TNN online เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อหลายวันก่อนผมได้มีโอกาสร่วมเสวนาในเรื่องการสร้างคนอาชีวะเพื่อรองรับความต้องการของโลกในอนาคต และหนึ่งในคำถามของผู้ดำเนินรายการก็คือ จีนประสบปัญหาการพัฒนาคนในด้านนี้หรือไม่ ถ้ามี จีนกำหนดแนวทางการพัฒนาอาชีวศึกษาเพื่อรองรับความต้องการในอนาคตอย่างไร ...

ในอดีต จีนประสบปัญหาในด้านนี้อยู่ค่อนข้างมาก ใครจะเชื่อว่าประเทศที่มีประชากรอยู่กว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งครองแชมป์จำนวนประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีน ก็ยังเคยเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอยู่เนืองๆ

การเป็น “โรงงานของโลก” ในช่วง 20 ปีแรกหลังการเปิดประเทศ ทำให้ภาคการผลิตของจีนมีความต้องการว่าจ้างแรงงานจำนวนมาก แต่ในยุคนั้น อุปสงค์แรงงานดังกล่าวก็มีลักษณะกระจุกตัวในเชิงภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษในหัวเมืองด้านซีกตะวันออกของจีนเป็นสำคัญ

ทั้งที่ รัฐบาลจีนควบคุมการเคลื่อนย้ายของผู้คนข้ามพื้นที่ “ฮู่โข่ว” (Hukou) แต่คนจีนจำนวนหลายร้อยล้านคนก็ยอมละทิ้งถิ่นฐานจากพื้นที่ตอนกลางและซีกตะวันตกไปสู่ซีกตะวันออก จากเมืองรองสู่เมืองใหญ่ และจากพื้นที่ชนบทสู่ชุมชนเมืองของจีนเพื่อแสวงหารายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า

แต่เราก็ยังพบว่า ธุรกิจในจีนขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนของธุรกิจจีนและต่างชาติในบางช่วงเวลา จนกระทั่งรัฐบาลจีนทยอยผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการเคลื่อนย้ายของประชากร ควบคู่ไปกับการกระจายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในเวลาต่อมา 

นอกจากแรงกดดันด้านอุปสงค์แล้ว ระบบการพัฒนาคนในด้านอุปทานก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในอีกทางหนึ่ง นักเรียนนักศึกษาด้านอาชีวะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เป็น “กลุ่มรอง” ไม่สามารถเข้าระบบการศึกษาปกติหรือ “เกาเข่า” (Gaokao) เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ กอปรกับระบบการศึกษาอาชีวะยังขาดความทันสมัย ไม่ได้รับการพัฒนาในวงกว้าง ทำให้มีปัญหาในเชิงภาพลักษณ์ 

ประการสำคัญ ผู้สำเร็จการศึกษามีจำนวนและคุณภาพที่ไม่สอดรับกับความต้องการของตลาดในแต่ละภูมิภาค ทำให้ได้รับค่าจ้างและผลตอบแทนต่ำกว่าผู้จบการศึกษาในระบบปกติ แถมบัณฑิตจบใหม่บางส่วนต้องตกงาน กลายเป็นภาระหนักของรัฐบาลจีน

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

จีนยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นในเวลาต่อมา การแข่งขันในเวทีโลกที่เข้มข้นขึ้นส่งผลให้จีนต้องเพียรพยายามยกระดับโครงสร้างการผลิตไปสู่ “โรงงานของโลกยุคใหม่” ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพระดับสูง และอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้นโยบาย “Made in China 2025” ที่เริ่มดำเนินการนับแต่ต้นแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 เมื่อปี 2015 และจะสิ้นสุดในปีสุดท้ายของแผนฯ 14 ในปี 2025

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมผมจึงต้องโยงไปถึงแผนพัฒนาฯ เพราะสำหรับเมืองไทย แผนพัฒนาฯ อาจมีความหมายไม่มากนัก แต่สำหรับจีนแล้ว แผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมาย แผนฯ เหล่านั้นถูกออกแบบ กำหนดหมุดหมาย และดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มิได้ “นิ่ง” อยู่กับที่ ซึ่งทำให้จีนพัฒนาไปอย่างไม่หยุดหย่อน แต่ด้วยเป้าหมายสูงเช่นนี้ ผนวกกับวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ทำให้จีนต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการผลิตบุคลากรที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ความท้าทายสำคัญอีกส่วนหนึ่งยังเกิดขึ้นจากแรงผลักดันด้านนโยบาย “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) ซึ่งนำไปสู่การลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการลงทุนของธุรกิจจีนในต่างประเทศมากมาย 

ยกตัวอย่างเช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจหลักที่จีนวางแผนจะเชื่อมกับต่างประเทศภายใต้ BRI ก็ครอบคลุมถึงการก่อสร้างท่าเรือ ท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทางด่วน เส้นทางรถไฟความเร็วสูง นิคมอุตสาหกรรม และอื่นๆ เหล่านี้ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสงค์ช่างเทคนิคและแรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ เรายังอาจคิดต่อไปจนถึงประเด็นนโยบายความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ของจีนที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ประเด็นต่อเนื่องที่เป็นภาพสะท้อนที่น่าสนใจก็คือ การมีแนวนโยบาย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน ซึ่งเป็นตัวกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ความต้องการแรงงาน และอื่นๆ นับเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาบุคลากร “เดินต่อ” ได้ง่ายขึ้น ในเชิงปริมาณและคุณภาพ

บ่อยครั้งที่เราฟังการกล่าวเปิดงานของผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีนในยุคใหม่แล้วก็อาจพบว่า จีนตระหนักดีถึงความสำคัญของอาชีวศึกษาในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นเส้นทางการพัฒนาทักษะฝีมือของช่างเทคนิคที่ตรงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงสมรรถนะทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ขยายแนวทางการพัฒนาอาชีพ และเพิ่มโอกาสของทรัพยากรมนุษย์ในด้านนี้ในระยะยาว

อันที่จริง จีนถือเป็นประเทศที่มีระบบอาชีวศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน โดยมีสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องอยู่มากกว่า 11,300 แห่งกระจายอยู่ทั่งประเทศ และผลิตช่างเทคนิคเข้าสู่ตลาดแรงงานมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ เป็นวิทยาลัยเทคนิครวมกว่า 2,420 แห่ง และมีนักเรียนนักศึกษาจำนวนถึงเกือบ 4 ล้านคน ซึ่งอาจเป็น “ภาระ” หรือ “พลัง” ของชาติก็ได้

เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบการศึกษาอาชีวะที่ทันสมัย และช่างเทคนิคมืออาชีพที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น รัฐบาลจีนได้เดินหน้าทำในหลายสิ่งอย่างต่อเนื่อง ประการแรก จีนได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบอาชีวศึกษาโดยเน้นอุปสงค์เป็นตัวนำ (Demand-Driven) 

ในเชิงปริมาณ จีนวางแผนที่จะรองรับนักศึกษาอาชีวะมากกว่า 3.6 ล้านคน โดยตั้งเป้าอัตราการจบการศึกษาในอัตรามากกว่า 97% ในระหว่างปี 2021-2025 อย่างไรก็ดี ตัวประเมินผลหรือ “KPI” ในการพัฒนาคนของจีนในยุคหลังมิได้มองเพียงแค่อัตราการจบการศึกษาเท่านั้น แต่ระบบยังให้ความสำคัญกับความสามารถของผู้ขบการศึกษาในการ “ทำงานได้” “มีงานทำ” และ “ก้าวเป็นผู้ประกอบการ” ได้อย่างเหมาะสม ทั้งในแง่คุณภาพของงานและภายในระยะเวลาที่กำหนด

จีนมองว่า ผู้จบการศึกษาควรเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยเร็ว ยิ่งรอหางานทำนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น แถมยังทำให้วิชาความรู้และทักษะฝีมือที่สั่งสมมาล้าสมัยไปทุกขณะ เพราะระดับของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของหลักสูตร เราเห็นสถาบันอาชีวศึกษาพยายามปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของพื้นที่และประเทศ อาทิ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ การพิมพ์ 3 มิติ รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไร้คนขับ รวมทั้งอี-สปอร์ตที่เป็นรูปแบบกีฬายอดนิยมของคนรุ่นใหม่

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ขณะเดียวกัน สถาบันบางแห่งก็เปิดหลักสูตรที่ใช้ “ท้องถิ่น” เป็นศูนย์กลาง โดยปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของท้องถิ่น และรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านเอาไว้ด้วย อาทิ หลักสูตรสอนการทำอาหารที่ใช้เสี่ยวหลงเซีย (กุ้งเคลย์) เป็นวัตถุดิบ หรือการผลิตสินค้าหัตถกรรมที่แฝงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทรงคุณค่า 

ประการที่ 2 จีนพัฒนาคนในด้านอาชีวะอยู่บนพื้นฐานของการลงมือทำจริง (Work-Based) ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของอาชีวศึกษาอยู่แล้ว และเพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัย จีนเลือกศึกษาเรียนรู้ระบบการศึกษาของนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเส้นทางคู่ (Dual-Track System) ของเยอรมนี และบางประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของจีน 

เพื่อให้ระบบดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม จีนอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันการศึกษาภาครัฐและผู้ผลิตเอกชน เหมือนที่บ้านเราเรียกว่า “ระบบทวิภาคี” 

ในทางปฏิบัติ การเป็น “โรงงานของโลกยุคใหม่” ของจีนได้สร้างความได้เปรียบในหลายประการ อาทิ จำนวน ความหลากหลาย และคุณภาพของธุรกิจที่เข้ามาร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างพร้อมสรรพ ทำให้เด็กจีนมี “เวที” ให้ฝึกวิทยายุทธ์ชั้นสูง 

กอปรกับการมีมุมมองเชิงบวกในการเป็น “พันธมิตร” หรือ “เวทีพิเศษ” ในระบบนิเวศให้นักเรียนนักศึกษาได้สัมผัสจริง อาทิ งานแสดงสินค้า และการประชุมสัมมนา นับเป็นจุดเด่นที่ทำให้จีนสามารถพัฒนาระบบทวิภาคีได้ดียิ่งขึ้น

แม้กระทั่ง ผู้ผลิตของจีนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศก็ยังให้ดำเนินตามแนวนโยบายด้านความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ดังที่เราเห็นบิ๊กเทคอย่างหัวเหว่ย อาลีบาบา และแซ็ดทีอี ในมาเลเซีย และอื่นๆ

คราวหน้าเราจะไปคุยกันต่อถึง Up-skill และ Re-skill ในเชิงรุก และการพัฒนาอาชีวศึกษาของจีนในมิติระหว่างประเทศ ...


อ่านเพิ่มเติม

เมื่อมังกรพลิกโฉมอาชีวะสู่ระดับโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ