TNN online หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอน 1)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ผมเคยพาท่านผู้อ่านไปรู้จักหลายหัวเมืองใหญ่-เล็ก เก่า-ใหม่ในจีน แม้กระทั่ง “สวงอัน” (XiongAn) เมืองใหม่ในฝันของสี จิ้นผิง ที่กำลังเติบใหญ่เป็นเมืองต้นแบบแห่ง “บริการสมัยใหม่” ของจีน แต่วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปรู้จัก “พื้นที่พิเศษหลิงกั่ง” (Lingang Special Area) เมืองที่ผมคาดว่า จะเป็น  “ศูนย์กลางนวัตกรรม” แห่งใหม่ของโลกในอนาคต ...

ในเชิงภูมิศาสตร์ “หลิงกั่ง” ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของมหานครเซี่ยงไฮ้ บริเวณ “อกไก่” ของจีน โดยรัฐบาลเซี่ยงไฮ้กำหนดให้หลิงกั่งมีขนาดพื้นที่รวม 120 ตารางกิโลเมตร หรือ 75,000 ไร่ หรือราว 10 เท่าของเกาะภูเก็ต 

หลิงกั่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตผู่ตง (Pudong) ที่รัฐบาลจีนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้เป็น “ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ” และที่ผ่านมายังถูกใช้เป็นพื้นที่นำร่องเขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) ที่ใช้ระบบ Negative List เพื่อรองรับนวัตกรรมทางธุรกิจเมื่อเกือบทศวรรษที่ผ่านมา

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอน 1)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในอดีต ผู้คนอาจรู้จักเมืองนี้ในฐานะพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณชานเมืองและท่าเรือประมง หรืออาจผ่านไปเวลาจะเดินทางไปยัง “ท่าเรือหยางซาน” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์กลางทะเลที่ใหญ่สุดในโลก เพราะพื้นที่นี้เป็น “ต้นทาง/ปลายทาง” เชื่อมโดยสะพาน “ตงไฮ่” (Donghai) เพื่อเข้าออกท่าเรือดังกล่าว

สะพานแห่งนี้มีความยาวถึงกว่า 32 กิโลเมตร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกจัดอันดับเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก! ก่อนถูกสะพานข้ามอ่าวหังโจวที่เชื่อมพื้นที่ทางตอนใต้ของเซี่ยงไฮ้เข้ากับเมืองด้านซีกตะวันออกของมณฑลเจ้อเจียง และอีกหลายสะพานเชื่อมพื้นที่เมืองชิงเต่า และสะพานเชื่อมฮ่องกง มาเก๊า และจูไห่ทำลายสถิติในเวลาต่อมา

แต่สาเหตุที่ผมหยิบยกเอาเรื่องนี้มาคุยกันในวันนี้ก็เพราะเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2019 ถือเป็นวันสำคัญของหลิงกั่ง เมื่อรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ประกาศยกระดับให้เป็น “พื้นที่พิเศษ” ซึ่งเท่ากับว่า พื้นที่พิเศษหลิงกั่งมีอายุครบ 3 ปีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา 

คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “พื้นที่พิเศษหลิงกั่ง” พัฒนาไปขนาดไหน และอยู่บนโมเดลการพัฒนาเฉพาะอย่างไร 

อย่างที่ผมเกริ่นไปว่า หลิงกั่งได้รับการพัฒนามาระยะหนึ่งก่อนถูกยกระดับเป็น “พื้นที่พิเศษ” 

ในภาพรวม การพัฒนาของพื้นที่ฯ ดังกล่าวในระหว่างปี 2019-2021 ดำเนินไปอย่างรวดเร็วราวติดจรวด 

นอกจากท่าเรือทะเลลึก สนามบินผู่ตง (ทางตอนเหนือ) และการเป็นส่วนหนึ่งของ FTZs แล้ว พื้นที่ฯ ยังลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงสารพัดโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ซิตี้เซ็นเตอร์ ทางด่วน ทะเลสาบตีสุ่ย (เพื่อเป็นแลนด์มาร์ก และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ) สถาบันการศึกษา อาคารฮอกกี้น้ำแข็ง และท้องฟ้าจำลอง (ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก) 

คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เพิ่มขึ้นราว 10 เท่าตัวจาก 45,000 คนเป็น 450,000 คน กลายเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีศักยภาพในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาเขตแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน อาทิ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เจียวทง และฟู่ตั้น ที่เปิดหลักสูตรในสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ วัสดุใหม่ และพาณิชยนาวี


การพัฒนาของพื้นที่พิเศษหลิงกั่ง ระหว่างปี 2019-2021

จีดีพี

เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21.3% ต่อปี

ภาคอุตสาหกรรม

เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 27.0% ต่อปี

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 263.3% ต่อปี 

(มูลค่ารวม 1,190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

การลงทุนในสินทรัพย์คงที่    

เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 23.0% ต่อปี

รายได้จากภาษี    

เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.5% ต่อปี

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จีดีพี ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ และอื่นๆ ในพื้นที่ฯ ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ในด้านธุรกิจ พื้นที่ฯ มีกิจการใหม่จำนวน 63,000 ราย และมีสตาร์ตอัพเฉลี่ยราว 90 รายต่อวันเข้าไปจดทะเบียนนิติบุคคล ขณะเดียวกันก็มีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสำหรับอนาคตถึง 300 โครงการ 

ในการพัฒนาพื้นที่ฯ รัฐบาลจีนกำหนดใช้โมเดล “5 เสรี 1 สะดวก” ซึ่งส่วนแรกครอบคลุมการค้า การลงทุน การเงิน การขนส่ง และการจ้างงาน ขณะที่ส่วนหลัง ก็ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อสร้างผลประโยชน์เศรษฐกิจสูงสุด 

โมเดลดังกล่าวทำให้พื้นที่ฯ พัฒนาในหลายด้านไปอย่างรวดเร็วในระหว่างปี 2019-2021 โดยในด้านการค้า พื้นที่ฯ ประสบความสำเร็จในการขยายการค้าข้ามแดนและระหว่างประเทศ โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 28% 

ในด้านการลงทุน โดยที่พื้นที่พิเศษหลิงกั่งถูกคาดหวังให้เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพสูง (High-Quality Development) ทำให้เราเห็นความพยายามในการรวบรวมอุตสาหกรรมการผลิตที่ล้ำสมัย และนำไปสู่คลัสเตอร์ระดับโลก (World-Class Cluster) อันได้แก่ ยานยนต์พลังงานใหม่อัจฉริยะ อุปกรณ์ไฮเทค วงจรรวม และวัสดุใหม่ รวมทั้งยาและอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น

เราเห็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จำนวนมากได้เข้าไปลงทุนพื้นที่ฯ ยกตัวอย่างเช่น เอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) รัฐวิสาหกิจด้านยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน เจ้าของแบรนด์เอ็มจี (MG) ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ทันสมัยยิ่ง 

หลิงกั่ง ... ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมแห่งใหม่ของโลก (ตอน 1)  โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

แถมล่าสุดยังเปิดสายการผลิตรถยนต์ของ IM Motor ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างเอสเอไอซี อาลีบาบากรุ๊ป (Alibaba Group) และรัฐบาลผู่ตง เริ่มจากรุ่น L7 ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าแบบซีดานที่สุดหรู คู่แข่งเทสลา (Tesla) Model S

ในปี 2019 เทสลาก็ตอกเสาเข็มก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ล้ำสมัยในพื้นที่ “Gigafactory” และเริ่มเปิดตัวรถยนต์จากสายการผลิตนี้ในปลายปีเดียวกัน ว่าง่ายๆ เทสลาใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปีในการก่อสร้าง เทียบกับราว 5 ปีในประเทศอื่น จนได้ชื่อว่าเป็น “Lingang Speed”

คัมมินส์ (Cummins) กิจการด้านพลังงานชั้นนำของโลก ที่เราอาจรู้จักในฐานะผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลเบอร์หนึ่งสัญชาติอเมริกัน ก็เข้ามาลงทุนในศูนย์วิจัยและพัฒนา และโรงงานประกอบในพื้นที่ฯ แถมล่าสุด ยังได้ขยายการลงทุนในธุรกิจเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจนภายใต้ “New Power China” 

หลิงกั่งยังถูกกำหนดเป็นพื้นที่นำร่อง “รถยนต์ไร้คนขับ” ที่สำคัญของจีน โดยมีการก่อสร้างศูนย์ทดสอบรถยนต์ไร้คนขับขนาดใหญ่ ซึ่งมีเส้นทางทดลองที่มีความยาวรวมถึง 549 กิโลเมตร หรือประมาณระยะทางจาก กทม.-เลย

นอกจากนี้ ศูนย์ดังกล่าวยังจะถูกใช้เป็นพื้นที่ทดลองใช้รถบัสประจำทาง และรถแท็กซี่ รวมทั้งรถบรรทุกไร้คนขับในอนาคต ส่วนหลังนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการขนย้ายสินค้าคอนเทนเนอร์ระหว่างหลิงกั่ง-ท่าเรือหยางซาน 

ตอนหน้า เราจะไปดูตัวอย่างการพัฒนา “พื้นที่พิเศษหลิงกั่ง” ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากันต่อ ไปเจาะลึกว่าจีนจะพัฒนาพื้นที่ฯ นี้ให้เติบใหญ่ขนาดไหนในช่วง 3 ปีข้างหน้า และจะก้าวขึ้นมาเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมของโลก” ได้หรือไม่ ...

ภาพจาก  :   Chanel YouTube New China TV/ AFP

ข่าวแนะนำ