TNN online จีนโกยเงินจากการขายความอบอุ่นให้ชาวยุโรป โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

จีนโกยเงินจากการขายความอบอุ่นให้ชาวยุโรป โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนโกยเงินจากการขายความอบอุ่นให้ชาวยุโรป โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนโกยเงินจากการขายความอบอุ่นให้ชาวยุโรป โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ลมหนาวโชยมาแล้ว แต่สำหรับชาวยุโรปที่กำลังเผชิญ “วิกฤติพลังงาน” ก็อาจบอกว่า เริ่มหนาวมาหลายเดือนก่อนหน้านี้แล้ว เพราะสถานการณ์วิกฤติพลังงานที่ผันผวนจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าหนาว และอุณหภูมิลดต่ำลงทุกขณะ ก็เกิดคำถามว่าคนยุโรปจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างไรเพื่อจะไม่หนาวตายในหนาวนี้ และทำไม “วิกฤติ” นี้จึงกลายเป็น “โอกาส” ของจีน ...

สถานการณ์วิกฤติของแต่ละประเทศในยุโรปอาจหนักเบาแตกต่างกัน และพยายามดำเนินมาตรการเพื่อรับมืออย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศส ซึ่งถูกรุมเร้าจากปัญหาการชุมนุมประท้วงที่ยาวนานเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างของพนักงานในโรงกลั่นน้ำมัน จนทำเอาสถานีบริการน้ำมันหลายแห่งต้องปิดบริการชั่วคราว ได้ตัดสินใจคลอด “แผนประหยัดพลังงาน” ฉบับใหม่ ซึ่งตั้งเป้าที่จะลดปริมาณการใช้พลังงาน 10% ภายในปี 2024 (จากระดับของปี 2019) 

ในแผนดังกล่าว รัฐบาลได้กำหนดชุดมาตรการที่หลากหลายและกว้างขวาง อาทิ อาคารของหน่วยงานภาครัฐจะตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 19 องศาเซลเซียส และจะลดลงอีก 1 องศาเซลเซียสในวันที่กระแสไฟฟ้าขาดแคลน ตัดการใช้น้ำอุ่นในห้องน้ำ และพนักงานให้แต่ละองค์กร “ทำงานจากที่บ้าน” รวมทั้งจำกัดความเร็วของรถยนต์ของภาครัฐไว้ไม่เกิน 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

จีนโกยเงินจากการขายความอบอุ่นให้ชาวยุโรป โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังขอความร่วมมือให้ประชาชนปิดไฟและเทอร์โมสตัท (Thermostat) ที่ใช้ควบคุมอุณหภูมิภายในอาคาร ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจาก30 กิจการรายใหญ่ของฝรั่งเศสที่จะปิดไฟในอาคารและพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานและควบคุมอุณหภูมิของเครื่องทำความร้อนและเครื่องปรับอากาศ 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศในยุโรปไม่มีทางเลือกมากนัก และจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ซึ่งจำหน่ายในราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดในยุโรปอย่างเยอรมนีที่เดิมพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 55% ของทั้งหมด น่าจะโดน ”หนักสุด” เพราะแหล่งพลังงานส่วนนี้หดหายไปสิ้นนับแต่เดือนกันยายน 2022 ทำให้ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าพลังงานที่จัดซื้อจากพันธมิตรเป็นจำนวนมหาศาล

วิกฤติพลังงานดังกล่าวขยายวงต่อไปถึงด้านเศรษฐกิจ เพราะจากสถิติพบว่า ราคาก๊าซธรรมชาติในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นกว่า 50% และยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยานจนยากจะกดหัวลง รัฐบาลของบางประเทศที่พอมี “กำลัง” ต้องเร่งออกแพคเก็จอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อลดผลกระทบของราคาพลังงานที่มีต่อค่าครองชีพของประชาชนและเศรษฐกิจมหภาค

ขณะเดียวกัน จากสถิติการใช้พลังงานในยุโรปพบว่า นับแต่ต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา อุปสงค์การใช้พลังงานเพื่อทำความร้อนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราเร่งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า 

เท่านั้นไม่พอ วิกฤติพลังงานยังได้ขยายวงกว้างขึ้นเมื่อท่อก๊าซนอร์ดสตรีม (Nord Stream) 1 และ 2 ที่ใช้ขนส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างรัสเซียและยุโรประเบิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ทำให้เกิดรอยรั่วใหญ่ ซึ่งสหรัฐฯ และรัสเซียต่าง “ชี้นิ้ว” กันไปมาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายดังกล่าว 

จีนโกยเงินจากการขายความอบอุ่นให้ชาวยุโรป โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ท่อก๊าซนอร์ดสตรีม 1 และ 2 ดังกล่าวปิดการซัพพลายก๊าซธรรมชาติในเวลาต่อมา ขณะที่การขนส่งก๊าซธรรมชาติทางเรือก็ไม่สามารถทดแทนการขนส่งทางท่อได้ ทั้งในเชิงปริมาณและค่าใช้จ่าย 

รัฐบาลของ 15 ประเทศในสหภาพยุโรปต้องเรียกประชุมด่วนเมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ณ ปราสาทปราก (Prague Castle) สาธารณรัฐเช็ค ซึ่งถือเป็นปราสาทเก่าแก่ที่ใหญ่สุดในโลก เพื่อหารือมาตรการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติพลังงานท่ามกลางการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ใจกลางกรุงปราก

หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ผู้นำสหภาพยุโรปพูดคุยกันก็ได้แก่ การกำหนด “ราคาสูงสุด” (Price Cap) ของก๊าซธรรมชาติ แต่ที่ประชุมก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปในประเด็นวิธีการกำหนดราคาสูงสุดได้ และบางส่วนไม่เห็นพ้องกับมาตรการดังกล่าว ผู้นำของสหภาพยุโรปจึงต้องแข่งกับเวลากับความหนาวที่ทวีกำลังมากขึ้น โดยในชั้นนี้ ผู้นำสหภาพยุโรปวางแผนจะจัดประชุมสุดยอดครั้งต่อไปในช่วงวันที่ 20-21 ตุลาคม ที่กรุงบรัสเซลล์ เบลเยี่ยม

ด้วยสถานการณ์ที่ทวีความหนักหน่วงเพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้ชาวยุโรปต้องหันไปพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ เราได้ยินข่าวว่า ชาวยุโรปจำนวนมากใช้เวลาว่างเดินเข้าป่าเพื่อเก็บฟืนตุนไว้ใช้ทำความร้อนในช่วงฤดูหนาวกันมาแล้ว 

ขณะเดียวกัน ชาวยุโรปก็หาซื้อเครื่องมืออุปกรณ์สร้างความอบอุ่นหลากหลายรูปแบบกันเป็นจำนวนมาก เครื่องทำความร้อนไฟฟ้า (Electric Heaters) เครื่องปั๊มความร้อน (Heat Pumps) และผ้าห่มไฟฟ้า (Electric Blankets) ถือว่าเป็น “ทางเลือก” ที่ประหยัดกว่าสำหรับชาวยุโรป เมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น 

โดยหนึ่งในแหล่งซัพพลายสำคัญของสินค้าดังกล่าวก็ได้แก่ จีน ด้วยความพร้อมในด้านการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของจีน ทำให้การส่งออกเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวจากจีนในตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วิกฤติพลังงานในครั้งนี้จึงแปรเปลี่ยนเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจีน 

สำนักงานบริหารทั่วไปด้านศุลกากรแห่งชาติ (General Administration of Customs) กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 จีนส่งออกผ้าห่มไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 97% และเครื่องทำความร้อนไฟฟ้าขยายตัว 23% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

จีนโกยเงินจากการขายความอบอุ่นให้ชาวยุโรป โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โดยการส่งออกฮีตเตอร์ไฟฟ้าของจีนในปีนี้ส่วนใหญ่เทไปยังตลาดอิตาลี เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สเปน และเยอรมนี ขณะที่ผ้าห่มไฟฟ้าที่ส่งออกไปยังกรีซ อิตาลี โปแลนด์ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ก็เพิ่มจำนวนขึ้นถึง 2 เท่าตัว ทำเอาผู้ผลิตหลายรายต้องว่าจ้างทำงานนอกเวลาเพื่อให้สามารถทันต่อความต้องการของยุโรป

ผลการสำรวจของกลุ่มวิจัย GfK ของเยอรมนีระบุว่า ฮีตเตอร์ไฟฟ้าจำนวนกว่า 600,000 เครื่องถูกขายในเยอรมนีในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นเกือบ 35% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และยอดขายอาจทะลุ 1 ล้านเครื่อง ณ สิ้นปีนี้

ยอดขายผ้าห่มไฟฟ้าของห้างดังแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรในปีนี้ เพิ่มขึ้น 67% จากช่วงปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีน ขณะที่การค้นหาสินค้าดังกล่าวออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 5 เท่าตัว ทำให้ผ้าห่มไฟฟ้าจัดเป็นของใช้ภายในบ้านที่ขายดีที่สุดในสหราชอาณาจักรผ่าน Amazon.com

ขณะเดียวกัน สมาคมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแห่งชาติจีน (The China Household Electrical Appliances Association) ก็เปิดเผยว่า การส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทำความร้อนขยายตัวในปีนี้ท่ามกลางการชะลอตัวของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมของจีน ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี การส่งออกเครื่องปั๊มความร้อนของมีเดีย (Midea) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน เพิ่มขึ้นถึง 215% จากของปีก่อน  

หุ้นของกลุ่มไฉ่หง (Caihong Group) ในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น ซึ่งถือเป็นหุ้นกิจการผ้าห่มไฟฟ้ายอดนิยม กระโจนแตะเพดาน 10% ต่อวันถึง 4 วันในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ณ ระดับราคา 29.04 หยวนต่อหุ้น ซึ่งนับว่าเป็นราคาสูงที่สุดในประวัติการณ์ของบริษัท 

ขณะที่อีกรายหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่เมืองเฉิงตู (Chengdu) มณฑลเสฉวน (Sichuan) ก็ให้สัมภาษณ์กับหนานฟางสุดสัปดาห์ (Nanfang Weekend) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ผู้บริหารของบริษัทได้รู้สึกถึงโอกาสในการส่งออกที่เกิดขึ้นจากวิกฤติพลังงานและการเอาชนะความยากลำบากจากหลายสถานการณ์ อาทิ คลื่นความร้อน และการล็อกดาวน์จากโควิด-19” 

เมืองซินเล่อ (Xinle) ในมณฑลเหอเป่ย (Hebei) บริเวณพื้นที่ตอนกลางของจีน ถือเป็น “เมืองแห่งผ้าห่มไฟฟ้า” โดยมีจำนวนโรงงานกว่า 40 บริษัท ว่าจ้างแรงงาน 11,000 คน และมีกำลังการผลิตมากกว่า 16 ล้านชิ้นต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของจำนวนผ้าห่มไฟฟ้าโดยรวมที่ผลิตในจีน 

ผู้ประกอบการรายหนึ่งเจ้าของแบรนด์ “Arctic People” หรือ “เป่ยจี๋เหริน” (Beijiren) ในภาษาจีน ถึงขนาดเปรยว่า “ตลอดเวลา 35 ปีที่ผลิตผ้าห่มไฟฟ้ามา เขาไม่เคยเจอเหตุการณ์การพุ่งทะยานของคำสั่งซื้อมากเช่นนี้มาก่อน” 

เพื่อให้ทันต่อความต้องการที่ทาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว โรงงานของเขาต้องเดินหน้าผลิตสินค้าเกือบตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน และว่าจ้างแรงงานใหม่เพิ่มอีกเกือบ 200 คนนับแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา แถมยังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานอยู่ ทั้งนี้ กว่า 95% ของสินค้าของบริษัทถูกขายไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหราชอาณาจักร อิตาลี และประเทศอื่นในยุโรป

ผู้บริหารของวั่งเฟิงเทค (Wangfeng Tech) ผู้ผลิตผ้าห่มไฟฟ้ารายหนึ่งในเมืองซินเล่อ ก็กล่าวไว้ว่ายังมีอีกหลายบริษัทในเมืองนี้ที่ได้รับออเดอร์ที่เป็นกอบเป็นกำจากยุโรป “ข่าวการสั่งซื้อผ้าห่มไฟฟ้าจากยุโรปมาราวกับพายุที่เคลื่อนตัวมาอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ถึงแหล่งที่มา”

จีนโกยเงินจากการขายความอบอุ่นให้ชาวยุโรป โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โรงงานผลิตฮีตเตอร์ไฟฟ้าหลายแห่งในเมืองสือซี (Cixi) ในนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ก็เดินสายการผลิตล่วงเวลาในการเร่งผลิตฮีตเตอร์แบบพกพา ส่วนใหญ่เพื่อตลาดเยอรมนี ขณะที่ผู้ผลิตของจีนรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์กลางแห่งชาติจีน (CCTV) ว่า เมื่อต้นปีนี้ บริษัทได้รับคำสั่งซื้อฮีตเตอร์ไฟฟ้ามูลค่ารวม 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มออเดอร์อย่างไม่คาดคิดอีกราว 1 ใน 3 ของยอดคำสั่งซื้อเดิมเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา

ด้วยกลไกการสร้างความร้อนผ่านท่อน้ำ เครื่องปั๊มความร้อนดังกล่าวสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับเครื่องต้มน้ำพลังงานถ่านหิน ซึ่งตอบสนองการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติและสอดคล้องกับความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศในยุโรป ผู้ผลิตสินค้าเครื่องทำความร้อนไฟฟ้าของจีนรายอื่นต่างได้รับประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าวเช่นกัน

ขณะเดียวกัน เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผ้าห่มไฟฟ้าของจีนได้รับความนิยมสูงสุดก็เพราะราคาที่ไม่สูงมากนัก และการใช้ผ้าห่มไฟฟ้าเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเครื่องทำความร้อนภายในบ้านทั่วไปถึงกว่า 30% ทั้งนี้ ความประหยัดดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นหากราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าในยุโรปดีดตัวขึ้นในช่วงหนาวจัด

แรงกดดันด้านเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ผู้คนในยุโรปต้องทนอยู่กับความหนาวเย็นที่ทำท่าจะหฤโหดสุดในปีนี้ โดยบางส่วนเลือกหาซื้อเครื่องทำความร้อนไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย บ้างก็พยายามสร้างความอบอุ่นภายในบ้านด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 

ขณะเดียวกัน บางรายก็บอกว่า จะทนไม่เปิดฮีตเตอร์จนกว่าจะหนาวจัด โดยจะเลือกใช้ผ้าห่มผืนใหญ่และเครื่องดื่มร้อนช่วยประทังความหนาว ท่ามกลางความกังวลใจว่า ราคาไฟฟ้าจะขยับขึ้นอีกมาก และ “เซ็นทรัลฮีตเตอร์” อาจถูกจำกัดการใช้งานในบางช่วงเวลา และไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงในอนาคต

ท่ามกลางการคุมเข้มซัพพลายก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของรัสเซีย สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ มาตรการแซงชั่นของโลกตะวันตกที่ขาดผลสัมฤทธิ์ และพายุร้ายลูกใหม่ที่อาจถาโถมตามมา การทำให้บ้านอบอุ่นอย่างประหยัดเพื่อเอาชนะ “วิกฤติพลังงาน” ในช่วงฤดูหนาวนี้อาจเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับประชาชนชาวยุโรป แต่ดูเหมือนว่า ความท้าทายที่ “ใหญ่กว่า” ก็ได้แก่ การเตรียมรับมือกับ “สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ” ที่ต่อเนื่องยาวนานในอนาคต!!! ...


ภาพจาก  :  AFP / Beijiren Electric Appliance Co., Ltd.

ข่าวแนะนำ