TNN online จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่า จีนจะเผชิญกับความท้าทายใน 3 ด้าน อันได้แก่ อุปสงค์ที่หดตัว อุปทานที่ขาดวิ่น และความคาดหวังที่อ่อนแรง มาถึงวันนี้ ความท้าทายดังกล่าวดูท่าจะเผยโฉมและกลายเป็นจริงรวดเร็วกว่าที่คิดไว้มาก

หลังเทศกาลตรุษจีนไม่นาน หลายหัวเมืองของจีน ไล่ตั้งแต่เซินเจิ้น ฉางชุน ไปจนถึงเซี่ยงไฮ้ ต่างเผชิญกับการระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ที่ยาวนานจนคนในพื้นที่ต่างบ่นเอือมระอากันเป็นแถว


จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


สถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2022 ที่แม้ว่าจะมีปัจจัยเชิงบวกอยู่บ้าง อาทิ การเติบโตในอัตรา 4.8% ที่ผงกหัวขึ้นหลังจากการชะลอตัวรายไตรมาสอย่างต่อเนื่องในช่วงปีก่อน จนลงมาอยู่ที่อัตรา 4% เมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน และทำให้จีดีพีทะลุ 27 ล้านล้านหยวนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน 

แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4.8% ดังกล่าวก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายโดยรวมของทั้งปีที่จีนตั้งไว้ที่ 5.5% อยู่มาก ขณะที่ภาคการผลิตของจีนก็ชะลอตัวในช่วงไตรมาสแรก กิจการของจีนต่างทยอยปรับลดการจ้างงาน และตำแหน่งงานใหม่ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ 

อัตราการว่างงานใน 31 เมืองหลักของจีนกระโดดจาก 5.4% ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 6% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดนับแต่ปี 2018 ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานในกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปีก็ทะยานขึ้นแตะ 16% สูงที่สุดนับแต่เดือนเมษายน 2020 และอาจพุ่งสูงขึ้นในอนาคต



จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

กิจการไฮเทครายใหญ่ที่เผชิญกับการจัดระเบียบของภาครัฐ และปัญหาการชะลอตัวของการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ยอดขายและผลกำไรเติบโตในอัตราที่ลดลง ตัวอย่างเช่น อาลีบาบา (Alibaba) และหลายบริษัทในเครือจิงตง หรือ JD.com ต่างปรับลดพนักงานลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ และอาการ “ขาลง” ของอุตสาหกรรมดังกล่าว

มรสุมทางเศรษฐกิจยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น วิกฤติยูเครนลากยาวยืดเยื้อ และส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้างมากขึ้น แถมยังซ่อนไว้ซึ่งปัญหาในด้านอื่นที่อาจตามมาในอนาคต ขณะที่โควิดก็เริ่มลามไปยังหัวเมืองอื่น อาทิ ปักกิ่ง หังโจว และกวางโจว ซึ่งล้วนแต่เป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน 

มาตรการ “อยู่แต่บ้าน” (Stay Home Measures) อย่างเข้มงวดภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีนคาดว่าจะกระทบชิ่งต่อไปในอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชน


จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 

เมื่อแนวโน้มปัญหาและความท้าทายดังกล่าวส่อเค้าว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลืออยู่ของปีนี้จะเผชิญกับ “อาการที่หนักขึ้น” ก็ทำให้รัฐบาลจีนประเมินว่า มาตรการทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจจะทำให้บรรยากาศการต่อเทอม 3 ของสี จิ้นผิง ในช่วงปลายปีดูหมองไปได้

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนและแบ้งค์ชาติจีนได้พยายาม “ตีโจทย์” และเร่ง “ปล่อยของ” ผ่านการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อหวังรักษา “เสถียรภาพ” โดยรวมเอาไว้ เราไปลองไล่เรียงไฮไลต์ของมาตรการดังกล่าวของจีนดูครับ

ในด้านการปรับลดภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 รัฐบาลจีนได้คืนเงินภาษีและลดค่าธรรมเนียมในหลายส่วนเพื่อลดภาระทางธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผู้เสียภาษีในปีนี้ประหยัดเงินได้ราว 2.5 ล้านล้านหยวน และเพิ่มสินเชื่อแก่กิจการขนาดเล็กและจิ๋วถึงเกือบ 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ครั้นพอเข้าเดือนเมษายนที่การระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ในหลายเมืองรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลจีนก็ประกาศยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายได้จากการจัดส่งด่วน และจัดสรรสินเชื่อวงเงิน 100,000 ล้านหยวนเพื่อสนับสนุนบริการโลจิสติกส์ การจัดเก็บสินค้า และธุรกิจอื่น โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคมถึงสิ้นปีนี้

กลางเดือนเมษายน แบ้งค์ชาติจีนได้ออกมาตรการทางการเงินเป็นชุด ไล่ตั้งแต่การปรับลดสัดส่วนสำรองเงินสดธนาคารพาณิชย์อีกครั้งเมื่อกลางเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับการอัดเม็ดเงินราว 530,000 ล้านหยวนเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะยาวในระบบเศรษฐกิจ และยังมีกระแสข่าวว่า แบ้งค์ชาติจีนจะปรับลดสัดส่วนฯ เพิ่มเติมอีกในอนาคตอันใกล้


จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


นอกจากนี้ เรายังเห็นปรากฏการณ์ทางการเงินมากมาย อาทิ การเทขายหุ้นและหุ้นกู้จีนของนักลงทุนต่างชาติในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การลดสัดส่วนการถือครองเงินเหรียญสหรัฐฯ ในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของแบ้งค์ชาติจีน และการลดสัดส่วนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 1% โดยให้มีผลนับแต่กลางเดือนพฤษภาคม ศกนี้ 

รวมทั้งการเชิญประชุมด่วนระหว่างแบ้งค์ชาติและกระทรวงการคลังจีนกับธนาคารพาณิชย์ในจีนเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงหยุดยาววันแรงงานของจีน เพื่อประเมินความเสี่ยงและเตรียมการป้องกันทรัพย์สินหากสหรัฐฯ คว่ำบาตรจีน ก็สะท้อนว่า จีนมองว่าโลกมีระดับความเสี่ยงและความผันผวนที่สูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นเงินหยวนอ่อนค่ามากสุดในรอบปี

เพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ สี จิ้นผิง ยังได้กล่าวไว้ว่า “จีนจะทุ่มเทความพยายามและทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อการก่อสร้างอย่างเต็มที่ ... เม็ดเงินงบประมาณที่จัดสรรไว้เดิม ยังคงเทียบไม่ได้กับความจำเป็นของจีน” ทั้งนี้ โดยให้การดำเนินโครงการคำนึงถึงผลตอบแทนโดยรวมที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

กระแสข่าวยังระบุอีกว่า รัฐบาลจีนจะจัดสรรเงินงบประมาณสาธารณะทั่วไประดับชาติอีกกว่า 26.7 ล้านล้านหยวน และออกพันธบัตรวัตถุประสงค์พิเศษสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มเติมจากเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการในพื้นที่ระลอกใหม่ นั่นหมายความว่า เราจะเห็นบทบาทการลงทุนของรัฐบาลเป็น “เครื่องยนต์หลัก” ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีนในปีนี้ 

หลังจากนั้นไม่นาน คณะรัฐมนตรีจีนก็ “เด้งรับลูก” ในทันที โดยอนุมัติวงเงินและแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในหลากหลายด้าน เห็นข่าวทีแรก ผมก็อดตื่นเต้นไปกับการตอบสนองที่รวดเร็วของรัฐบาลจีนไม่ได้ แต่พอยิ่งเจาะลึกในรายละเอียด ผมก็เริ่มสงสัยว่า จีนจะไม่ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านไหนอีกบ้าง

เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ระบุว่า จีนจะจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและบริการสนับสนุนด้านการขนส่งในพื้นที่วงกว้าง และเป็นประโยชน์แก่คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และธุรกิจหลัก โดยจะพัฒนาในทุกรูปแบบการขนส่ง ทั้งโครงข่ายหลักและรอง ศูนย์กลางขนส่ง และระบบการรวมและกระจายตัวให้มีความทันสมัย เกิดประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


จีนออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


จีนยังจะกระตุ้นให้ด่านเก็บเงินและพื้นที่บริการสำหรับโครงข่ายถนนเปิดให้บริการอย่างเต็มที่ และใช้ประโยชน์จากท่าเรือและสนามบินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม รวมทั้งเพิ่มความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือกิจการขนส่ง เพื่อให้มั่นใจว่าการขนส่งวัสดุและสินค้าเกษตรจะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในยามฉุกเฉิน

เราจะเห็นการลงทุนก่อสร้างและพัฒนาสนามบินภูมิภาค (Regional Airports) ทั้งสนามบินทั่วไป และสนามบินขนส่งสินค้า นั่นหมายความว่า เมื่อเราเดินทางไปเยือนจีนในครั้งหน้าอาจได้มีโอกาสใช้บริการสนามบินใหม่เหล่านี้ก็เป็นได้

ในชุมชนเมือง จีนจะต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมไปอีกระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายการคมนาคม สื่อสาร และพื้นที่การใช้ชีวิตที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขนส่งระหว่างเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางราง และถนน เพื่อให้การอยู่อาศัยของคนเมืองมีความสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขณะที่ในพื้นที่ชนบท จีนมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพถนน บนสุภาษิตจีนที่ว่า “ถนนถึงไหน ความเจริญถึงที่นั่น” รัฐบาลจีนจะสานต่อการดำเนินโครงการ “ถนนชนบท 4 ดี” (Four Good Rural Roads) ซึ่งหมายถึงถนนที่ก่อสร้างดี จัดการดี บำรุงรักษาดี และใช้งานได้ดี เพื่อเป็นพื้นฐานของการบรรลุเป้าหมาย “ความเจริญรุ่งเรืองถ้วนหน้า” (Common Prosperity) ที่เป็นจุดขายสำคัญของสี จิ้นผิง ในการต่อเทอม 3 

คราวหน้าผมจะพาไปเจาะลึกโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมและทรัพยากรหลัก และมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอื่นกันครับ






ภาพจาก รอยเตอร์



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง