TNN online เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

การเดินทางเยือนของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2022 โดยไม่สนคำเตือนของฝ่ายบริหารและความมั่งคงของสหรัฐฯ และคำคัดค้านของรัฐบาลจีน นำไปสู่ควันหลงตามมามากมาย จนเกิดคำถามว่า ไต้หวันได้อะไร คุ้มค่าไหม จีนจะมีมาตรการตอบโต้อะไรอีกบ้าง และจะส่งผลระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร ...

ในทางการเมือง นี่เป็นอีกครั้งที่ แนนซี เพโลซี “เบอร์ 3” ของสหรัฐฯ ได้ทำในสิ่งที่ท่านฝันใฝ่ ซึ่งได้แก่ “การเรียกร้องประชาธิปไตย” ในฐานะนักการเมืองสหรัฐฯ “ขาใหญ่” ที่พยายามส่งออกความคิดทางการเมืองไปทั่วโลก โดยมองข้าม “ประวัติศาสตร์” และไม่ยอมรับในความแตกต่างของสภาพปัจจัยแวดล้อมที่แต่ละประเทศมีอยู่

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

ตลอดหลายวันก่อนหน้าการเดินทางเข้าไต้หวัน รัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์และประสานไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เตือนว่า การกระทำดังกล่าวสะท้อนว่า สหรัฐฯ กำลัง “เล่นกับไฟ” และจะมอดไหม้ในที่สุด

ประการสำคัญ เพโลซี ยังปล่อยข่าวลวง ยั่วยุ บ่อนทำลาย และทะนงตน โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่กระทำว่าจะเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยและพันธะสัญญาที่สหรัฐฯ มีต่อยูเอ็น องค์การระหว่างประเทศที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก โดยลงทุนออกแบบเส้นทางบินอ้อมเพิ่มขึ้นถึง 2 ชั่วโมงเพื่อหลบหลีกฝูงจีนที่อาจขัดขวางการเดินทางเข้าไต้หวัน

แถมทันทีที่เหยียบแผ่นดินไต้หวัน ก็ให้สัมภาษณ์และโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และปล่อยข่าวเชิดชูว่าเป็นชัยชนะของ “ระบอบประชาธิปไตย” รวมทั้งขยายประเด็นจากไต้หวันต่อไปถึงซินเจียงอย่างไม่มีปี่ มีขลุ่ยอย่างต่อเนื่อง 

อนึ่ง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แนนซี เพโลซี ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองดังกล่าวโดยขาดความรับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการชูป้ายที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน การพบกับดาไล ลามะ และการปราศรัยในเวทีสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ แสดงจุดยืน และสนับสนุนปฏิบัติพิเศษในประเทศอื่น และการชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง

แนนซี เพโลซี อาจได้รับ “เครดิต” จากพฤติกรรรมดังกล่าว จนสามารถก้าวขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นตำแหน่งสูงสุดในชีวิตการเมืองได้ในที่สุด แต่รัฐบาลของหลายประเทศต่างเมินหน้าหนีต่อพฤติกรรมสุดขั้วดังกล่าว แม้กระทั่งเกาหลีใต้เองก็แสดงท่าทีชัดเจนในครั้งนี้ เพราะไม่อยากร่วมกับสหรัฐฯ  “กระตุกหนวดมังกร” ที่จะทำให้มี “แผลสด” เหมือนดั่งเช่นไต้หวัน

นอกจากนี้ การเดินทางในครั้งนี้ที่เดิมหวังลึกๆ ว่าจะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ กลับดูเหมือนทำให้ “เดโมแครต” กลายเป็นพื้นที่ “กระสุนตก” ที่สื่อตะวันตกและพรรคเดโมแครตกำลังนำไปขยายผล 

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

ในด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์สะท้อนว่า โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต “ไร้น้ำยา” เพราะไม่สามารถหยุดภารกิจของเพโลซีในครั้งนี้ได้ ทั้งที่ผู้นำสหรัฐฯ พึ่งให้คำมั่นกับสี จิ้นผิง ว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในหลักการ “จีนเดียว” และจะไม่เปลี่ยนแปลง ในการประชุมออนไลน์เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง

หากเราประเมินว่า สหรัฐฯ เล่นบท “สองหน้า” ให้โจไบเดน “ตีเนียน” ในมิติทางการทูต และให้เพโลซี ออกมา “ยั่วยุ” ด้วยแล้ว ก็เท่ากับว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ยึดมั่นในหลักการ “จีนเดียว” อย่างแท้จริง สิ่งนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในสายตาของชาวโลกลดต่ำลงไปอีก 

แถมยังสร้างความกังวลใจในหมู่ชาวอเมริกันและชาติพันธมิตร เพราะ “หัวขบวน” ยุคนี้กำลังนำพาประเทศไป “เล่นกับไฟ” และอาจขยายวงความขัดแย้งกับจีนครั้งใหญ่สุดนับแต่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางการทูตในยุคใหม่ระหว่างกัน

ในอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์นี้กระทบกับการเมืองภายในสหรัฐฯ และอาจขยายตัวในวงกว้าง เพราะดูเหมือนปฏิบัติการในครั้งนี้กลับทำให้สถานการณ์ของพรรคเดโมแครตตกต่ำดำดิ่งต่อไปอีก กระแสความนิยมในหัวขบวน “หลายเบอร์” ของสหรัฐฯ ซึ่งล้วนมาจากพรรคเดโมแครต กลับขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีแนวโน้มสูงมากขึ้นที่พรรคฯ จะเสียที่นั่งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งกลางเทอมในไม่กี่เดือนข้างหน้า

มองออกไปในช่วงครึ่งปีหลัง หากพรรคเดโมแครตสูญเสียที่นั่งในสภา ก็จะยิ่งทำให้โจ ไบเดน ทำงานในช่วงครึ่งเทอมหลังยากยิ่งขึ้น และอาจปิดโอกาสการลงสนามแข่งขันเป็นประธานาธิบดีในรอบ 2 ไปเลย 

คงไม่มีผู้นำชาติใดให้ความสำคัญกับผู้นำ “หัวโขน” ที่ปราศจากอำนาจที่แท้จริง แม้กระทั่งในพรรคการเมืองของตนเอง และมีแนวโน้มสูงที่จะไม่ลงสนามเลือกตั้งในรอบหน้า 

นั่นเท่ากับว่า การเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอด G20 และเอเปคในปลายปีนี้ และอีกหลายเวทีระหว่างประเทศในอนาคต จะดูหม่นหมองอย่างปฏิเสธไม่ได้ เท่ากับว่า ปฏิบัติการของแนนซี เพโลซี ในครั้งนี้กำลังจะส่งผลให้ โจ ไบเดน จบชีวิตทางการเมืองเร็วกว่ากำหนด

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

งานนี้พรรครีพับลิกัน และโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐฯ คงต้องนำดอกไม้ช่อใหญ่ไปมอบเพื่อแสดงความขอบคุณต่อแนนซี เพโลซี ที่ช่วยโกยคะแนนเสียงมาให้โดยไม่ต้องออกแรงซะแล้ว 

ผมเชื่อว่า การเดินทางเยือนเพียงแค่ชั่วข้ามคืนของแนนซี เพโลซี ในครั้งนี้ยังได้ทิ้งปัญหาใหญ่ทางการเมืองและเศรษฐกิจมากมายจนเป็น “แผลเรื้อรัง” ไว้ให้ไต้หวันต้องใช้เวลารักษาไปอีกนานในอนาคต 

ไช่ อิงเหวิน ผู้นำไต้หวัน ที่พยายามวางตำแหน่งทางการตลาดว่าเป็น “สตรีเหล็ก” แห่งเอเชียตะวันออก อาจประสบความสำเร็จในการ “ตอกย้ำ” จุดขายดังกล่าว และ “สร้างชื่อ” ในเวทีการเมืองโลก

ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อทั่วโลกต่างจับตามองเหตุการณ์ในไต้หวันอย่างชนิดไม่กระพริบตา ชาวโลกรู้จัก “ไต้หวัน” มากขึ้นอย่างแน่นอน ผมก็ได้แต่หวังว่า นี่จะไม่มีควันหลงถึงคนไทยที่ชาวอเมริกันและชาติตะวันตกมักสับสนระหว่าง “ไทยแลนด์” กับ “ไต้หวัน” ดังเช่นในอดีต 

ผมเห็นว่า การสร้างกระแสความสนใจต่อ “ไต้หวัน” ในส่วนนี้ถือว่า ไช่ อิงเหวิน “สอบผ่าน” แต่อาจเป็นความสำเร็จในระยะสั้นเสมือน “การสอบกลางภาค” เท่านั้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะสร้างความเสียหายกับผู้คนและธุรกิจของไต้หวันในระยะยาวหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามดูกันต่อไป

ภายหลัง เพโลซี เดินทางออกจากไต้หวันเพื่อต่อไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่น สถานการณ์การเมืองในไต้หวันก็ร้อนระอุขึ้นทันตาเห็น ความแตกแยกของพรรคการเมืองและผู้คนในไต้หวันที่โปรการรวมชาติกับการแยกชาติขยายวงกว้างขึ้น ภาคประชาชน และองค์กรธุรกิจต่างออกมาชุมนุมประท้วงและแสดงจุดยืนคัดค้านต่อการดำเนินงานของผู้บริหารเกาะไต้หวัน 

ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านในไต้หวันต่างออกมาโจมตีเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างโจ๋งครึ่ม ซึ่งยกระดับความขัดแย้งในหลายระดับและพื้นที่ และเพิ่มอุณหภูมิความดุเดือดของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ไปด้วย

ในทางกลับกัน การเผยแพร่ข่าวการเยือนไต้หวันของประธานสภาล่างของสหรัฐฯ ดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้จีนได้ตอกย้ำหลักการ “จีนเดียว” ที่โลกรับรองไว้กับองค์การสหประชาชาติ “ยูเอ็น” ในช่วงกว่า 5 ทศวรรษ และปลุกกระแส “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ของชาติจีนอีกด้วย

สี จิ้นผิง ก็ใช้จังหวะโอกาสนี้กล่าวอย่างแยบยลในเวทีหนึ่งของการประชุมองค์กรสำคัญภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า “การรวมประเทศเป็นเป้าหมายที่จีนไม่เคยเปลี่ยนแปลง (ซึ่งหมายถึงการนำไต้หวันกลับสู่มาตภูมิ) และเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของประชาชนชาวจีนกว่า 1,400 ล้านคน การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างยั่งยืน พรรคฯ จะต้องเอาชนะใจคนจีนในฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน รวมทั้งคนจีนโพ้นทะเล”

สำหรับผมแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่จีนแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนต่อสถานะของไต้หวันหลังการรวมประเทศ โดยผู้นำจีนได้ให้คำมั่นว่า ไต้หวันจะได้รับอิสรภาพในการปกครอง ภายใต้นโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” เฉกเช่นเดียวกับฮ่องกงและมาเก๊า

นอกจากนี้ การต่อสู้ในเชิงนโยบายดังกล่าวยังทำให้ สี จิ้นผิงและรัฐบาลจีนสามารถปลุกกระแสความรักชาติ และเพิ่มแรงสนับสนุนไว้ได้มากมาย ซึ่งทำให้ภาพของการต่อเทอม 3 ของสี จิ้นผิง ลอยสูงเด่นเป็นสง่า โดยไม่ต้องเสียเวลาโปรโมทซีรีส์  “ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของจีน” ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ (CCTV) เลย

ชาวจีนมีปฏิกิริยาเช่นไร จีนออก “อาวุธ” อย่างไร และจะมีผลกระทบอย่างไร เราไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...


คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 1

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 2

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 3

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอนจบ


ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง