TNN online เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

“ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ” (International Financial Center) ถือเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญที่จีนมุ่งหวังพัฒนาให้เกิดขึ้นในเซี่ยงไฮ้เพื่อขอ “แบ่งเค้ก” ตลาดการเงินจากนิวยอร์ก ลอนดอน และศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศอื่น ผ่านมาหลายปี การดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องคืบหน้าไปถึงไหน ใกล้เคียงความจริงมากน้อยเพียงใด และจะเป็นเช่นไรในอนาคต...


มหานครเซี่ยงไฮ้หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า “ซ่างไห่” เดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็ก และพัฒนาตนเองเป็นศูนย์กลางการค้านับแต่ศตวรรษที่ 10 ก่อนถูกต่างชาติเข้ามายึดครองหลายระลอกรวมยาวนานนับศตวรรษ 


เซี่ยงไฮ้ได้รับสมญานามว่า “ปารีสตะวันออก” (Oriental Paris) ถือเป็น “หัวมังกร” ทางเศรษฐกิจของจีน โดยมีสัดส่วนเกือบ 5% ของจีดีพีโดยรวมของจีน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยทั้งประเทศ โดยภาคบริการมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจโดยรวม และภายใต้ความพยายามในการพัฒนากลุ่มเมืองของจีน เซี่ยงไฮ้ก็ยังเป็นศูนย์กลางความเจริญของพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) ซึ่งถือเป็นระเบียงเศรษฐกิจที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของจีน

เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก reuter

 

 

ที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ถูกใช้เป็นเมือง “นำร่อง” ในการทดสอบทดลองการเปิดกว้างและการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมทางความคิด และโครงการใหม่ของจีนเสมอ รวมทั้งยังเป็นพื้นที่สำคัญของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับสูง


ปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนอันดับที่ 1 ของจีน และยังได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางในด้านอื่นๆ อาทิ เศรษฐกิจ การเงิน และลอจิสติกส์ระหว่างประเทศ รวมทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 


ในด้านการค้าระหว่างประเทศ เซี่ยงไฮ้มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้ามากถึงปีละ 800,000 ล้านหยวน คิดเป็นปริมาณสินค้าอยู่ที่ราว 3 ล้านตันต่อวัน ขณะที่ภาคการค้าระหว่างประเทศของเซี่ยงไฮ้เติบโตในอัตราที่สูงอันดับต้นๆ ของจีนมาโดยตลอด 


นอกจากนี้ มหานครแห่งนี้ยังนับเป็นแหล่งรองรับการลงทุนของต่างชาติที่สำคัญที่สุดในจีน โดยถูกเลือกเป็นเมืองนำร่องในการดำเนินโครงการเขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนเพื่อรองรับธุรกิจใหม่ที่มีนวัตกรรม และโดยที่ระบบเศรษฐกิจเปิดกว้างสู่ภายนอก เซี่ยงไฮ้จึงนับว่ามีภูมิคุ้มกัน และมีเสถียรภาพดี ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเร็วหรือชะลอตัวเพียงใด ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญเป็นเพราะบทบาทของภาคเอกชน ต่างชาติ และภาคบริการที่มีอยู่สูง 


ในส่วนของการเงินระหว่างประเทศ เมื่อเดือนมีนาคม 2009 คณะรัฐมนตรีจีนได้กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นมา เราก็สังเกตเห็นการทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดกว้างในช่องทางการสื่อสาร การลดขั้นตอนและกฎระเบียบทางการเงิน การเพิ่มความโปร่งใส การผ่อนคลายการควบคุมบัญชีทุน และการพัฒนาบุคลากรทางการเงิน เป็นต้น


ในความพยายามที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศดังกล่าว เซี่ยงไฮ้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเป็นศูนย์กลางในด้านอื่นๆ อาทิ  การขนส่ง การค้า และการลงทุน รวมทั้งเทคโนโลยีขั้นสูง ให้เป็นเสมือน “ทางผ่าน” ไปพร้อมกัน 

เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

นี่เป็นเหตุผลว่าในช่วงที่ผ่านมา ทำไมเราจึงเห็นเซี่ยงไฮ้ได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบาย และการดำเนินมาตรการ/โครงการที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม และในยุคหลัง เซี่ยงไฮ้ยัง “ตีกรอบ” ให้แผนการดำเนินงานมีความสอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การแข่งขันบนพื้นฐานของกลไกตลาด และการพัฒนาคุณภาพสูงผ่านการปฏิรูปตลาด โดยไม่ทิ้งเป้าหมายใหญ่ของการผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลของรัฐบาลจีน


การเพิ่มปริมาณและขอบข่ายการใช้เงินหยวนในระดับระหว่างประเทศ จึงนับเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ความพยายามเหล่านี้จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมการเงิน และสถานะของการเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศของเซี่ยงไฮ้ได้พัฒนาไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


จากข้อมูลดัชนีความเจริญรุ่งเรืองทางการเงินเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Financial Prosperity Index) ที่ดำเนินการบนความร่วมมือระหว่างสมาคมการเงินแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Financial Association) และศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจแห่งชาติจีน (China Economic Information Service) ภายใต้สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) ระบุว่าในปี 2021 อุตสาหกรรมการเงินของเซี่ยงไฮ้ทำคะแนนพุ่งขึ้นแตะ 5,560.27 จุด ขยายตัว 12.9% ของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับของปี 2020 ที่ขยายตัว 5.6% 


ดัชนีดังกล่าวเริ่มจัดทำกันมานับแต่ปี 2010 โดยอาศัยข้อมูลปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง 6 ด้านเพื่อใช้ในการประเมิน อันได้แก่ ตลาดการเงิน สถาบันการเงิน บุคลากรที่มีพรสวรรค์ทางการเงิน ความเป็นระหว่างประเทศทางการเงิน นวัตกรรมทางการเงิน และระบบนิเวศทางการเงิน 


ในภาพย่อย เซี่ยงไฮ้ในปี 2021 สามารถทำคะแนนในส่วนของ “ตลาดการเงิน” เพิ่มขึ้น 7.3% ของปีก่อน โดยธุรกรรมของตลาดการเงินโดยรวมของเซี่ยงไฮ้มีมูลค่ามากกว่า 2,500 ล้านล้านหยวน ขยายตัว 10.4% ของปีก่อน และเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัวเมื่อเทียบกับของ 10 ปีที่ผ่านมา

เซี่ยงไฮ้กับฝันที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

อุตสาหกรรมการเงินยังได้เพิ่มบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจท้องถิ่น สัดส่วนมูลค่าเพิ่มทางการเงินต่อจีดีพีของเซี่ยงไฮ้ได้เพิ่มขึ้นจาก 11% ในปี 2012 เป็น 18% ในปี 2021 ส่งผลให้เซี่ยงไฮ้ได้กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีตลาดการเงินระดับชาติที่ใหญ่และครอบคลุมที่สุดของจีน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ พันธบัตร หุ้นกู้ สกุลเงิน เงินตราต่างประเทศ ตลาดซื้อขายล่วงหน้า ทองคำ และประกันภัย


มูลค่าตลาดของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange) ก็ติดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก ขยายตัวเกือบ 2 เท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดหุ้นกู้อินเตอร์แบ้งค์ก็อยู่อันดับที่ 2 มูลค่าการค้าในตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Gold Exchange) และหลายสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Futures Exchange) ก็ติดอันดับที่ 1 


ตลาดการเงินของเซี่ยงไฮ้ยังคงจะเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติในอนาคต คราวหน้าผมขอพาไปพูดคุยรายละเอียดเกี่ยวกับดัชนีย่อยด้านอื่นๆ และแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อพัฒนาความเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศของเซี่ยงไฮ้ในอนาคตกันครับ ...





แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง