TNN online สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

วันนี้ ผมจะไปขยายความต่อจากงานสัมมนา “Startup ในกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมจีน” ที่จัดขึ้นโดย KMITL โดยจะเจาะลึกถึงเทคนิคการปกป้องคุ้มครองและการจดเครื่องหมายการค้า ความจำเป็นและเทคนิคการจดเครื่องหมายการค้าเป็นภาษาจีน และการแก้ไขปัญหาเมื่อถูกละเมิดกันครับ ...

สตาร์ตอัพบางรายคิดว่า ทางออกที่ดีที่สุดได้แก่ การปิดตัวเอง ไม่ไปบุกตลาดจีน ก็จะไม่ถูกก๊อป แต่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เสรีและเทคโนโลยีที่ทันสมัย การยึดแนวทางนี้ก็ไม่อาจหลีกหนีจากปัญหานี้ได้ เพราะปัจจุบัน ผู้ประกอบการและมิจฉาชีพจีนก็เดินทางหรือท่องผ่านอินเตอร์เน็ตไปทั่วโลก 

ในหลายกรณี ผู้แทนหน่วยงานของรัฐก็อาจเป็นองค์กรที่เชิญผู้ประกอบการเหล่านี้เข้ามาเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าที่ไทย หรือสนับสนุนส่งเสริมให้สตาร์ตอัพไทยนำสินค้าไปจัดแสดงในต่างประเทศอยู่เนืองๆ ดังนั้น สินค้าและบริการของเราจึงแฝงไว้ด้วยความเสี่ยงของการถูกก๊อป 


สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

 


แถมพอมีสินค้าใหม่ เราก็อยากอัพเดตในเว็บไซต์หรือโพสต์ในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่ขาดจริยธรรมและมิจฉาชีพเหล่านี้สามารถรับรู้ และนำไปแอบจดเครื่องหมายการค้าหรือลอกเลียนทรัพย์สินทางปัญญาอื่นได้ก่อน

สิ่งหนึ่งที่อาจช่วย “ผ่อนหนักเป็นเบาได้” ก็คือ สตาร์ตอัพไทยควรจัดระบบการควบคุมภายในตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในการออกงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศครั้งใด เมื่อมีคู่เจรจามาเยี่ยมชมและเจรจาการค้าด้วย ก็ควรขอนามบัตรและถ่ายรูปไว้ พร้อมเก็บข้อมูลเหล่านั้นพร้อมชื่องานแสดงสินค้าไว้อย่างเป็นระบบ ยิ่งเป็นงานใหญ่ที่รัฐบาลจัดและมีผู้บริหารระดับสูงของจีนมาเป็นประธานเปิดงานด้วยก็ยิ่งดี เพราะข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานยามต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

ในการคัดเลือกหุ้นส่วนหรือตัวแทนจัดจำหน่าย ก็ควรใช้เวลา และกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างเหมาะสมเพื่อคัดกรองคนที่ใช่และเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง บ่อยครั้งที่ผมพบว่า ปัญหาการละเมิดดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะผู้ร่วมทุนและตัวแทนจัดจำน่าย แถมหลายกรณีก็เป็นญาติกันเสียด้วย ดังนั้น ท่านอย่าได้วางใจ “คนใกล้ตัว” เป็นอันขาด

การพัฒนาสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาดังกล่าว เพราะคนที่ต้องการก๊อปสินค้าของเราก็อาจไล่ตามไม่ทัน และมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เรายังอาจใช้โอกาสนี้นำเอาเทคโนโลยีด้านดิจิตัล เช่น ระบบคิวอาร์โค้ด และการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มาช่วยยืนยันตัวตนของสินค้า สร้างกลไกการรับรู้ใน “ของปลอม” และประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ “ของแท้” โดยมีภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำลง

สำหรับเทคนิคการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา สตาร์ตอัพไทยควรดำเนินการโดยไม่รีรอ โดยใช้หลักคิดที่คำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวเป็นสำคัญ เพราะกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของจีนยึดหลัก “ใครจดก่อน ได้ก่อน” (First-to-File) มิใช่ใครเป็นเจ้าของหรือเริ่มใช้เครื่องหมายการค้านั้นก่อน ว่าง่ายๆ กฎหมายจีนไม่ยอมรับในการจดทะเบียนของประเทศอื่น ทำให้กิจการต่างชาติที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจ และพลาดท่าไม่ได้จดเครื่องหมายการค้าตั้งแต่เนิ่นๆ พาลตกที่นั่งลำบากตามมา

ในการจดเครื่องหมายการค้าในจีน ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณามิติทางกฎหมาย อาทิ ไม่สะท้อนถึงชื่อ หรือหน้าที่ของสินค้า กฎหมายปัจจุบันไม่ยอมรับในธรรมชาติ หรือโมเดลของสินค้า เช่น ไม่สามารถจดชื่อ Apple กับสินค้าแอปเปิ้ลได้ รวมทั้งยังต้องเป็นชื่อที่ไม่ก่อผลกระทบเชิงลบกับแบรนด์ของคู่แข่งขัน การมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาในเรื่องนี้จะช่วยให้เราประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้


สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

 


นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรคำนึงถึงความแตกต่างหรือมีลักษณะเฉพาะ โดยควรจดในภาษาจีนเพื่อประโยชน์ในด้านการตลาดควบคู่ไปด้วย หากท่านมีชื่อในภาษาอังกฤษ และสามารถจดทะเบียนได้อยู่แล้ว ก็พยายามคิดหาชื่อภาษาจีน 

สตาร์ตอัพยังไม่ควรชะล่าใจในการจดชื่อในภาษาอังกฤษ แม้กระทั่ง Apple เคยพลาดท่าของ แพ้คดีในเรื่องสิทธิ์ในการใช้ “iPhone” ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาของจีนมาแล้ว ส่งผลให้บริษัทต้องยอมให้ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังของจีนร่วมใช้ชื่อ “IPHONE” ไปด้วย

และอย่าเชื่อในคำปรึกษาของผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญในตลาดจีน หลายครั้งที่ผู้ประกอบการเคยแจ้งว่า ที่ปรึกษาที่ใช้บริการอยู่แนะนำให้บริษัทจดเฉพาะชื่อภาษาอังกฤษ และไม่ควรจดชื่อจีน เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าต่ำลง ผมขอยืนยันว่า การจดเครื่องหมายในภาษาจีนจะเป็นประโยชน์ต่อการปกป้องคุ้มครองเครื่องหมายการค้าและสื่อสารการตลาด เพราะผู้บริโภคจีนเกือบทั้งหมดไม่รู้จัก และไม่นิยมเรียกขานสินค้าในภาษาต่างชาติ 

ทั้งนี้ เทคนิคง่ายๆ ที่ควรยึดถือไว้ก็คือ การเลือกชื่อจีนโดยใช้คำแปลตรงตัว Apple Computers เลือกใช้คำว่า “Ping Guo” (ผิงกั๋ว) ซึ่งแปลว่าแอปเปิ้ล ขณะที่ Palmolive ก็ใช้คำว่า “Zong Lan” (จงหล่าน) ซึ่งเป็นคำผสมของคำว่า “Palm” และ “Olive” ตามลำดับ 

อีกวิธีหนึ่งก็ได้แก่ การเลือกคำที่ “พ้องเสียงของแต่ละพยางค์” อาทิ McDonald’s = Mai-Dang-Lao (ม่ายตังเหลา) KFC = Ken-De-Ji (เขิ่นเต๋อจี) Starbucks = Xing-Ba-Ke (ซิงปาเค่อ) Audi = Ao-Di (อ้าวตี๋) และ Siemens = Xi-Men-Zi (ซีเหมินจื่อ) 

และหากคำเหล่านั้นมี “ความหมายเชิงบวก” ซ่อนอยู่ด้วยก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้ผู้บริโภคจดจำได้ง่าย เราจึงเห็นแบรนด์สินค้าและบริการชั้นนำของโลกจำนวนมากใช้เวลาและทรัพยากรไม่เพียงแค่หาชื่อจีน แต่ล้วนคัดสรรและกลั่นกรองจนได้ชื่อที่มีจำนวนพยางค์และความหมายเชิงบวกในวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่พร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น Coca Cola = Ke-Kou-Ke-Le (เค๋อโค๋วเค๋อเล่อ) แปลว่า “ลิ้มรสและเปี่ยมสุข BMW = Bao-Ma (เป๋าหม่า) แปลว่า “ม้าที่ทรงคุณค่า” 

ขณะที่แบรนด์ดังของไทยที่โกอินเตอร์อย่าง CP, Redbull และ Koh-Kae ก็มีชื่อจีนว่า Zheng-Da (เจิ้งต้า) ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ความเที่ยงตรง-ความใหญ่” Hong-Niu (หงหนิว) ซึ่งนอกจากมีความหมายว่า “กระทิงแดง” แล้วยังมีความหมายเชิงบวกจากสีแดง และ Da-Ge (ต้าเกอ) ซึ่งแปลว่า “พี่ใหญ่” ตามลำดับ เป็นต้น

ทั้งนี้ การเลือกใช้คำต้องระมัดระวังให้มาก เพราะตัวหนังสือจีนแต่ละตัวอาจมีหลายความหมาย การไม่ใส่ใจในความหมายของชื่อภาษาจีนอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และมูลค่าของแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์สินค้าแฟชั่นอย่าง Ralph Lauren ที่ตอนเข้าสู่ตลาดจีนในระยะแรก ปล่อยให้นักการตลาดท้องถิ่นควานหาชื่อที่เหมาะสมจากโลโก้ ซึ่งนำไปสู่ชื่อในภาษาจีนว่า “San Jiao Ma” (ซานเจี่ยวม๋า) เวลาผ่านไปอยู่นานกว่าที่บริษัทจะรู้ว่าชื่อจีนที่จดไว้แปลว่า “ม้า 3 ขา”

ขณะที่ Benz ก็ประสบกับความยากลำบากอย่างมากในการทำการตลาดในจีนอยู่นาน เพราะตั้งชื่อภาษาจีนว่า “Ben-Chi” (เปินฉือ) ซึ่งมีเสียงใกล้กับคำว่า “Ben-Si” (เปินสือ) ที่แปลว่า “รีบไปตาย” นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกรณีที่กิจการชั้นนำของต่างชาติพลาดกับเรื่องเช่นนี้อย่างเหลือเชื่อ อาทิ Coca-Cola และ Best Buy 

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

ดังนั้น การติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องจึงนับว่ามีความสำคัญยิ่ง ผมแนะนำให้ผู้ประกอบการขอคำปรึกษาจากหอการค้าไทยในจีน และสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ที่พร้อมให้บริการในเบื้องต้นอย่างเป็นมืออาชีพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

หลังจากได้รับคำปรึกษา ท่านสามารถจะใช้บริการของที่ปรึกษากฎหมายรายใด จดในคลาสหรือหมวดสินค้าย่อยไหน อย่างไร รวมทั้งขอคำแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหา และดำเนินคดีทางกฎหมาย ก็เป็นสิทธิ์ของท่านเอง

อีกเทคนิคหนึ่งก็ได้แก่ การออกแบบโลโก้และตัวอักษรให้มีอัตลักษณ์เฉพาะ และจดเครื่องหมายการค้าทั้งสองส่วนไปพร้อมกัน ขณะเดียวกัน การเลือกหมวดสินค้าก็มีความสำคัญเช่นกัน ทั้งนี้ กิจการควรจดเครื่องหมายการค้าให้ครอบคลุมรายการสินค้าทั้งระบบที่ท่านวางแผนจะทำตลาดอย่างน้อยในช่วง 3 ปีข้างหน้า และต้องไม่ลืมที่จะจดในคลาส 30 มิฉะนั้นก็จะทำให้เสียโอกาสในการทำอีคอมเมิร์ซ 

เมื่อจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านอาจไปแจ้งจดกับสำนักงานบริหารศุลกากรจีน เพื่อสร้างเกราะพิเศษไว้อีกชั้นหนึ่งก็ได้ ส่วนนี้ไม่ใช่ภาคบังคับ แต่ก็อาจเป็นประโยชน์ในการช่วยลดปัญหาการนำเข้าสินค้าจาก “ช่องทางสีเทา” ประเทศเพื่อนบ้านของจีนที่คาดไม่ถึงได้

ในกรณีที่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีน ผมขอแนะนำให้รีบแจ้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานผู้แทนด้านการค้าของไทยในจีน ในสังกัดของกระทรวงพาณิชย์ ขณะเดียวกัน ก็รีบขอคำปรึกษาสมาคมทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนในทันที และหากเป็นกรณีที่ใหญ่ เป็น “ความเป็นความตาย” ของบริษัท ก็ควรรีบติดต่อว่างจ้างที่ปรึกษากฎหมายที่เชี่ยวชาญในด้านนี้

“ความเร็ว” ในการจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที ก็อาจช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งผมขอแนะนำให้กิจการที่ประสบปัญหา ขอคำปรึกษาจากหอการค้าไทยในจีน และสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีนในโอกาสแรก

นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์จากสื่อสารมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ก็มีความสำคัญยิ่ง เพราะพื้นที่ที่กว้างใหญ่ของจีนก็อาจเป็นอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายและกำกับควบคุมโอกาสในการละเมิดได้ ท่านอาจใช้ประโยชน์จากเครือข่ายตัวแทนจัดจำหน่ายในจีนได้ในอีกทางหนึ่ง

เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องหมายการค้า ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สตาร์ตอัพของไทยไม่ควรมองข้าม เพราะหากพลาดพลั้ง ความเสียหายอาจสูงเกินกว่าจะจินตนาการ ...





ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง