TNN online ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

มีคำถามจากท่านผู้อ่านมาว่า “เวลา SMEs ไทยไปลุยจีน ส่วนใหญ่มักพังพาบกลับมา แต่สงสัยว่าทำไม SMEs และสตาร์ตอัพของจีนจึงยังคงอยู่รอด ผุดขึ้นใหม่ และเติบโตได้” วันนี้ผมเลยจะชวนทุกท่านไปถอดรหัสประเด็นนี้กัน 

มีเหตุผลหลายประการที่ช่วยอธิบายข้อสงสัยดังกล่าว และเพื่อให้บทความมีความกระชับ ผมขอใช้คำว่า SMEs ที่ครอบคลุมถึงกิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดจิ๋ว รวมทั้งสตาร์ตอัพนะครับ ... 

ประการแรก การมีตลาดขนาดใหญ่รออยู่ ตลาดภายในประเทศมีความสำคัญต่อการอยู่รอดและการเติบใหญ่ของ SMEs  เศรษฐกิจจีนในยุคหลังเติบใหญ่และเปี่ยมด้วยพลังซื้อ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ แม้กระทั่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในดุลยภาพใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังคงขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และมากกว่าของประเทศใดๆ ในยุคหลังโควิด-19 

เศรษฐกิจจีนในปี 2021 ขยายตัวถึง 8.1% เมื่อเทียบกับของปีก่อน ทำให้จีดีพีโดยรวมมีมูลค่าราว 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของ 27 ประเทศในสหภาพยุโรปรวมกันที่ราว 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

เศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีมีมูลค่าคิดเป็นราว 2 เท่าของจีดีพีของไทยในปัจจุบัน สถานการณ์วิกฤติโควิดที่ผ่านมาแทนที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนย่ำแย่ลง แต่กลายเป็นว่า วิกฤติโควิดกลับทำให้เศรษฐกิจจีนขยับเข้าใกล้ของสหรัฐฯ มากขึ้นทุกขณะ และคาดว่าจะก้าวขึ้นทาบสหรัฐฯ เร็วขึ้นกว่าที่หลายสำนักประเมินไว้ก่อนหน้านี้เสียอีก

ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษหลัง ไม่เพียงแต่คนจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่ตลาดจีนก็ยิ่งขยายตัวในเชิงคุณภาพมากขึ้นในระยะหลัง ส่งผลให้จีนมีจำนวนคนชั้นกลางขยับเพิ่มขึ้นไปใกล้แตะ 500 ล้านคน บวกคนที่มีรายได้สูงอีกราว 100 ล้านคน

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ผู้บริโภคจีนยัง “กล้าลอง” สินค้าและบริการใหม่ที่ช่วยตอบโจทย์ของตน ทำให้เป็นกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรมและเป็นโอกาสของธุรกิจสำหรับ SMEs จีน รายได้จากการขายและผลกำไรจากตลาดภายในประเทศทำให้ SMEs จีนมีพลังแฝงที่จะนำไปทุ่มสำหรับการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการเวอร์ชั่นใหม่ในระดับความเสี่ยงที่ต่ำ

นอกจากนี้ โดยที่จีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ในเชิงภูมิศาสตร์ ตลาดภายในประเทศจึงแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตลาดระดับท้องถิ่นหลายพื้นที่อาจมีขนาดเล็กจนกิจการขนาดใหญ่มองข้าม หรือในทางกลับกัน แบรนด์ท้องถิ่นอาจมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยอัตลักษณ์เฉพาะและระดับของ “ท้องถิ่นนิยม” อาทิ รสชาติ ความเก่าแก่ของแบรนด์ และการสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน นี่เป็นจุดที่สินค้าและบริการของ SMEs มีความได้เปรียบเหนือสินค้านำเข้าที่ต้องส่งข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาจีน ต้องแบกภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านอากรนำเข้า การขนส่ง และค่าการตลาดผ่านตัวแทนจัดจำหน่าย รวมทั้งความวุ่นวายในการบริหารจัดการทางไกลอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านภาคการบริโภคภายในประเทศในระดับที่สูงขึ้นในทุกครั้งที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแรง เปราะบางและผันผวนและส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจภายในของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ปีหลังที่ต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 วิกฤติพลังงาน และวิกฤติอาหารหมุนวนทับซ้อนเข้ามาอีก

ประการที่ 2 มาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ รัฐบาลจีนตระหนักดีว่า SMEs มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมของจีน ปัจจุบัน จีนมีกิจการรวมราว 134 ล้านราย ในจำนวนนี้ เป็นกิจการขนาดเล็ก 30 ล้านราย และอีก 90 ล้านกิจการขนาดจิ๋ว โดยเสียภาษีให้แก่รัฐมากกว่า 50% ของภาษีโดยรวม มีสัดส่วนถึง 60% ของจีดีพีของจีน 70% ของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี 

SMEs ยังเป็นเสมือน “กระดูกสันหลัง” ของภาคเอกชนจีน เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 80% ของการจ้างแรงงานในเมือง และ 90% ของตำแหน่งงานใหม่และการเกิดธุรกิจใหม่

อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้ว SMEs มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่จำกัด และเปราะบางต่อสภาพปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ผันผวนอย่างมาก เมื่อเทียบกับกิจการขนาดใหญ่ ด้วยอำนาจการต่อรองที่จำกัดทำให้ SMEs ต้องจัดซื้อวัตถุดิบในราคาที่แพง และแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ต่อหน่วยที่สูง และอาจมีคุณภาพต่ำ

ทำไม SMEs จีนจึงอยู่รอดและเติบโตเร็ว (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็มององค์ประกอบทางเศรษฐกิจว่าเป็นเสมือน “เค้กก้อนเดียวกัน” การไม่ช่วยเหลือ SMEs มากและรวดเร็วพอ จนปล่อยให้ SMEs บาดเจ็บล้มตาย ก็จะกระทบต่อหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างแรงงาน ความกระชุ่มกระชวยของตลาด ระดับการแข่งขัน หรือแม้กระทั่งรายได้ของรัฐจากการเรียกเก็บภาษี

ในด้านหนึ่ง จำนวน SMEs ที่มากมายแต่อ่อนแรงดังกล่าวอาจเป็น “ภาระ” ทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาลจีน แต่ในทางกลับกัน หากสามารถพัฒนาให้ SMEs จีนมีความแข็งแกร่งและคล่องตัว ก็จะกลายเป็น “พลัง” ทางเศรษฐกิจของจีนได้

จีนมีระบบ “การเมือง” นำ “เศรษฐกิจ” ยิ่งรัฐบาลจีนในปัจจุบันก็นับว่าทรงพลังมาก ทั้งในด้านความเข้มแข็งและความต่อเนื่องของระบอบการเมืองการปกครอง และความพร้อมด้านเศรษฐกิจ ทำให้จีนสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนา SMEs ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จในการดำเนินนโยบายที่ใหญ่และท้าทาย

ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ministry of Industry and Information Technology) ของจีนกำหนดแผนการสร้างความแข็งแกร่งของ SMEs ระหว่างปี 2021-2025 ผ่านการปรับปรุงสภาพตลาด ความพร้อมทางการเงิน ความสามารถด้านนวัตกรรม และความเป็นมืออาชีพ 

โดยตั้งเป้าจะบ่มเพาะและสร้างนวัตกรรม SMEs จำนวน 1 ล้านราย และ SMEs ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ มีลักษณะเฉพาะ คุณภาพดี และมีนวัตกรรมอีกจำนวน 100,000 ราย รวมทั้งการบ่มเพาะ “ยักษ์เล็ก” ยุคใหม่อีก 10,000 รายในด้านระบบไอที การผลิตอุปกรณ์คุณภาพสูง พลังงานใหม่ วัสดุใหม่ ยาชีวภาพ และอื่นๆ ที่เป็นตลาดบน 

การดำเนินการตามแผนระยะยาวดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจะเกิดขึ้นยากมากในกรณีของไทย รัฐบาลไทยมีความสามารถในการจัดทำ “แผน” แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลหรือปรับคณะรัฐมนตรี หลายสิ่งที่กำหนดไว้อาจจะ “นิ่ง” หรือถูก “ปรับเปลี่ยน” จนไม่เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ!

ตอนหน้าเราไปคุยกันต่อถึงตัวอย่างการดำเนินกิจกรรมโครงการในช่วงหลัง และปัจจัยอื่นที่ช่วยให้ SMEs จีนอยู่รอดและเติบโตเร็วกันครับ ...

ข่าวแนะนำ