TNN online หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

มองออกไปสู่อนาคต ดูเหมือนรัฐบาลจีนคาดหวังให้การพัฒนาพื้นที่พิเศษหลิงกั่งให้เป็น “เมืองแห่งนวัตกรรม” โดยในโอกาสครบรอบ 3 ปีของพื้นที่พิเศษหลิงกั่ง รัฐบาลได้ประกาศแผนปฏิบัติการที่ครอบคลุม 50 นโยบายการพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต เราตามไปเจาะลึกกันครับ ...

ในชั้นนี้ รัฐบาลจีนได้กำหนดหมุดหมายสำคัญในปี 2025 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 ของจีน ที่จะเร่งปรับปรุงระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและการบ่มเพาะรูปแบบธุรกิจใหม่ อาทิ เทคโนโลยีระดับสูง ฟินเทค โมเดลธุรกิจใหม่ และระบบการเงินใหม่ เพื่อเพิ่มแรงผลักดันให้พื้นที่พิเศษหลิงกั่งกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ภายใน 3 ปีข้างหน้า เขตสินค้าทัณฑ์บนพิเศษครบวงจรหยางซานจะสามารถสร้างรายได้ถึง 1 ล้านล้านหยวน ขณะที่การส่งออกและนำเข้าผ่านพื้นที่จะมีมูลค่าแตะหลัก 220,000 ล้านหยวน 

ขณะเดียวกัน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของบริษัทที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวนในพื้นที่ฯ จะมีมูลค่าแตะหลัก 500,000 ล้านหยวน ขยายตัวในอัตรา 25% ต่อปี

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในส่วนของธุรกิจไฮเทค พื้นที่พิเศษหลิงกั่งจะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนในกิจการนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวน 1,000 รายภายในปี 2025 ในจำนวนนี้ 10 รายจะลิสต์ในตลาดสตาร์ของเซี่ยงไฮ้ 100 สถาบันวิจัยและพัฒนา และ 8 แล็บชั้นนำของโลก รวมทั้ง 5 กิจการที่เชี่ยวชาญด้านวัสดุใหม่

เพื่อให้สอดรับกับนโยบายชาติในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พื้นที่พิเศษหลิงกั่งจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบชิป และการผลิตชิปคุณภาพสูง โดยตั้งเป้าหมายว่า ผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลกอย่างน้อย 5 รายลงทุนในพื้นที่ฯ 

มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตในอัตราเฉลี่ยมากกว่า 50% ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าอุตสาหกรรมนี้ก้าวกระโดดจาก 10,000 ล้านหยวนในปี 2021 เป็นราว 100,000 ล้านหยวนในปี 2025 

ในด้านเงินทุน พื้นที่พิเศษหลิงกั่งวางแผนจะพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ อาทิ การเงินข้ามพรมแดน และฟินเทค โดยจัดตั้ง “อ่าวการเงินทะเลสาบตีสุ่ย” (Dishui Lake Finance Bay) ขึ้นเพื่อหวังเชื่อมตลาดการเงินออนชอร์และออฟชอร์เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์การใช้เงินหยวนในเวทีระหว่างประเทศ 

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ขณะเดียวกัน ก็ตั้งเป้าให้ภาคการเงินในพื้นที่พิเศษหลิงกั่ง สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 25% ต่อปี อันจะส่งผลให้พื้นที่พิเศษหลิงกั่งเติบใหญ่เป็นศูนย์กลางการเงินที่มีศักยภาพในปี 2025

จีนไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ลอยๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวเติบใหญ่ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รัฐบาลจีนได้กำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนของผู้ผลิตวงจรรวม ปัญญาประดิษฐ์ ยาชีวะภาพ และการบินพาณิชย์เข้าไปในพื้นที่พิเศษหลิงกั่งในหลายด้าน อาทิ การกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในพื้นที่พิเศษหลิงกั่งไว้ที่ 15% เทียบกับ 25% ในพื้นที่ทั่วไปของจีน

นี่ยังไม่นับรวมสิทธิประโยชน์ “แบบเฉพาะเจาะจง” เพื่อดึงดูดกิจการเป้าหมายเข้าไปลงทุนในพื้นที่พิเศษหลิงกั่ง อาทิ เทสลา จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีกิจการที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 300 รายที่เข้าไปลงทุนคิดเป็นมูลค่ารวมถึงกว่า 420,000 ล้านหยวน หรือเกือบ 2 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนใหม่โดยรวมในพื้นที่พิเศษหลิงกั่ง

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนยังสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น ด้านปัญญาประดิษฐ์ รัฐบาลจีนลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (The Artificial Intelligence Data Center) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเอไอคอมพิวติ้ง นับแต่กลางปี 2020 และเริ่มเปิดใช้งานจริงเมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา

ภายใต้การบริหารงานของเซ้นส์ไทม์ (SenseTime) ผู้นำด้านเอไอของจีน ศูนย์ข้อมูลฯ แห่งนี้นับว่ามีพลังในการคำนวณมากที่สุดในจีน แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ และตั้งเป้าที่จะพัฒนาเป็น AIDC ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียในอนาคต 

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

AIDC จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อแผนการจัดตั้ง “เวิ้งนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทะเลสาบตีสุ่ย” (Dishui Lake AI Innovation Port) และนอกเหนือจากเซ้นส์ไทม์ ก็ยังมีกิจการชั้นนำอีกมากเข้าไปเริ่มประกอบธุรกิจในพื้นที่พิเศษหลิงกั่งแล้ว อาทิ แคมบริคอน (Cambricon) และเอ็นเฟลมเทค (Enflame Tech) 

พื้นที่พิเศษหลิงกั่ง ตั้งเป้าหมายที่จะดึงบุคลากรด้านเอไอจำนวน 20,000-30,000 คน และกิจการด้านปัญญาประดิษฐ์และซอฟต์แวร์จำนวนหลายร้อยรายเข้าไปลงทุน โดยจะมีมูลค่าอุตสาหกรรมพุ่งขึ้นไปแตะ 90,000 ล้านหยวนภายใน 3 ปีข้างหน้า เหล่านี้จะช่วยให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลางเอไอโลกได้ในปี 2030 



นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2025 การปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฯ จะต้องเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งรวมไปถึงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับสูงระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนและต่างชาติ ขณะที่สมรรถนะการจัดสรรทรัพยากรจะต้องได้รับการยกระดับสู่ระดับโลก 

ประการสำคัญ พื้นที่พิเศษหลิงกั่งจะพัฒนาโดยคำนึงถึงภาพลักษณ์และหน้าที่ของเมืองอัจฉริยะที่ “เปิดกว้าง” และ “เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรม” เพื่อรองรับความต้องการของ “อุตสาหกรรม” และ “เมือง” ที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

มาถึงวันนี้ “พื้นที่พิเศษหลิงกั่ง” ได้ตั้งหลักและพร้อมที่จะ “วิ่ง” ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ก่อนที่จะ “พุ่งทะยาน” เป็น “เมืองแห่งนวัตกรรม” ในระยะยาว ...

ภาพจาก Shanghai Lingang Innovation Center


คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอน 1)

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอน 2)

ข่าวแนะนำ