TNN online การสานต่อ "ครัวไทยสู่บ้านจีน" ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

การสานต่อ "ครัวไทยสู่บ้านจีน" ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การสานต่อ ครัวไทยสู่บ้านจีน ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

การสานต่อ "ครัวไทยสู่บ้านจีน" ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในช่วงหลายปีหลัง ไทยพยายามดำเนินกิจกรรม/โครงการเพื่อทำให้วิสัยทัศน์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เกิดเป็นรูปธรรม ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผมเองก็พยายามต่อยอดวิสัยทัศน์ดังกล่าวในการนำอาหารไทยเข้าส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวจีนในเชิงลึกภายใต้กรอบแนวคิด “ครัวไทยสู่บ้านจีน” มาอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างเช่น การประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ของอาหารไทย การจัดเทศกาลอาหารและผลไม้ไทยตามแหล่งชุมชนและร้านอาหารไทย การจัดแจกชิมเพื่อสร้างความเป็นที่รู้จักและกระตุ้นการบริโภคอาหารไทย อาทิ ข้าวหอมมะลิ และผลไม้นานาชนิดของไทย 

รวมทั้งการจัดกิจกรรมสาธิตการทำอาหารไทย และการสอนการทำอาหารไทย การแกะสลักผักผลไม้ ไล่ไปจนถึงการจัดประกวดแข่งขันการทำอาหาร “จานเด็ด” ของไทยเพื่อผลักดันอาหารไทยเข้าสู่ครัวของพี่น้องชาวจีน โดยหวังให้ครอบครัวชาวจีนทำอาหารไทยบริโภคเป็นประจำ และสร้างฐานผู้บริโภควัยเด็กของอาหารไทยเพื่อโอกาสในระยะยาว

การสานต่อ ครัวไทยสู่บ้านจีน ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

แม้กระทั่งช่วงที่โควิด-19 ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ” จากจีน ผมก็ยังพยายามผลักดันให้เกิดกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา หอการค้าไทยในจีนได้ร่วมมือกับสำนักงานที่ปรึกษาด้านการเกษตร ณ นครเซี่ยงไฮ้

จัดโครงการ “ดินเนอร์พิเศษสุดกับกงสุลเกษตรไทยและค่ำคืนแห่งเครื่องปรุงรสสุดพิเศษของไทย” (Exclusive Dinner with Thai Agricultural Consul, and Premium Thai Ingredients Night) ณ ร้าน Eat and Work ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานร่วมที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 9 และ 10 ของห้างสรรพสินค้าซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ หรือ “เจิ้งต้ากว๋างฉ่าง” ฝั่งผู่ตง ใจกลางนครเซี่ยงไฮ้

เมื่อพูดถึง Eat and Work สำหรับผมแล้ว ถือว่าเป็นสุดยอดของ Co-Working Space ที่เปี่ยมด้วยความสะดวกและมีวิวทิวทัศน์งดงามที่สุดในเซี่ยงไฮ้เลยทีเดียว 

ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้นหรือครับ ประการแรก การเดินทางไปห้างฯ แห่งนี้สะดวกมาก ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถประจำทาง หรือแม้กระทั่งเรือข้ามแม่น้ำ ขณะเดียวกัน ภายในพื้นที่ก็มีอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายประเภทให้ผู้ใช้บริการได้ลิ้มลอง

ประการที่ 2 ถ้าใครเคยไปเซี่ยงไฮ้ต้องรู้จักห้างฯ นี้ ซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ ที่อยู่ติดริมแม่น้ำหวงผู่ และอยู่เวิ้งเดียวกับกลุ่มอาคารสูงในย่านลู่เจียจุ่ย ศูนย์กลางการค้าและการเงินระหว่างประเทศของจีน มองออกไปด้านนอกก็เห็นแม่น้ำหวงผู่ที่ใสสะอาดและทอดยาว 

หากเดินออกไปชิลล์ที่ระเบียงด้านนอก ก็ละลานตาไปกับยอดอาคารสูงมากมาย อาทิ หอคอยไข่มุก และเซี่ยงไฮ้เซ็นเตอร์ แถมยังรายรอบไปด้วยพื้นที่สีเขียวและจุดชมวิวที่สบายตา

หลายครั้งที่ผมมีโอกาสไปใช้บริการ Eat and Work แห่งนี้ก็รู้สึกได้ว่า ผมสามารถเลือกเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์และขนาดที่เหมาะเนื้องานในวันนั้นได้ นั่งทำงานในพื้นที่ไป ก็มีอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติที่เอร็ดอร่อยพร้อมให้เลือกมากมาย และยังสามารถเพลิดเพลินไปกับสุดยอดวิวทิวทัศน์ของเมืองไปพร้อมกันอย่างมีความสุข

การสานต่อ ครัวไทยสู่บ้านจีน ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

นอกจากสุดยอดของสถานที่จัดงานแล้ว การจัดกิจกรรมดังกล่าวก็ร้อยเรียงไว้อย่างน่าสนใจ ภายหลังการลงทะเบียน ผู้เข้าร่วมงานก็ใช้โอกาสแรกทักทายระหว่างกัน และเดินเยี่ยมชมมุมสินค้าอาหารไทยที่ผู้จัดงานจัดเตรียมไว้ อาทิ ผลไม้ เครื่องแกง และปรุงรสของไทย

กิจกรรมพิเศษเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับและบรรยายภาพรวมและจุดเด่นของวัตถุดิบอาหารไทย โดยท่านกงสุลเกษตร ประจำนครเซี่ยงไฮ้ หลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาของการสาธิตการปรุงอาหาร โดยหอการค้าไทยในจีนได้เชิญ หยู ปิง (Yu Ping) ซึ่งเป็นพ่อครัวที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปีไปโชว์การทำอาหารและเครื่องดื่มพิเศษ โดยใช้วัตถุดิบนานาชนิดของไทย อาทิ กุ้ง ข้าวหอมมะลิ เครื่องเทศและเครื่องปรุงรส ลำไย ส้มโอ และทุเรียน ที่ผสมผสานรูปแบบอาหารตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว 

ที่ผ่านมา หยู ปิง เคยเป็นหัวหน้าพ่อครัวในร้านอาหารชื่อดังมากมายของจีน อาทิ ร้านมิสเตอร์แอนด์มิสซิสบันด์ (Mr. & Mrs. Bund) แชงกรีลาผู่ตง (Pudong Shangri-La) บันด์ 18 (Bund 18) และไฮไลน์ (Highline) ใครเป็น “นักชิม” ที่ผ่านไปเยือนเซี่ยงไฮ้ก่อนหน้านี้ก็อาจได้ลิ้มรสชาติอาหารฝีมือของเขามาแล้ว

ในระหว่างการสาธิตการปรุงอาหาร ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารช่วยบรรยายให้ข้อมูลถึงจุดเด่น และศักยภาพของวัตถุดิบแต่ละชนิด ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของอาหารไทย และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำไปประยุกต์ใช้ไปพร้อมกัน

การสานต่อ ครัวไทยสู่บ้านจีน ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

โดยจากวัตถุดิบดังกล่าว หยู ปิง ได้รังสรรค์เครื่องดื่มและอาหารคาวหวานรวมถึง 12 รายการ เริ่มตั้งแต่เวลคัมดริ๊งค์ อาทิ ชาเขียวรสลำไย  ตามด้วยอามูส บุช (Amuse Bouche) ซึ่งเป็นอาหารว่างเรียกน้ำย่อย (Appetizers) แบบพอดีคำ 2 จานเด็ด อันได้แก่ ปานีปูรีปู (Crab Pani-Puri) ที่มีส่วนผสมของเนื้อปู อาโวคาโด น้ำแห้ว และข้าวเกรียบรสไก่ และอารันชีนีสไตล์ไทย (Thai-Style Arancini) ซึ่งเป็นเมนูข้าวทอดสไตล์ไทยที่ดัดแปลงใช้ไก่ ไข่นกกระทา และใบโหระพาเป็นส่วนประกอบ 

หลังจากนั้น หยู ปิง ก็นำเสนออาหารเรียกน้ำย่อยเพิ่มเติมอีก 3 จานเด็ดที่ดูเรียบง่ายแต่เรียกเสียงฮือฮาในรสชาติความเอร็ดอร่อยได้อย่างมาก ได้แก่ ค็อกเทลกุ้ง ที่มีกุ้งไทยกับส้มโอและราดซอสลำไย สลัดผลไม้ปานซาเนลลา (Panzanella Fruit Salad) ซึ่งเป็นสลัดที่มีต้นกำเนิดจากทัสคานี (Tuscani) 

ปกติจะใช้มะเขือเทศเป็นหลัก แต่หยู ปิง ได้ประยุกต์ให้มีกลิ่นอายความเป็นไทยได้อย่างลงตัว โดยนำเอาลำไย ราสเบอร์รี่ แตงโมอบแห้ง มะเขือเทศ กรานิต้าลำไย (ไอศกรีมลำไย) ราดด้วยน้ำสลัดรสเชอร์รี่ชนิดใส ปิดท้ายอาหารเรียกน้ำย่อยด้วยผัดหอยเชลล์และผงกระหรี่ไทย พร้อมโพเลนต้า (เมล็ดธัญพืชบดหยาบ) ที่ปรุงรสด้วยครีมหอยแมลงภู่ และเฮเซลนัท  

การสานต่อ ครัวไทยสู่บ้านจีน ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ยังไม่ทันจะลืมรสชาติอาหารเรียกน้ำย่อยดังกล่าว เชฟดังของเราก็นำเสนอชุดอาหารจานหลัก อันได้แก่ ฉู่ฉี่กุ้งที่ท่านกงสุลเกษตรฯ กรุณาโชว์ฝีมือด้วยตนเองที่เสิร์ฟพร้อมข้าวหอมมะลิ และไก่ย่างวิเชียรบุรี รวมทั้งซุปข้นต้มยำล็อบสเตอร์พร้อมหอบเชลล์แห้งราดบนเส้นพาสต้า 

มาถึงตรงนี้ หลายคนเปรยว่า “อิ่มมาก” พร้อมลูบพุง บ้างก็บอกว่า สงสัยพรุ่งนี้ต้องออกไปวิ่งออกกำลังกายซะหน่อยแล้ว แต่ก็ไม่มีใครอยากพลาดโอกาสชิมขนมหวานสไตล์ไทย “ล้างปาก” ปิดท้าย ครั้นพอเริ่มชิมคำแรกไป ทุกคนก็ดูจะ “หยุดไม่ได้” ซะแล้ว ขนมหวานสุดพิเศษในค่ำคืนนั้น ได้แก่ เจลลี่ลำไยและกุหลาบ พานาคอตต้าลำไย ไอศกรีมทุเรียน และสาคูกะทิกลิ่นใบเตย

ในส่วนของผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 20 องค์กรครอบคลุมตั้งแต่ผู้ประกอบการร้านอาหารในเซี่ยงไฮ้จำนวน 17 ราย ซึ่งได้ส่งเชฟใหญ่ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ด้านพัฒนาอาหาร และด้านอื่นๆ ผู้นำเข้าวัตถุดิบอาหารจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท Shanghai Y.K International จำกัด และ CP Lotus Chained Store เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งยังได้รับเกียรติจากสมาคมนำเข้าอาหารแห่งเซี่ยงไฮ้ ได้ส่งกรรมการเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

ในช่วงสุดท้าย กิจกรรมดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการร้านอาหาร และเชฟของร้านอาหารชื่อดังในเซี่ยงไฮ้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นระหว่างกัน อันนำไปสู่การสร้างโอกาสในด้านการจำหน่ายวัตถุดิบอาหารไทยระหว่างผู้นำเข้าวัตถุดิบอาหารไทยกับผู้ประกอบการร้านอาหารอีกด้วย

การสานต่อ ครัวไทยสู่บ้านจีน ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ก่อนเลิกงาน ท่านกงสุลเกษตรฯ ยังได้กรุณามอบถุงของที่ระลึกที่ภายในบรรจุเอกสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลไม้ไทยและตัวอย่างสินค้าอาหารไทยแก่แขกที่มาร่วมงาน

กิจกรรมพิเศษแบบ “จัดเต็ม” ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมอิ่มท้องแบบ “พุงกาง” เท่านั้น แต่ยังอิ่มอกอิ่มใจที่เห็นวัตถุดิบของไทยสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างน่าประทับใจ 

หอฯ ยังได้สร้างกลุ่มสนทนาออนไลน์ที่รวบรวมผู้นำเข้าวัตถุดิบและผู้ประกอบการร้านอาหารในเซี่ยงไฮ้ที่มาร่วมงาน เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าอาหารไทย และการเจรจาการค้าระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ หอฯ ยังได้ผลิตวิดีทัศน์เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมนี้ และให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการที่ถูกต้องในการจัดเก็บ จัดเตรียม ปรุง และรับประทานอาหารไทยหลากหลายชนิดในวงกว้างผ่านสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำของจีนจำนวน 6 สื่อ ซึ่งมียอดผู้ชมจำนวนหลายหมื่นคน พร้อมยอดกดไลค์และคอมเม้นต์เชิงบวกหลั่งไหลเพิ่มขึ้นตลอด 

การสานต่อ ครัวไทยสู่บ้านจีน ในยุคหลังโควิด-19 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

หลายคนที่ได้เรียนรู้วิธีการดังกล่าวและแสดงความสนใจที่จะทดลองทำอาหารไทยเหล่านั้นที่บ้าน จะช่วยทำให้ “อาหารไทยเข้าสู่บ้านจีน” ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ร้านอาหารไทย และการส่งออกอาหารแปรรูปและวัตถุดิบอาหารของไทยในตลาดจีนในอนาคต 

แต่ท่านผู้อ่านที่พลาดโอกาสได้ลิ้มลองอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าว ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะเชฟใหญ่ของหลายร้านที่เข้าร่วมกิจกรรมก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะปรุงอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นบรรจุในรายการอาหารเพื่อเสิร์ฟที่ร้าน แถมยังจะต่อยอดด้วยการสร้างสรรค์อาหารและเครื่องดื่มใหม่โดยใช้วัตถุดิบของไทยเป็นพื้นฐานในอนาคต 

ผมเชื่อมั่นว่า หากภาครัฐและเอกชนไทยร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์แบบนี้มากขึ้นในอนาคต ความฝันที่เราจะเห็นอาหารไทยเติบโต และเข้าสู่บ้านจีนได้ คงไม่ไกลเกินเอื้อมแน่ครับ ...

ข่าวแนะนำ