TNN online มังกรปรับสู่โรงงานผลิตยุคใหม่ได้อย่างไร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

มังกรปรับสู่โรงงานผลิตยุคใหม่ได้อย่างไร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

มังกรปรับสู่โรงงานผลิตยุคใหม่ได้อย่างไร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

มังกรปรับสู่โรงงานผลิตยุคใหม่ได้อย่างไร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

จีนได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงงานของโลก” (Factory of the World) มานานหลายทศวรรษ จนมีคนพูดเป็นภาษาชาวบ้านว่า จีนผลิตตั้งแต่ “สากกะเบือยันเรือรบ” แต่สถานะดังกล่าวในยุคแรกมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรม “แรงงานไร้ฝีมือเข้มข้น” และขยับสู่ “แรงงานฝีมือเข้มข้น” ในเวลาต่อมา

เมื่อชัดเจนกับแนวทางการพัฒนาที่รออยู่ข้างหน้า จีนก็กำหนดเงื่อนไขเพื่อลดภาคการผลิตที่ “ใช้พลังงานเยอะ ปล่อยมลพิษแยะ และให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ” และหากต้องการลงทุนในจีนต่อไป อุตสาหกรรมดั้งเดิมเหล่านั้นก็ต้องนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาต่อยอด และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างตราสินค้าควบคู่กันไป

แนวนโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการรักษาแรงงานฝีมือและทรัพยากรอื่นสำหรับรองรับความต้องการของฐานการผลิตยุคใหม่ เพื่อให้แรงงานคุณภาพได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น และทรัพยากรถูกใช้อย่างคุ้มค่าในระยะยาว

ต่อมาในยุคหลัง จีนก็ยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม “เทคโนโลยีเข้มข้น” จากฐานดิจิตัล และสู่ “นวัตกรรมเข้มข้น” ที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน จีนก็ปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยละทิ้ง “การลอกเลียนแบบและพัฒนา” (Copy & Development) ในยุคแรก ก้าวไปสู่ “การวิจัยและพัฒนา” (Research & Development) และกำลังต่อยอดสู่ “การวิจัยและนวัตกรรม” (Research & Innovation) เพื่อให้สอดรับกับภาคการผลิตในแต่ละช่วง

ปัจจุบัน หลายอุตสาหกรรมของจีนได้ถูกยกระดับสู่ระบบการผลิตอัจฉริยะและดีต่อสิ่งแวดล้อมในสัดส่วนที่สูงขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้กิจการของจีนไต่ระดับและกลายเป็นกิจการชั้นแนวหน้าของโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าของจีนก็มีคุณภาพดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก

แม้กระทั่งคนไทยต่างก็เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติและสนใจซื้อหาสินค้าของจีนมากขึ้น รวมทั้งอยากไปติดตามศึกษาดูงานเพื่อ “เรียนลัด” เทคโนโลยี ระบบการจัดการ และอื่นๆ จากกิจการของจีนกันมากขึ้น บ้างก็อยากไปเชื่อมโยงเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจ ส่งผลให้หัวเมืองใหญ่ของจีนที่เต็มไปด้วยกิจการชั้นแนวหน้า กลายเป็นแหล่งเยี่ยมชมดูงานสุดฮิตในยุคหลัง 

มังกรปรับสู่โรงงานผลิตยุคใหม่ได้อย่างไร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก AFP

อันที่จริงแล้ว การดูงานธุรกิจจีนในอดีตไม่ใช่สิ่งที่คนไทยถวิลหา แม้กระทั่งข้าราชการในหลักสูตร “นักบริหารระดับสูง” รุ่นหนึ่งที่ถูกกำหนดให้ไปดูงานการพัฒนาในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงก็เคย “ส่ายหน้า” และรู้สึก “ไม่พอใจ” เมื่อได้รับทราบว่าไม่ได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ดังเช่นรุ่นก่อนๆ 

แต่ครั้นเมื่อมีโอกาสไปสัมผัสสภาพบ้านเมือง และความก้าวล้ำของธุรกิจจีน คณะก็ต้องตื่นตะลึงและเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับจีน จนเข้าใจคำกล่าวที่ว่า “ทำไมการไปดูงานเมืองจีนในยุคใหม่จึงเป็นการไปดูอนาคตของโลก” 

หรืออาจกล่าวได้ว่า การไม่ไปศึกษาดูงานเมืองจีนทำให้เราเสมือนกลายเป็น “คนตกยุค” ไปโดยปริยาย และโดยที่จีน “เปลี่ยนเล็กทุกปี และเปลี่ยนใหญ่ทุกสามปี” เรายังสามารถไปศึกษาเรียนลัดวิธีคิดที่แตกต่าง กลยุทธ์การตลาดที่นอกกรอบ และนวัตกรรมที่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมืองเดิมได้แทบทุกปี

และหลายคนก็คงไม่อยากเชื่อว่า การพัฒนาที่ก้าวล้ำเหล่านี้เกิดขึ้นหลังการเปิดประเทศสู่ภายนอกเพียงราว 4 ทศวรรษ จนหลายคนเริ่มคิดใหม่กับคำว่า “ศตวรรษที่สูญหายไปของจีน” ว่าเป็นการสูญเสียโอกาสครั้งใหญ่ของโลก โลกจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของจีนมากและเร็วขึ้นขนาดไหน หาก 100 ปีดังกล่าว จีนไม่ถูกครอบงำโดยชาวตะวันตก วุ่นวายกับสงครามการเมือง และการปิดประเทศ

คำถามสำคัญหนึ่งที่คนไทยสนใจก็คือ จีนเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ได้อย่างไร ผมเลยขอหยิบยกเอาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งในอดีตอาจถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ไม่มีอนาคตสำหรับจีนมาเป็นตัวอย่างในการไขข้อสงสัยกัน

อุตสาหกรรมฯ ของจีนถือเป็นอุตสาหกรรมเบาที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 40% ผลผลิตโดยรวมของโลก ฐานการผลิตกระจายตัวในหลายพื้นที่ด้านซีกตะวันออกของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งมณฑลกวางตุ้ง ซานตง ฝูเจี้ยน และเจ้อเจียง

ด้วยความพร้อมของทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานฝีมือ และอื่นๆ ทำให้อุตสาหกรรมฯ ของจีนเต็มไปด้วยศักยภาพที่จะเติบใหญ่อีกมากในอนาคต ศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งประเมินไว้ว่า อุตสาหกรรมฯ จะเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปีจนถึงปี 2030 

นอกจากการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกแล้ว จีนยังเป็นผู้บริโภคและผู้ส่งออกชั้นแนวหน้าอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยจำนวนประชากรที่มาก และเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้คนจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สูง การพัฒนาชุมชนเมือง และการอาศัยในที่พักแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วจีน 

ส่งผลให้มีความต้องการเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด ขณะที่ช่องทางจัดจำหน่ายในจีนก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เฟอร์นิเจอร์มอลล์ขนาดใหญ่ และการค้าออนไลน์ที่มีรูปแบบการนำเสนอและการขายที่สะดวกและน่าสนใจ

มังกรปรับสู่โรงงานผลิตยุคใหม่ได้อย่างไร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก AFP

นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้รายใหญ่สุดของโลก ด้วยขีดความสามารถด้านการผลิตที่สูงและตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ ทำให้เฟอร์นิเจอร์จีนมีความได้เปรียบด้านราคาจากความประหยัดอันเนื่องจากขนาด เมื่อผนวกกับความพยายามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ทำให้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แล้วจีนพัฒนาความได้เปรียบด้านคุณภาพได้อย่างไรกัน เราต่างทราบกันดีว่า ในช่วงหลายปีหลัง จีนได้พยายามพัฒนาภาคการผลิตผ่านการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมยุคที่ 4 หรือ “อุตสาหกรรม 4.0” ซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมที่เป็นระบบ จริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม

เมื่อผนวกกับความมุ่งมั่นและความสามารถในการพัฒนาของภาคเอกชน ก็ทำให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีนได้รับการปรับโครงสร้าง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถผลิตสินค้าของใช้ภายในบ้านที่มีความอัจฉริยะ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และสะดวกสบายแก่ผู้ใช้ยิ่งขึ้น 

ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมฯ ถูกยกระดับสู่สายการผลิตอัจฉริยะแบบดิจิตัลที่มีความเชื่อมโยง และผสมผสาน ซึ่งช่วยให้ระบบการผลิตมีความยืดหยุ่น เปี่ยมประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการปรับเปลี่ยน รวมทั้งคุณภาพที่สูงขึ้น

โดยแรงผลักดันของการพัฒนาดังกล่าวมาจากระบบ 5G และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี อาทิ IoT บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และการพิมพ์ 3 มิติ รวมทั้งวัสดุใหม่ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้นโยบาย “Made in China 2025” ขณะเดียวกัน หลายธุรกิจในด้านเทคโนโลยีต่างก็ทุ่มทรัพยากรกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อคิดค้นนวัตกรรมสินค้าครัวเรือนอัจฉริยะทั้งระบบ

การออกแบบก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าจีน เฟอร์นิเจอร์ที่แปะ “Made in China” ไม่ได้เป็นจุดด้อยในเวทีระหว่างประเทศอีกต่อไป 

ผู้ประกอบการจีนบางรายลงทุนว่าจ้างนักออกแบบชาติตะวันตก หรือนักออกแบบจีนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือผ่านงานในบริษัทระหว่างประเทศ มาช่วยงานในด้านนี้ ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาชั้นนำของจีนก็เชิญนักออกแบบชั้นนำของโลกมาเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่นักศึกษาจีนในเชิงลึก ที่นำไปสู่การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งในเวทีโลก

และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปลดปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์สูงสุดในปี 2030 และความเป็นกลางด้านคาร์บอนภายในปี 2060 ตามที่ผู้นำจีนเคยประกาศไว้ในการประชุมสุดยอดสภาวะโลกร้อน ก็ทำให้รัฐบาลจีนสนับสนุนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมฯ พยายามเร่งปรับฐานการผลิตสีเขียวที่ปล่อยคาร์บอนฯ ต่ำ

ในด้านอุปสงค์ เศรษฐกิจ “อยู่ติดบ้าน” (Stay-Home Economy) ที่ได้รับผลกระทบจาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ก็กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความต้องการและพฤติกรรมการซื้อหาสินค้าของตกแต่งบ้าน 

มังกรปรับสู่โรงงานผลิตยุคใหม่ได้อย่างไร โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก AFP

ผู้บริโภคจีนในยุคหลังโควิดต่างมองหาสินค้าที่ตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ ความต้องการในมิติเชิงคุณภาพดังกล่าวก็เป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการพัฒนาด้านการผลิตของจีน

ในทางปฏิบัติ ธุรกิจจีนจำนวนมากหันมาออกแบบและพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ที่เรียบง่าย แต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผสมผสานทักษะฝีมือแรงงานดั้งเดิมที่มีอยู่เข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะสมัยใหม่ผ่านการปรับปรุงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ รวมทั้งการออกแบบและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แนวทางการพัฒนาดังกล่าวไม่เพียงตอบสนองต่ออุปสงค์ภายประเทศ แต่ยังสอดรับกับมาตรฐานและกระแสการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมของยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์หลักของจีน ทำให้เฟอร์นิเจอร์มีบทบาทนำในอุตสาหกรรมอัจฉริยะเพื่อการส่งออกของจีน

แม้กระทั่งในปี 2021 ที่จีนยังต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แต่อุตสาหกรรมฯ ของจีนก็ยังขยายการส่งออกกว่า 20% เมื่อเทียบกับของปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออกราว 470,000 ล้านหยวน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเติบโตของตลาดเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่งผลให้เฟอร์นิเจอร์จีนในปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีจากงานแสดงสินค้าชั้นนำและผู้บริโภคทั่วโลก ในงานแสดงสินค้า “แคนตันแฟร์” (Canton Fair) ครั้งที่ 131 ที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ณ นครกวางโจว สินค้าเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะของจีนที่ทำด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ถูกพัฒนา นำเสนอ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้เยี่ยมชมงาน

ยกตัวอย่างเช่น ที่นอนโฟมที่จดจำผู้ใช้งานและที่มีระบบอัตโนมัติในการควบคุมอุณหภูมิและกลิ่น โต๊ะและเก้าอี้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถปรับความสูงได้ และกระดานเมลามีนหลากรูปทรงที่สามารถย่อยสลายได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แถมยังขจัดเชื้อโรค คืนรูป และทนไฟอีกด้วย ซึ่งตอกย้ำว่าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของจีนในปัจจุบันเก่งทั้งในด้านราคา รูปโฉม วัสดุ และภาพลักษณ์ รวมทั้งความเป็นอัจฉริยะ

ผลจากความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ดังกล่าวทำให้จีนมีการจ้างงานคุณภาพ การพัฒนาด้านนวัตกรรม การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเพื่อการส่งออก การส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิตัลและที่เกี่ยวข้อง และการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของ “Made in China” รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถานะ “โรงงานของโลก” ยุคใหม่ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

แต่เฟอร์นิเจอร์ก็ไม่ใช่อุตสาหกรรมเดียวที่จีนพยายามทำในช่วงที่ผ่านมา จีนยังคงเดินหน้าพัฒนาหลายอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตอย่างไม่หยุดหย่อน โอกาสต่อไปผมจะนำเอาตัวอย่างของอุตสาหกรรมอื่นของจีนมาแบ่งปันกันอีกครับ ...


ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ