TNN online สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน


เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปร่วมจัดงานสัมมนา “Startup ในกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมจีน” ที่มุ่งหวังจะติดอาวุธให้สตาร์ตอัพระยะเริ่มต้นผ่านการเรียนลัดจากกรณีศึกษาของธุรกิจดิจิตัลจีน และการลับสมองกับไอเดียที่เฉียบแหลมเพื่อให้พร้อมก้าวไกลไปสู่ตลาดโลกอย่างมั่นคง...

ผมต้องขอชื่นชมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินกิจกรรมพิเศษในครั้งนี้ แถมยังเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกอย่างสร้างสรรค์ 

โดยหน่วยงานภายในของ KMITL ที่ประสานการทำงานได้แก่ สำนักกิจการต่างประเทศ (OIA) และสำนักบริหารการวิจัยและนวัตกรรม หรือที่รู้จักกันใน KRIS (Startup Cave) แถมยังไปดึงเอาหน่วยงานภายนอกอย่างหอการค้าไทยในจีน และสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีนมาร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าว

การจัดกิจกรรมรวม 3 วันครอบคลุมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดูงานออนไลน์ การบรรยายพิเศษ และการอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งการออกแบบและประกวดไอเดียธุรกิจสตาร์ตอัพ พร้อมทุนสนับสนุน 50,000 บาทสำหรับทีมที่ชนะอีกด้วย

นอกจากนี้ กิจกรรมยังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 และสร้างความยืดหยุ่น โดยจัดสถานที่ไว้อย่างกว้างขวาง และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมบางกิจกรรมได้ทั้งแบบออนไซต์ (Onsite) และออนไลน์ (Online) ทำให้สามารถดึงดูดผู้สนใจที่เป็นนักศึกษาของ KMITL และผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพสู่โลกอนาคตรวมราว 100 คน


สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP


ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนเปรยว่า “โชคดีมากที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ การดูงานออนไลน์ก็ช่วยเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับสตาร์ตอัพจีนในยุคใหม่ได้เป็นอย่างมาก เฉพาะวันแรก พวกเราก็ได้เรียนรู้โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ของ AliCloud คลาวด์ของอาลีบาบา Nio สตาร์ตอัพรถยนต์ไฟฟ้า Elema บริการสั่งอาหารผ่านแอพชื่อดัง และ Megvii ผู้นำการพัฒนาระบบการจดจำใบหน้า รวมทั้งยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือหยางซาน ตลาดสดอัจฉริยะ ศูนย์อาหาร AI และบริการค้าปลีกอัจฉริยะของจีน ...”


“แถมยังได้ฟังบรรยายแบบเจาะลึกการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของจีนและคำแนะนำเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเอาธุรกิจสตาร์ตอัพเข้าสู่จีน ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ชนิดประเมินค่าไม่ได้เลย เสียดายแทนหลายคนที่พลาดโอกาสนี้ครับ”

หลังการดูงานออนไลน์และการบรรยายพิเศษในวันแรก ก็มีคำถามมากมายจากผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งสะท้อนถึงความจริงจังของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียกว่าตอบคำถามกันจนเกินเวลาแล้ว ก็ยังไม่หมด ผมเห็นว่าหลายคำถามที่ค้างอยู่มีความน่าสนใจ จึงขออนุญาตผู้จัดงานนำมาตอบผ่านคอลัมน์นี้เพื่อจะได้ถือโอกาสแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลกันในวงกว้างผมจะขอไล่ตอบแต่ละคำถามไปเลยครับ

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิตัลในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI ที่ก้าวหน้าในทุกภาคส่วนอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบต่อคนทำงานและประชาชนในจีนอย่างไรบ้าง 

นี่เป็นหนึ่งในคำถามยอดนิยมที่ผมมักได้รับเวลาไปบรรยายเรื่องเหล่านี้ การเติบโตของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่นำเอาหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ มาใช้กับภาคการผลิตและบริการ จะส่งผลกระทบกับการจ้างงานและการใช้ชีวิตของชาวจีนในหลายมิติอย่างไม่ต้องสงสัย


สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP


“แรงงานมนุษย์” ในหลายสาขาอาชีพคาดว่าจะสูญเสียงานเป็นจำนวนมากให้กับ “หุ่นยนต์” ที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นอัจฉริยะงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำที่ต้องทำซ้ำกันไปมา ไม่สัมผัสกับมนุษย์ และไม่ต้องการความนุ่มนวลและอ่อนไหวต่อความรู้สึก จะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ที่มีซอฟท์แวร์พร้อมเอไอเกือบทั้งหมด 

ไล่ตั้งแต่พนักงานต้อนรับ พนักงานทำความสะอาดและรับสายโทรศัพท์ แคชเชียร์ นักบัญชี คนงานในโรงงาน คนขับรถบรรทุก ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎมาย นักรังสีวิทยาแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตำรวจ และทหาร และอาชีพอื่นๆ จะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์และเอไอยิ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น ก็ทำให้การทดแทนตำแหน่งงานมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอัตราเร่งในอนาคต

ในทางกลับกัน มนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องความสามารถในการปรับตัว เมื่อแรงงานได้รับการพัฒนาจนมีทักษะที่สูงมากพอ ก็จะทำให้แรงงานเหล่านั้นเปลี่ยนหน้าที่หลักจาก “ผู้ปฏิบัติงานทั่วไป” เป็น “ผู้ควบคุมเครื่อง” กล่าวคือ ทำงานเบาลง แต่มีระดับของคุณภาพงานที่สูงขึ้น 

ผู้เชี่ยวชาญของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดการณ์ของไคฟู่ หลี่ (Kai-Fu Lee) กูรูด้านเอไอ และซีอีโอของชิโนเวชั่นเวนเจอร์ส (Sinovation Ventures) กองทุนใหญ่ในธุรกิจไฮเทคของจีนเขียนไว้ในหนังสือ “AI Superpowers: China, Silicon Valley, and the New World Order” ว่า 50% ของตำแหน่งงานในจีนจะถูกทดแทนโดยเอไอภายใน 15 ปี ซึ่งสร้างกระแสความกังวลใจในวงกว้างในเวลาต่อมา

แต่รัฐบาลจีนเปลี่ยน “ความกังวลใจ” ดังกล่าวเป็น “ความตื่นตัว” โดยมองว่า หากไม่ทำอะไรเลย แรงงานจีนจะตกงานเป็นจำนวนมากในอนาคต แต่รัฐบาลจีนมองการพัฒนาประเทศไปข้างหน้าในเชิงบวก และแน่วแน่ที่จะเดินหน้านำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในวงกว้าง จึงร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรม Reskill/Upskill ในเชิงรุกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน บางบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกก็ประเมินว่า การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้จะส่งผลในเชิงลบให้การจ้างงานในจีนลดลงราว 26% ของตำแหน่งภายใน 20 ปีข้างหน้า แต่ในทางกลับกัน ก็จะเพิ่มตำแหน่งงานคุณภาพ ผลิตภาพการผลิต และรายได้ของแรงงานในจีน โดยคาดว่าการจ้างงานสุทธิจะเพิ่มขึ้นราว 12% หรือ 90 ล้านคนภายในปี 2037


สร้างสตาร์ตอัพจากการเรียนลัดธุรกิจดิจิตัลจีน (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP


ภาคบริการถูกประเมินว่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเกือบ30% หรือราว 97 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริการด้านเฮลธ์แคร์ และการก่อสร้าง แม้กระทั่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็คาดว่าจะมีการจ้างงานสุทธิเป็นบวกในระดับที่สูงขึ้น

ในทางกลับกัน ภาคการเกษตรก็คาดว่าจะสูญเสียตำแหน่งงานสุทธิไป 10% เราเห็นผลกระทบในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในหลายประเทศในอดีต และในกรณีของจีน ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะตลอดเวลากว่า 40 ปีนับแต่เปิดประเทศสู่ภายนอก ภาคเกษตรกรรมของจีนก็สูญเสียแรงงานราว 250 ล้านคนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและเคลื่อนต่อไปยังภาคบริการ

สิ่งนี้ทำให้ภาคการเกษตรของจีนจำเป็นต้องเร่งปรับสู่ “เกษตรอัจฉริยะ” โดยนำเอาเครื่องจักรเครื่องมือการเกษตรขนาดใหญ่ และระบบดิจิตัลเข้ามาช่วยทุ่นแรง ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และยกระดับผลผลิตทางการเกษตร

ในส่วนของประชาชน ก็คาดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้นจากการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ สินค้าอาจมีราคาที่ต่ำลง คุณภาพดีขึ้น ขณะที่บริการในหลายส่วนจะรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

โดยที่เราอยู่ในโลกที่กำลังมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบันและแม้กระทั่ง 5.0 ในอนาคต และภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่มุ่งเน้นกลไกตลาดเสรี เราจึงต้องมองการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ในเชิงบวกและร่วมมือกันพัฒนาระบบนิเวศให้เกิดขึ้นในเชิงรุก 

การสานต่อโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ก็อาจเป็นความหวังใหม่ของไทยในอนาคตไม่อย่างนั้นแล้ว ตำแหน่งงาน ภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งเศรษฐกิจของไทยโดยรวมก็จะล่มสลายต่อของต่างชาติอย่างหนีไม่พ้น

ผมขอตอบคำถามอื่นๆ ในตอนหน้านะครับ ...



ภาพจาก AFP 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง