TNN online สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ผมขอใช้โอกาสตอบอีกคำถามสำคัญ “หากจะวางแผนเรื่องการจดเครื่องหมายการค้าในจีน ควรพิจารณาประเด็นอะไร และปรึกษาหน่วยงานไหนได้บ้าง” ที่ได้รับจากการสัมมนา “Startup ในกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมจีน” ที่จัดขึ้นโดย KMITL ครับ ...

เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเรื่องใหญ่ที่พบเห็นอยู่มากในจีน หากมองถึงความท้าทายในการประกอบการในตลาดจีน ผมคิดว่าเรื่อง “การถูกก๊อป” นี้มาในอันดับต้นๆ ไม่แพ้ “การถูกโกง”

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า จีนปิดประเทศไปนาน หลายสิ่งที่จีนมีเมื่อครั้งเปิดประเทศในระยะแรกล้วนล้าสมัย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการจัดการ เทคโนโลยี และอื่นๆ สิ่งหนึ่งที่ผู้ตามนิยมใช้ก็คือ การลอกเลียนแบบจากผู้นำตลาด กอปรกับตลาดจีนที่ค่อนข้างปิด และมีขนาดเล็ก ชาวต่างชาติก็ไม่ค่อยสนใจเข้าไปเยือนตลาดจีน ทำให้เจ้าของตราสินค้าไม่ตระหนักถึงภยันตรายตรงหน้า 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนในยุคนั้นก็ให้ความสำคัญกับเรื่อง “ปากท้อง” ของประชาชนก่อนเรื่อง “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่ในยุคนั้นผลประโยชน์เกือบทั้งหมดเป็นของต่างชาติ 


สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


หากกำหนดเป็นนโยบายของภาครัฐ อุตสาหกรรมของก๊อปก็อาจถือเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่สร้างประโยชน์ทั้งในด้านการจ้างงาน การบริโภค และด้านอื่นๆ ได้เลย แถมในช่วงนั้นจีนก็ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของแกตต์ที่ต่อมาผันเป็นองค์การการค้าโลกในเวลาต่อมา 

สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ (Copyright) ที่บ้านเราพูดถึง “เทปผี ซีดีเถื่อน”รวมถึงซอฟท์แวร์และหนังสือ เป็นต้น สิทธิบัตร (Patent) ที่มักเกี่ยวข้องกับการออกแบบแผงวงจรไฟฟ้า รูปโฉมของสินค้า และอื่นๆ ก็โดนไปด้วย แต่เกือบทั้งหมดของการละเมิดจะเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้า (Trade Mark)

ที่ผ่านมา เราเห็นจีนเป็นแหล่งผลิตและจำหน่าย “ของก๊อป” ที่ได้รับความนิยมจนเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมสินค้าลอกเลียนแบบในจีนมีเครือข่ายที่สลับซับซ้อน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของจีน ยิ่งเวลาผ่านไป ก็เห็นการขยายตัวไปครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ของเด็กเล่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องกีฬา เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้ก็คือ ราคาสินค้าที่แสนถูก และความเก่งกาจของคนขายของจีน ยิ่งเวลาผ่านไป เราก็รู้สึกได้ถึงความสามารถในการก๊อปที่รวดเร็ว และมีคุณภาพที่สูงขึ้น จนทำให้จีนกลายเป็น “พี่เบิ้ม” แห่งวงการสินค้าลอกเลียนแบบโลกในเวลาต่อมา 

นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักเข้าใจผิดก็คือ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสินค้าต่างชาติ ว่าง่ายๆ จีนเลือกก๊อปสินค้าที่ดีเป็นสำคัญ โดยไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหมว่าเป็นของชาติไหน

ผลจากการผลิตสินค้าลอกเลียนแบบดังกล่าวยังทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานจีนได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือด้านการผลิต จนสามารถออกรุ่น “ก๊อปแท้” และ “ก๊อปเทียม” ชนิดเนียนจนแยกจากของจริงแทบไม่ออก และกลายเป็น “สีสัน” ที่ชาวต่างชาติที่ไปเยือนจีนต้องแวะเวียนไปอุดหนุน แถมจุดจำหน่ายของก๊อปเหล่านี้ก็มีขนาดใหญ่ และอยู่ในทำเลที่ดีไม่ไกลจากใจกลางเมือง มีโครงข่ายถนนและรถไฟใต้ดินถึงพื้นที่ ทำให้สะดวกต่อการเดินทางของลูกค้า


สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


แม้กระทั่งคนไทยที่ไปเที่ยวเมืองจีนในอดีตก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากบริษัททัวร์ไหนไม่พาไป “ฝึกวิทยายุทธ” ในเรื่องการเจรจาต่อรองที่ตลาดของก๊อป ถือว่าทัวร์นั้นไม่เจ๋งจริง 

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีหลัง สถานการณ์โดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ รัฐบาลจีนได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนและหันมาสนับสนุนส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และปราบปรามการละเมิดอย่างจริงจัง ซึ่งทำเอาคนขายก๊อปหลายรายถูกจับกุมและลงโทษ 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังออกกฎหมายเครื่องหมายการค้า (Trademark Law) และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Competition Law) และปรับปรุงให้มีความทันสมัยเฉลี่ยทุก 10 ปี

ยกตัวอย่างกฎหมายเครื่องหมายการค้าแห่งชาติจีนฉบับล่าสุดได้รับการปรับปรุงเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2001 ซึ่งเปิดโอกาสให้เครื่องหมายการค้า 3 มิติและสีสามารถจดเครื่องหมายการค้าได้ ขณะเดียวกัน กฎหมายเครื่องหมายการค้าของจีนยังกำหนดว่า หากแบรนด์เป็นที่รู้จัก (Well-Known) ในตลาดโลก ก็สามารถได้รับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในจีนโดยอัตโนมัติ 

แต่เท่าที่สังเกต ผมก็ไม่ค่อยเห็นแบรนด์ชั้นนำของโลก “กล้าวัดดวง” ในความดังของแบรนด์ ซึ่งจีนใช้เกณฑ์การประเมินจากข้อมูลในหลายส่วน อาทิ ระดับความรู้ของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาของการใช้เครื่องหมายการค้า จำนวนการตีพิมพ์เครื่องหมายการค้าในจีน และประวัติของเครื่องหมายการค้า 

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ แบรนด์ต่างชาติจึงยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าในจีนด้วยกันทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น New Balance อาจไม่ได้รับเงินชดเชยจำนวนมหาศาล ใช้เวลาในการฟ้องร้อง และเสียหายมากขึ้น หากไม่ได้จดเครื่องหมายการค้าในจีน ทั้งที่ คาดว่าจะถูกจัดเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างก็ตาม

ทั้งนี้ ในด้านหนึ่ง สาเหตุอาจเป็นเพราะแรงกดดันจากต่างชาติในเวทีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก และการเปิดเสรีทางการค้าของจีนกับนานาประเทศ 

ในปี 2014 รัฐบาลจีนยังได้ร่วมมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่เราเรียกในชื่อย่อว่า “WIPO” จัดตั้งสาขาแห่งแรกในจีนขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง และจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นเป็นครั้งแรกในปีต่อมา ปัจจุบัน จีนมีศาลฯ กระจายอยู่ในหลายเมืองเศรษฐกิจสำคัญของจีน

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนอาจตระหนักดีว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของจีนกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovative Economy) ที่เปลี่ยนจากการสร้าง “มูลค่าเพิ่มต่ำ” สู่ “มูลค่าเพิ่มสูง” และโยกจากการลอกเลียนแบบ หรือที่คนไทยชอบใช้คำว่า “C&D” ไปสู่การวิจัยและพัฒนา (R&D) ในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังได้ปรับเปลี่ยนจากการพึ่ง “กำลังภายนอก” ไปสู่ “กำลังภายใน” ทั้งในมิติของอุปสงค์และอุปทาน และเพียงไม่กี่หลังจากนั้น เราก็ได้เห็นการประกาศนโยบาย “เศรษฐกิจวงจรคู่” ที่ต้องการสร้างสมดุลของการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงการพึ่งพาการวิจัยและพัฒนาของตนเองในสัดส่วนที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสริมต่อการพัฒนานวัตกรรมของจีน

ในแง่ของผู้ประกอบการไทย การปกป้องคุ้มครองการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาควรถือเป็นสิ่งแรกๆ ที่ควรเตรียมการและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่นก่อนการเข้าตลาดจีน ดั่งสุภาษิตไทยที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน” 

โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าได้ที่สำนักงานบริหารทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน (China National Intellectual Property Administration) ที่เปลี่ยนชื่อมาหลายรอบจนหลายคนงง ทั้งนี้ ปัจจุบัน CNIPA มีเครือข่ายกระจายอยู่ในแต่ละมณฑล/มหานครทั่วจีน จึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปจดที่ปักกิ่งเท่านั้น

กระบวนการจดเครื่องหมายการค้าในจีนอาจดูยุ่งยาก เนื่องจากเอกสารที่เป็นภาษาจีนแทบทั้งสิ้น และใช้เวลานานเฉกเช่นเดียวกับของหลายประเทศ โดยกว่าจะได้รับการรับรองก็อยู่ระหว่างหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี ทั้งนี้ ไม่นับรวมเวลาของการรวบรวมหลักฐานเอกสารของผู้ยื่นที่อาจแตกต่างกัน 

เมื่อได้รับใบรับรองเครื่องหมายการค้าแล้ว ผู้ประกอบการจะได้รับการคุ้มครองเป็นเวลา 10 ปี และต่ออายุในทุก 10 ปี โดยได้สิทธิ์ในการคุ้มครองทั่วประเทศจีน 

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงไม่จำเป็นต้องไปไล่จดทะเบียนในทุกแห่ง อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ท่านจะต้องประกอบธุรกิจในสินค้าและบริการดังกล่าวภายใน 3 ปี หากไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด สิทธิ์ดังกล่าวอาจถูกเพิกถอนได้ และเงื่อนไขนี้เองที่ทำให้ Redbull เครื่องดื่มให้พลังงานชื่อดังของไทยเอาชนะคดีที่ถูกคนท้องถิ่นนำเอาเครื่องหมายการค้าไปแอบจดในจีนได้

คราวหน้าเราจะมาคุยกันต่อถึงเทคนิคการปกป้องคุ้มครองและการจดเครื่องหมายการค้า ไปหาคำตอบถึงความจำเป็นในการจดเครื่องหมายการค้าเป็นภาษาจีน การแก้ไขปัญหาเมื่อถูกละเมิด และอื่นๆ 





ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง