการลงทุน และการร่วมลงทุนในกิจการไฮเทค รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสีเขียว ซึ่งทำให้กิจการและเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมเติบใหญ่ แข็งแกร่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น


เซี่ยงไฮ้ถือเป็นแหล่งผลิตบุคลากรเชิงคุณภาพชั้นนำแห่งหนึ่งของจีน โดยมีสถาบันการศึกษาหลายสิบแห่งกระจายทั่วเมือง และยังมีเมืองมหาวิทยาลัยในย่านซงเจียง (Songjiang) ปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้สามารถผลิตบัณฑิตถึงปีละ 100,000 คน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมถึงด้านการเงินและเทคโนโลยีเพื่อป้อนตลาดท้องถิ่น 


ขณะเดียวกัน เซี่ยงไฮ้ก็ยังสร้างกลไกที่เปิดโอกาสให้กิจการที่เกี่ยวข้องสามารถดึงเอาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากพื้นที่อื่นหรือจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในพื้นที่ได้อีกด้วย


 


ขณะที่ดัชนีย่อยด้าน “สถาบันการเงิน” ก็ยังคงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว 13.1% โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2022 เซี่ยงไฮ้มีสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตเข้าไปลงทุนจำนวน 1,719 แห่งเพิ่มขึ้นจาก 1,227 รายเมื่อ 10 ปีก่อน ในจำนวนนี้ สถาบันการเงินต่างชาติมีสัดส่วนถึง 30% ของจำนวนสถาบันการเงินโดยรวม ส่งผลให้เซี่ยงไฮ้มีจำนวนสถาบันการเงินทะลุหลัก 10,000 ราย และกลายเป็นเมืองที่มีจำนวนสถาบันการเงินของจีนและต่างประเทศเข้าไปลงทุนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 


ทั้งนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของธนาคาร กิจการประกันภัย และบริษัทจัดการกองทุนของต่างชาติที่เข้าไปขยายธุรกิจในจีนเลือกลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ ขณะที่สถาบันบริหารสินทรัพย์ 10 อันดับแรกของโลก และจำนวน 17 ในท๊อป 20 ของโลกก็ได้เข้าไปลงทุนในเซี่ยงไฮ้กันหมดแล้ว


นอกจากนี้ ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศแห่งนี้ยังพยายามผนวกกฎระเบียบและระบบภายในประเทศเข้ากับต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ได้เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินนอกจีนแผ่นดินใหญ่มากมาย อาทิ การเชื่อมโยงตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้-ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้-ลอนดอน และการเชื่อมโยงหุ้นกู้ เซี่ยงไฮ้ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศชั้นนำของโลก โดยแผนพัฒนาฉบับที่ 14 ของเซี่ยงไฮ้ได้กำหนดเป้าหมายในปี 2025 เอาไว้ว่า ตลาดธุรกรรมการเงินในเซี่ยงไฮ้จะแตะหลัก 2,800 ล้านล้านหยวน และมีกิจการฟินเทคชั้นนำอย่างน้อย 50 ราย 


เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้ยังจะมีบทบาทนำในการยกระดับบุคลากรทางการเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานคุณภาพสูงจำนวนรวม 550,000 คนภายในปี 2025 เพื่อสนับสนุนการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ และเสริมสร้างเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจการเงินของจีนอีกด้วย


จะเห็นได้ว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศของเซี่ยงไฮ้ได้ “รุดหน้า” ไปมาก และแม้ว่าการระบาดของโควิด-19 อาจหยุดหรือชะลอเศรษฐกิจและอีกหลายสิ่งในโลกได้ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่สามารถหยุดการเดินสู่เป้าหมายใหญ่ของเซี่ยงไฮ้ในการเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศได้ ...





แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง