TNN online จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อกล่าวถึง CCPIT ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าตัวย่อนี้มาจากคำว่าอะไร และมีความสำคัญอย่างไร แต่พอจั่วหัวบอกว่าฉลองครบ 7 ทศวรรษ ซึ่งใกล้เคียงกับอายุของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยแล้ว ท่านผู้อ่านก็คงประเมินได้ว่า ถ้าเป็นองค์กรก็ถือว่าเก่าแก่มาก และหากอยู่รอดปลอดภัยจนถึงวันนี้ ก็ต้องมีบทบาทและผลงานอย่างมาก แถมขนาด สี จิ้นผิง ผู้นำจีนที่กำลังจะต่อการดำรงตำแหน่งเทอม 3 ในปลายปีนี้ก็ยังเป็นประธานกล่าวเปิดงานให้ด้วยแล้ว องค์กรนี้ก็ย่อมไม่ธรรมดาเป็นแน่ ...


จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


CCPIT ย่อมาจาก “China Council for the Promotion of International Trade” หรือ “สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน” ในภาษาไทย เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1952 ณ กรุงปักกิ่ง ถือเป็นองค์กรแรกๆ หลังการก่อตั้งประเทศ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์จีน 

บางครั้ง เราอาจเห็นบทบาทของ CCPIT ในชื่อ “China Chamber of International Commerce” (CCOIC) หรือ “หอการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน” ในชื่อภาษาไทย ซึ่งจีนมักใช้คณะผู้บริหารและทีมงานเดียวกันในสององค์กรดังกล่าว 

แต่ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อใด ก็พอสรุปให้เห็นภาพได้ว่า องค์กรนี้ก็มีสภาพคล้ายหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมรวมกัน กล่าวคือ CCPIT มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจกับต่างประเทศ 

อันที่จริง CCPIT มีความเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจส่วนหน้าของจีนมาเป็นเวลายาวนาน โดยในช่วงที่ปิดประเทศหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนในยุคแรก รัฐบาลจีนใช้ CCPIT เป็นองค์กรตัวแทนในการค้าขายกับต่างประเทศ นั่นหมายความว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว จีนไม่ได้ปิดประเทศอย่างแท้จริง แต่เปิดช่องทางในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้ากับต่างประเทศผ่าน CCPIT นั่นเอง

แม้ว่าชื่อและหน้าตาของ CCPIT จะดูเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร แต่เนื้อแท้แล้ว สมาชิกของ CCPIT ล้วนแล้วแต่เป็นกิจการของรัฐ ภายใต้แนวคิดของรัฐสังคมนิยม ดังนั้น CCPIT ในยุคแรกจึงทำหน้าที่เสริมสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรภาครัฐของต่างประเทศควบคู่ไปด้วย

จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 

 ต่อมา เมื่อรัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายเปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น CCPIT ก็มีจำนวนสมาชิกที่เป็นกิจการเอกชนเพิ่มขึ้นโดยลำดับ แต่ CCPIT ก็ยังมีลักษณะเป็นองค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชนที่รัฐบาลจีนยังเป็นองค์กรหลักที่อยู่เบื้องหลังอยู่มาก

ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งประธาน CCPIT ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลจีน และมีสถานะเทียบเท่าผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (เท่ากับ “รัฐมนตรีช่วย” ของไทย) ผู้นำ CCPIT จึงมักเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา บ้างก็ยังขยับไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือตำแหน่งอื่นที่สูงกว่า อย่างประธาน CCPIT คนปัจจุบัน ได้แก่ จาง หย่งหมิง (Zhang Yongming) ก็ผ่านงานในตำแหน่งต่างๆ คล้ายคลึงกับที่ผ่านมา

กลับมาที่การประชุม “สุดยอดการส่งเสริมการค้าและการลงทุนโลก” (Global Trade and Investment Promotion Summit) ที่จัดขึ้นโดย CCPIT เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมาในโอกาสครบรอบ 70 ปีของ CCPIT 


จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


การประชุมครั้งนี้จัดในรูปแบบไฮบริด โดยผู้นำจีนได้กล่าวสุนทรพจน์ออนไลน์ท่ามกลางแขกเหรื่อสำคัญจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำประเทศอินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ เลขาธิการองค์การการค้าโลก เลขาธิการอาเซียน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงองค์กรภาครัฐและเอกชน อาทิ ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน และนายกสมาคมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น เป็นต้น

พอถอดรหัสคำกล่าวของท่านผู้นำดังกล่าว ก็พบว่ามีสาระสำคัญที่น่าสนใจในหลายประเด็น นอกจากการแสดงความยินดีกับ CCPIT และขอบคุณในความห่วงใยและการสนับสนุนในความพยายามในการปฏิรูป เปิดกว้าง และสร้างความทันสมัยของจีนด้วยดีเสมอมาแล้ว ผู้นำจีนยังตระหนักถึงการขยายบทบาทและภารกิจของ CCPIT อย่างกว้างขวางในยุคหลัง

อาทิ การสำรวจนวัตกรรมในเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การไกล่เกลี่ยกรณีพิพาททางการค้า และบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการเปิดกว้างประเทศ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อให้ธุรกิจในแต่ละประเทศได้แบ่งปันโอกาสการพัฒนาและได้รับประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างกัน

อย่างไรก็ดี ผู้นำจีนยังคาดหวังที่อยากจะเห็น CCPIT มีบทบาทในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายบริการสำหรับธุรกิจ และสนับสนุนนโยบายการพัฒนาคุณภาพสูงและกระบวนทัศน์การพัฒนาใหม่ที่เปิดสู่เศรษฐกิจโลกของจีน 


จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


ผู้นำจีนยังใช้โอกาสนี้สะท้อนถึงความกังวลใจที่มีต่อความท้าทายของโลกที่กำลังเกิดขึ้น อันนำไปสู่ความเปราะบางและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหม่ของโลก 

ผมสังเกตว่า ในช่วงหลายปีหลัง ทุกครั้งที่ผู้นำจีนกล่าวสุนทรพจน์ในงานใหญ่ครั้งใดก็ไม่พลาดที่จะแตะประเด็นระดับโลกเสมอ และแม้ว่าไม่ได้เกริ่นข้อมูลในรายละเอียด แต่ก็ประเมินได้ว่า ความท้าทายดังกล่าวมีขอบเขตกว้างขวางและเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกขั้วทางเศรษฐกิจ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกำลังนำไปสู่วิกฤติพลังงานและอาหารโลก รวมทั้งการระบาดของเชื้อโควิดที่ลากยาวกว่า 2 ปี และฝีดาษลิงที่ประทุและกำลังระบาดไปในหลายประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ประการสำคัญ สี จิ้นผิงยังได้เสนอแนะ 4 แนวทางสำคัญ อันได้แก่ ประการแรก การร่วมมือกันเพื่อเอาชนะโควิด-19 การระบาดของเชื้อโควิดยังคงดำเนินต่อไป และสายพันธุ์ใหม่ก็มีระดับการติดเชื้อที่ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน และขยายวงต่อไปกระทบเศรษฐกิจโลก

ในประเด็นนี้ จีนอยากเห็นแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับชีวิตมนุษย์เป็นอันดับแรก และหันหน้าร่วมมือกับในการวิจัยและพัฒนา การผลิต และการกระจายวัคซีน รวมทั้งเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาลด้านการสาธารณสุข และหาแนวทางป้องกันโควิด และทำงานด้านสุขภาพแก่ทุกคนในชุมชนโลก


จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


ขณะเดียวกัน หลายประเทศก็อาจไม่เข้าใจว่าทำไมจีนต้องดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ แต่สำหรับประเทศที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน และมีหลายร้อยหัวเมืองใหญ่ที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างสูงและเข้มงวดอย่างยิ่งกับมาตรการควบคุมในเรื่องนี้ 

แม้ว่าได้ทุ่มเทศึกษาวิจัยเชื้อโควิดมาเป็นเวลานานแล้ว แต่รัฐบาลจีนก็เน้นย้ำอยู่เสมอว่า จีนยังรู้จักเชื้อโควิดน้อยมาก และไม่สามารถหาวิธีการกำจัดหรือรักษาผู้ติดเชื้อให้ปลอดภัยได้ 100%

ประการที่ 2 การสร้างความกระชุ่มกระชวยแก่การค้าและการลงทุน จีนเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องสร้างสมดุลระหว่างการระบาดกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และเติมพลังการประสานนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระหว่างประเทศ 

คำกล่าวในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่า จีนแสดงจุดยืนของการเป็นหนึ่งในผู้นำโลก โดยนำเสนอ “ข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก” (Global Development Initiative) ที่มองถึงความพยายามร่วมมือกันผลักดัน “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 2030” (UN's 2030 Agenda for Sustainable Development) ในทุกมิติ ซึ่งจะช่วยยกระดับกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และปรับเปลี่ยนโมเดลและโครงสร้างการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ทิศทางที่ดีและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว 

นอกจากนี้ จีนยังอยากให้นานาประเทศสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคที่มี WTO เป็นแกนกลาง เสริมสร้างความมั่นใจให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและอุปทานมีความมั่นคงและเสถียรภาพ และทำให้ “ก้อนเค้ก” แห่งความร่วมมือมีขนาดใหญ่ขึ้นและกระจายสู่ผู้คนในระดับฐานรากของนานาประเทศ


จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


ประการที่ 3 การปลดปล่อยพลังของนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนา จีนต้องการเห็นความร่วมมือกันเข้าถึงศักยภาพของนวัตกรรมในการกระตุ้นการเติบโต การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างกฎเกณฑ์การมีส่วนร่วมและฉันทามติ และการสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง เป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ

รวมไปจนถึงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านนวัตกรรม การอำนวยความสะดวกแก่การประสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขยายการแบ่งปันผลของนวัตกรรม และยกเลิกสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของความรู้ เทคโนโลยี พรสวรรค์ และปัจจัยด้านนวัตกรรมอื่น

ในประเด็นนี้ พอไตร่ตรองข้อเสนอแนะของผู้นำจีนแล้ว ผมก็อยากเอาตำราด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศของชาติตะวันตกที่เคยอ่านมาในอดีต “เก็บลงกล่อง” เพราะตำราเหล่านั้นมักระบุว่า ระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยและระบอบทุนนิยมสอดคล้องกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมด้านนวัตกรรม และอื่นๆ

แต่กลายเป็นว่า จีนซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบสังคมนิยมในทางการเมือง และมีระดับของความเป็นทุนนิยมที่น้อยกว่าในด้านเศรษฐกิจ กลับแสดงจุดยืนที่หนักแน่นและทำได้ดีกว่าหลายประเทศที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย-ทุนนิยมในมิติการเปิดเสรีและนวัตกรรมได้อย่างชัดเจน นั่นสะท้อนว่า ความสำเร็จในการพัฒนาดังกล่าวไม่ได้อยู่บนหลักการเดิม หรือมีปัจจัยอื่นที่มีนัยสำคัญแฝงอยู่ด้วย

ประการที่ 4 การปรับปรุงธรรมาภิบาลโลก ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจเสรี อนาคตของทุกประเทศถูกเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด การสร้างกลุ่มเฉพาะจะนำไปโลกไปสู่การแบ่งแยกและการเผชิญหน้า จีนจึงสนับสนุนความเป็นพหุภาคีที่แท้จริง เคารพในวิสัยทัศน์ของธรรมาภิบาลโลกที่อยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือในวงกว้าง สร้างประโยชน์ร่วมและแบ่งปันผลประโยชน์ และเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากทุกหนแห่งของโลกเพื่อเผชิญกับความท้าทายและผลักดันการพัฒนาให้รุดหน้า

ในประเด็นนี้ แม้ว่าไม่ได้กล่าวชัดเจนถึงระเบียบสังคมโลกที่ผุกร่อน และความพยายามของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในการผลักดันการแยกขั้ว แต่ผู้นำจีนก็เสนอแนะว่า นานาประเทศควรปฏิรูประบบธรรมาภิบาลโลกให้อยู่บนหลักการของความเป็นธรรมและความยุติธรรม และควรเลือก “การหารือ” มากกว่า “การเผชิญหน้า” แสวงหา “การลดหรือทลาย” กำแพง แทนที่จะเป็น “การก่อสร้าง” มุ่งสู่ “การบูรณาการ” แทนที่ “การแยกขั้ว” เลือกการสร้างการมีส่วนร่วม “ของทุกคน” มากกว่า “เฉพาะกลุ่ม” 


จีนใช้โอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี CCPIT ขยายแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังไม่พลาดที่จะกล่าวสนับสนุน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement: RCEP) และความร่วมมือตาม “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) คุณภาพสูงเพื่อขยายโอกาสทางการตลาด การลงทุน และการพัฒนาแก่ชุมชนธุรกิจโลก ซึ่งสะท้อนว่า จีนต้องการ “ขยายแนวร่วม” เพื่อเอาประโยชน์จากเวทีความร่วมมือดังกล่าวอย่างจริงจังอยู่ต่อไป

CCPIT ยังคงเดินหน้าพัฒนาและก้าวย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 8 อย่างมั่งคงในฐานะหนึ่งในองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีของจีนในเวทีระหว่างประเทศ สุขสันต์วันเกิดย้อนหลังครับ ...







ภาพจาก รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง