TNN online สัมมนาไทย-จีนแห่งปี (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

สัมมนาไทย-จีนแห่งปี (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สัมมนาไทย-จีนแห่งปี (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สัมมนาไทย-จีนแห่งปี ... เปี่ยมด้วยสาระ และได้เครือข่ายธุรกิจ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมงาน “สัมมนาและพบปะสังสรรค์” ที่ออกแบบและจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายและเป็นกันเอง แต่เต็มไปด้วยสาระและสิ่งดีๆ กับผู้ประกอบการไทย ที่สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน และหอการค้าไทยในจีน ร่วมมือกันจัดขึ้น 

งานนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่องค์กรทั้งสองจัดขึ้นหลังจากรัฐบาลปลดล็อกเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างในพื้นที่สาธารณะ 

แต่ผู้จัดงานก็พยายาม “ลดความเสี่ยง” โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไว้ที่ 80 คนเพื่อมิให้เอสแอนด์พีฮอลล์ ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดงานหนาแน่นมากเกินไป และขอความร่วมมือให้ผู้เข้าร่วมงาน ร่วมกัน “ยกการ์ดสูง” เอาไว้ โดยขอให้ส่งผลการตรวจเอทีเคภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเข้าร่วมงานด้วยอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ ผู้บริหารของสถานที่จัดงานยังได้จัดเตรียมแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ในหลายจุด และสั่งตรวจพนักงานบริการทุกคนก่อนเข้าร่วมงาน ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมงานพูดคุยกันอย่างสบายใจ

กิจกรรมในช่วงเช้าเป็นส่วนของการสัมมนา โดยมีท่านธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมฯ และรองประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงาน และปาฐกถาในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของจีน” 

ท่านธนากร เล่าผ่านประสบการณ์การทำงานในจีน 47 ปีที่ไปสัมผัสตั้งแต่ยุคแรกๆ ในฮ่องกงก่อนเข้าไปจีนแผ่นดินใหญ่ จนได้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของนครเซี่ยงไฮ้ว่า จีนเติบใหญ่และเปลี่ยนแปลงไปชนิด “หน้ามือเป็นหลังมือ” อย่างเหลือเชื่อ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

สัมมนาไทย-จีนแห่งปี (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

ภายหลังการเปิดประเทศในปี 1978 จีนก็เปิดรองรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศอย่างเป็นระบบและค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะแรก ได้ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 4 เมืองทางตอนใต้ของจีน ได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ เซียะเหมิน และซัวเถา เพื่อดึงดูดการลงทุนจากเศรษฐกิจในแถบเอเซียตะวันออก และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ขยายพื้นที่และกระจายไปยังหัวเมืองต่างๆ ในพื้นที่อื่นของจีน

ต่อมา รัฐบาลจีนก็ดำเนินนโยบายส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และมองไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวดีและต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในยุค 1980 รัฐบาลจีนกำหนดกลยุทธ์การสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม หัวเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานสูง ก็เดินหน้าผลักดันตัวเองไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางแฟชั่น”

ขณะเดียวกัน ก็เห็นการขายกิจการผลิตสิ่งทอ และเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเข้าไปยังพื้นที่ตอนในของจีน เช่น อันฮุย ที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ทั้งที่ กิจการเหล่านั้นยังทำกำไรดี

ท่านธนากร เปิดเผยว่า อันที่จริง ซีพีก็สนใจที่จะร่วมลงทุนในกิจการผลิตสิ่งทอเหล่านั้น แต่ผู้บริหารเซี่ยงไฮ้นับว่ามีวิสัยทัศน์ดี และให้ข้อคิดต่อการตัดสินใจในประเด็นดังกล่าวว่า “การขายกิจการในขณะที่ธุรกิจยังทำกำไรอยู่ จะได้ราคาดี แต่หากรอขายในช่วงที่กิจการขาดทุน ก็จะไม่ได้ราคา”

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐบาลจีนก็เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เราเห็นการพัฒนาถนนและทางด่วน ท่าเรือ สนามบิน รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาชุมชนเมือง

สัมมนาไทย-จีนแห่งปี (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

มาถึงวันนี้ จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงรวมกว่า 40,000 กิโลเมตร และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สนามบินตามหัวเมืองก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว 

“20 ปีก่อนตอนที่ผมเดินทางไปนครอูลุมู่ฉี ซินเจียง ปลายสุดด้านซีกตะวันตกของจีน สนามบินที่นั่นมีขนาดพอๆ กับสนามบินหาดใหญ่เท่านั้น แต่ช่วงก่อนโควิดไม่นาน ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือนเมืองนี้อีกครั้ง ปรากฏว่า สนามนั้นใหญ่กว่าสนามบินสุวรรณภูมิของเราเสียอีก ...”

“... จีนเตรียมพัฒนาให้อูลุมู่ฉีเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในแถบนั้น เพื่อเชื่อมโยงกับรัสเซีย และประเทศในภูมิภาคเอเซียกลาง นี่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาของจีน”

รัฐบาลจีนตั้งแต่ยุคท่านเติ้ง เสี่ยวผิง ก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราเห็นการลดเลิกระบบอุปถัมภ์ โดยจัดระเบียบให้ทหารที่เคยช่วยรบในอดีตเข้ามาเป็นผู้บริหารในกรมกองด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบ 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ให้ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศแก่คนจีนเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงแรก ก็ประสบปัญหาสมองไหลอย่างมากเช่นกัน เพียงราว 1 ใน 3 ของผู้รับทุนเท่านั้นที่กลับมารับใช้ชาติ แต่ท่านเติ้ง เสี่ยวผิง ก็ตอบข้อสังเกตในประเด็นนี้ของท่านธนากร ว่า “ไม่ต้องกังวลใจ ไม่มีใครอยากไปเป็นพลเมืองชั้น 2 ในต่างประเทศหรอก หากวันหนึ่งที่จีนมีเวทีให้คนเหล่านี้แสดง เชื่อว่าคนเหล่านี้จะกลับบ้าน”

สัมมนาไทย-จีนแห่งปี (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

ท่านธนากร ยังมองว่า จีนได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนจากเดิมที่แต่ละมณฑลมุ่งเน้น “เชิงปริมาณ” แข่งขันกันขยายจีดีพีให้เติบโต เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับ “เชิงคุณภาพ” แข่งกันพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและความสุขภาคประชาชนที่สูงขึ้นในระยะยาว

ท่านธนากร ยังฉายภาพในอนาคตของจีนอีกว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนใน 5 ปีข้างหน้า จะเป็นการพัฒนาชุมชนเมืองในโมเดล “กลุ่มเมือง” ประชาชนจะมาอยู่ในเมืองมากขึ้น ซึ่งหมายถึงกำลังซื้อมหาศาลในแต่ละระเบียงเศรษฐกิจของจีนในอนาคต ภาคการเกษตรจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ขณะที่การลงทุนจะเน้นธุรกิจเทคโนโลยีสูงและนวัตกรรม

ต่อประเด็นว่า ทำไมซีพีได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีน ท่านธนากร เปิดเผยว่า ซีพีมีวันนี้ได้เพราะความมีวิสัยทัศน์และความเชื่อมั่นของท่านธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน เราจึงเห็นซีพีดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเป้าหมายในระยะยาว 

อาทิ การสนับสนุนการลงทุนผลิตพรมที่เมืองซัวเถา เพื่อสร้างงานให้กลุ่มสตรี และการไม่ทิ้งจีนหลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ทรัพยากรมนุษย์ของซีพี และการปฏิบัติตามนโยบายและกฎหมายจีน ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่ง หลังเปิดโลตัสซุปเปอร์เซ็นเตอร์ที่เซี่ยงไฮ้ รัฐบาลจีนก็แจ้งนโยบายว่า ห้ามขายสินค้าต่ำกว่าทุนเพื่อดูแลผู้ผลิตและผู้ประกอบการของจีน หากโลตัสฯ ต้องการขายถูกก็จะไปกดราคาผู้ผลิต และทำให้เศรษฐกิจไม่พัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง รัฐบาลจีนไม่กลัวว่าโลตัสฯ จะขายสินค้าแพง เพราะถ้าทำอย่างนั้น รัฐบาลจีนจะส่งเสริมให้มีกิจการเข้ามาแข่งขันเอง

ในตอนท้ายสุด องค์ปาฐกยังได้ให้ข้อคิดอีกว่า “ผมเชื่อมั่นว่า จีนจะเติบโตอีกมากในอนาคต จีนจะ “บิน” แล้วนะ ช่วงโควิดเป็นเสมือนช่วงเวลาของ “การพักตัว” ซึ่งก็ยังสามารถเติบโตเป็นบวกได้ ขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศชะลอตัวลงมาก หลังการคลายล็อกในยุคหลังโควิด ซึ่งคาดว่าจะเปิดประเทศในราวปลายปีนี้ เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งจะมีความต้องการในสินค้าและบริการเกิดขึ้นอีกมาก 

สัมมนาไทย-จีนแห่งปี (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

ไทยเราจึงควรจะต้อง “รุก” ไม่ใช่ “รับ” เข้าไปเชื่อมกับจีนให้มากขึ้น ภูมิภาคทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลเสฉวน ยูนนาน กวางสี และกุ้ยโจว ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เพราะมีจำนวนประชากรราว 300 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย 3-4 เท่าตัว แถมยังมีทำเลอยู่ใกล้ไทย ซึ่งทำให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์เหนือกว่าของต่างชาติ

สินค้าไทยต้องจับกลุ่มเป้าหมายและทำตลาดให้ดี เรากำลังคิดไปขายสินค้าให้คนรวย จึงต้องใส่ใจกับเรื่องคุณภาพสินค้าและการเสริมสร้างแบรนด์ให้มาก และแม้ว่าจีนในหลายปีหลังจะเติบโตในอัตราที่ลดลง แต่ด้วยฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นมามาก ทำให้การเติบโตแต่ละเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น หมายถึงมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาล เราต้องไปกล้าที่จะออกไปเอาประโยชน์จากส่วนนี้

“หลังหมดโควิด ผมจะทำ 2 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือ การพาคณะผู้ประกอบการไปค้าขายในตลาดจีน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็คือ การเชิญนักธุรกิจจีนมาลงทุนที่ไทย” ท่านธนากร ให้คำมั่นไว้

โอกาสหน้า ผมจะขอพาไปเก็บตกช่วงการเสวนาที่สนุก ตื่นเต้น เร้าใจ และเต็มไปด้วยสาระดีๆ รวมทั้งการพบปะสังสรรค์ขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกันครับ ...


อ่านบทความเพิ่มเติม

สัมมนาไทย-จีนแห่งปี (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ข่าวแนะนำ